ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายน 2564

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 9, 2021 11:47 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมิถุนายน 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 42.7 เทียบกับระดับ 41.6 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 34.3 มาอยู่ที่ระดับ 34.4 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต พบว่า ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 46.5 มาอยู่ที่ระดับ 48.1 ทั้งนี้เป็นผลจากการที่ภาครัฐได้เร่งฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส Covid-19ได้เพิ่มมากขึ้นในเดือนมิถุนายน 64 สถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว การส่งออกของไทยขยายตัวสูงขึ้น รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการช่วยลดค่าครองชีพ "ลดราคาช่วยประชาชน" และจับคู่กู้เงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในช่วงวิกฤติ Covid-19รวมทั้ง โครงการคนละครึ่ง โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มผู้ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ที่จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียน และจะเริ่มใช้ได้ในเดือนกรกฎาคมนี้ แต่อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19ที่ยังมีความรุนแรง ประกอบกับธุรกิจหลายประเภทที่ไม่สามารถดำเนินการได้ ยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ (อยู่ในช่วงไม่เชื่อมั่น)

เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นมากที่สุด จากระดับ 38.5 มาอยู่ที่ระดับ 41.6 เป็นผลจากการที่ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส Covid-19ได้เพิ่มมากขึ้น รองลงมาคือ ภาคกลาง ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 39.7 มาอยู่ที่ระดับ 41.3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากระดับ 43.5 มาอยู่ที่ระดับ 44.2 ภาคเหนือ จากระดับ 40.5 มาอยู่ที่ระดับ 41.1 และภาคใต้ จากระดับ 42.7 มาอยู่ที่ระดับ 44.7 เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ครอบคลุมจำนวนประชาชนเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

เมื่อพิจารณาจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเกือบทุกกลุ่มอาชีพ ยกเว้นกลุ่มไม่ได้ทำงานที่ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อมั่นต่ำที่สุด โดยปรับลดลงจากระดับ 36.9 มาอยู่ที่ระดับ 36.6 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19มากที่สุด และมีความไม่มั่นคงในการดำรงชีพในขณะที่กลุ่มนักศึกษาปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 37.1 มาอยู่ที่ระดับ 43.0 ซึ่งมีสัดส่วนการปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด กลุ่มพนักงานเอกชน จากระดับ 40.6 มาอยู่ที่ระดับ 41.9 กลุ่มพนักงานของรัฐ จากระดับ 47.4 มาอยู่ที่ระดับ 48.6 กลุ่มเกษตรกร จากระดับ 42.6 มาอยู่ที่ระดับ 43.7 กลุ่มผู้ประกอบการ จากระดับ 41.2 มาอยู่ที่ระดับ 41.9 และกลุ่มรับจ้างอิสระ จากระดับ 39.3 มาอยู่ที่ระดับ 39.7

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ