ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนพฤษภาคม 2564

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 25, 2021 11:42 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาส่งออก เดือนพฤษภาคม 2564 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน อยู่ที่ร้อยละ 4.3 (YoY) และสูงสุดในรอบ 35 เดือน สาเหตุหลักเป็นผลจากการปรับตัวสูงขึ้นของทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ร้อยละ 68.0 ซึ่งเป็นผลจากฐานของราคาน้ำมันในปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำค่อนข้างมาก ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกขยายตัว เนื่องจากเศรษฐกิจโลกโดยรวมเริ่มฟื้นตัวได้ดี รองลงมาคือ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.2 โดยเฉพาะกับสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เช่น เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ รวมทั้งเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตามราคาเหล็กในตลาดโลก นอกจากนี้ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบซึ่งเป็นสินค้าคงทนที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลักที่สำคัญ หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 8.7 จากราคายางพาราเป็นสำคัญ เนื่องจากยังมีความต้องการใช้ยางพาราเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิต

ถุงมือยางและยางล้อ ส่งผลให้มีการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 4.8 จากราคาน้ำตาลทรายที่สูงขึ้น ตามปริมาณผลผลิตที่ลดลงในตลาดโลก

ดัชนีราคานำเข้า เดือนพฤษภาคม 2564 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 12.3 (YoY) และสูงสุดในรอบ 29 เดือน โดยปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 78.4 ได้แก่ น้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป ตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 6.3 ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ผลจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ส่วนเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์เนื่องจากราคาตลาดโลกสูงตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ3.4 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด และนม

และผลิตภัณฑ์นม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 1.9 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์ และรถจักรยาน ปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.7 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ จากต้นทุนเทคโนโลยีสมัยใหม่และการขาดแคลนวัตถุดิบบางชนิด นอกจากนี้ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ เนื่องจากความต้องการใช้สูงขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

ดัชนีราคาส่งออก ปี 2564 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1) การทยอยฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก จากการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้ดี 2) ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มสูงขึ้นตามอุปสงค์โลกที่ขยายตัว เมื่อรวมกับฐานราคาน้ำมันในปี 2563 ที่อยู่ในระดับต่ำ เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ดัชนีราคาส่งออกมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างสูง 3) ต้นทุนผู้ประกอบการด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย (จากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และการปรับขึ้นค่าระวางเรือ) 4) ความต้องการสินค้ากลุ่มอาหารและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง และ 5) สินค้าเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และการสื่อสาร ยังอยู่ในกระแสความต้องการของตลาด

ดัชนีราคานำเข้า ปี 2564 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1) เศรษฐกิจประเทศสำคัญกลับมาฟื้นตัว ส่งผลให้ความต้องการสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง 2) ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นกว่าปี 2563 3) ราคาวัตถุดิบที่สำคัญในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เช่น เหล็ก ทองแดง และอลูมิเนียม เป็นต้น 4) ราคาสินค้าคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวสูงขึ้น และ 5) ต้นทุนการขนส่งปรับตัวสูงขึ้น

1. ดัชนีราคาส่งออก

1.1 ดัชนีราคาส่งออกเดือนพฤษภาคม 2564 เท่ากับ 103.2 เทียบกับเดือนเมษายน 2564 สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (MoM) ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น นอกจากนี้ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องปรับอากาศ และรถยนต์ ราคาสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัว สำหรับเหล็ก ราคาสูงขึ้นตามราคาเหล็กตลาดโลก และทองคำ จากการกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ทองคำเพิ่มขึ้น รวมกับเงินเหรียญสหรัฐฯ ที่ยังคงอ่อนค่า หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 2.6 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ โดยกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งหลังจากลดลง

ในเดือนก่อนหน้า สาเหตุหลักเป็นผลจากความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกขยายตัว จากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.4 โดยเฉพาะยางพารา เนื่องจากยางอยู่ในช่วงปิดกรีดยาง ทำให้ปริมาณยางออกสู่ตลาดน้อยลง ประกอบกับความต้องการจากตลาดต่างประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สินค้าข้าว ราคาลดลงเนื่องจากตลาดข้าวโลกยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับประเทศผู้นำเข้ายังมีสต๊อกข้าวเก่าที่เคยสั่งซื้อเหลืออยู่ จึงทำให้ความต้องการสั่งซื้อในช่วงนี้ลดลง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 0.2 จากราคาน้ำตาลทราย เนื่องจากความกังวลต่อปริมาณผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกที่คาดว่าจะลดลงจากปัญหาสภาพอากาศ และมีความต้องการใช้น้ำตาลเพื่อนำไปผลิตเป็นเอทานอลเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ และอาหารสัตว์เลี้ยง ราคาสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง

1.2 ดัชนีราคาส่งออกเดือนพฤษภาคม 2564 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 4.3 (YoY) ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 68.0 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ จากฐานของปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำค่อนข้างมาก รวมถึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทยอยปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.2 ได้แก่ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ราคาสูงขึ้นตามความต้องการใช้และเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น นอกจากนี้ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตามความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ต้องการสินค้าเทคโนโลยีรุ่นใหม่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 8.7 โดยเฉพาะยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้ผลิตถุงมือยางเพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และผลิตภัณฑ์ยางล้อในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เริ่มฟื้นตัว นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป สูงขึ้นเนื่องจากประเทศคู่ค้ามีความต้องการใช้เป็นวัตถุดิบและบริโภคอย่างต่อเนื่อง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 4.8 จากราคาน้ำตาลทราย ตามปริมาณผลผลิตที่ลดลงในช่วงก่อนหน้า

1.3 ดัชนีราคาส่งออกเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 สูงขึ้นร้อยละ 2.9 (AoA) ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.5 ได้แก่ เม็ดพลาสติก คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ทองคำ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เครื่องปรับอากาศ และผลิตภัณฑ์ยาง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากผลของความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสินค้ามีแนวโน้มขยายตัว หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงสูงขึ้นร้อยละ 23.2 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ จากฐานราคาน้ำมันเฉลี่ยที่ต่ำกว่าในช่วงก่อนหน้า หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 7.8 ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ตามความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 4.2 ได้แก่ น้ำตาลทราย จากฐานราคาที่ลดลงในช่วงก่อนหน้า และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากค่าระวางเรือที่สูงขึ้น

2. ดัชนีราคานำเข้า

2.1 ดัชนีราคานำเข้าเดือนพฤษภาคม 2564 เท่ากับ 99.6 เทียบกับเดือนเมษายน 2564 สูงขึ้นร้อยละ 1.3 (MoM) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 4.2 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม จากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.1 ได้แก่ ทองคำ จากการกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ทองคำมากขึ้น หลังจากเงินเหรียญดิจิทัล (Cryptocurrency) ราคาลดลงค่อนข้างมาก ส่วนเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ จากความต้องการใช้เหล็กของโลกยังปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ เคมีภัณฑ์ ราคาสูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวระดับสูง หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 0.6 โดยเฉพาะส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และรถยนต์นั่ง เนื่องจากมียอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ จากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผลิตภัณฑ์โลหะปรับตัวสูงขึ้นจากต้นทุนเหล็กในตลาดโลกที่สูงขึ้น ขณะที่หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ลดลงร้อยละ 0.1 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ และสบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง สะท้อนถึงอุปสงค์ในประเทศยังคงอ่อนแอ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่

2.2 ดัชนีราคานำเข้าเดือนพฤษภาคม 2564 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 12.3 (YoY) ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 78.4 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 6.3 ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ตามต้นทุนในตลาดโลก ขณะที่ทองคำราคาสูงขึ้นจากการกลับเข้ามาลงทุน หลังจากราคาสินทรัพย์อื่นๆ ปรับลดลง หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 3.4 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด และนมและผลิตภัณฑ์นม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้นด้วย หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 1.9 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์ และรถจักรยาน ปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.7 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะจากต้นทุนเหล็กที่เพิ่มขึ้น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ จากต้นทุนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และการขาดแคลนวัตถุดิบบางชนิด นอกจากนี้ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

2.3 ดัชนีราคานำเข้าเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ปี 2564 เทียบกับปี 2563 สูงขึ้นร้อยละ 8.8 (AoA) ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 45.1 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม จากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 5.2 ได้แก่ เคมีภัณฑ์ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาต้นทุนที่ใช้ในการผลิตสูงขึ้น หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 3.1 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนค่าขนส่งที่ปรับเพิ่ม แม้ว่าอุปสงค์ภายในประเทศยังคงไม่ฟื้นเต็มที่ หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.7 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์การทดสอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เนื่องจากความต้องการขยายตัวเพิ่มขึ้น และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 1.3 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์ และรถจักรยาน และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก

3. อัตราการค้า (Term of Trade) เดือนพฤษภาคม 2564
อัตราการค้าของไทย ในเดือนพฤษภาคม 2564 เท่ากับ 103.6 (เดือนเมษายน 2564 เท่ากับ 104.6) ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยกลุ่มสินค้าที่ราคาส่งออกสูงกว่าราคานำเข้า (ได้เปรียบในอัตราการค้า) ได้แก่ กลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบขั้นกลางจากต่างประเทศในการผลิต เช่น เคมีภัณฑ์ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์พลาสติก และกลุ่มสินค้าขั้นกลางที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศในการผลิต เช่น ผักและผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก (เสียเปรียบในอัตราการค้า) ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ทองคำ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ทองแดงและผลิตภัณฑ์ นมและผลิตภัณฑ์นม กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ สิ่งทอและเสื้อผ้า และเม็ดพลาสติก

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


แท็ก ดัชนีราคา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ