ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนมิถุนายน 2564 และระยะ 6 เดือนแรกของปี 2564

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 27, 2021 09:38 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาส่งออก เดือนมิถุนายน 2564 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน และสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า อยู่ที่ร้อยละ 3.8 (YoY) สาเหตุหลักเป็นผลจากความต้องการของตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 47.6 จากราคาสินค้าเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากฐานของราคาน้ำมันในปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกโดยรวมฟื้นตัวดีขึ้น นอกจากนี้ หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 5.4 จากราคายางพาราเป็นสำคัญ ตามความต้องการใช้ยางพาราที่มีอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตถุงมือยางและผลิตยางล้อรถยนต์ หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 5.0 จากราคาน้ำตาลทรายที่สูงขึ้น ตามปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลงในช่วงก่อนหน้า และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.3 โดยเฉพาะกับสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เช่น เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ รวมทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลักทำให้ความต้องการสินค้าขยายตัว รวมถึงเหล็ก ที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นตามราคาเหล็กในตลาดโลก

ดัชนีราคานำเข้า เดือนมิถุนายน 2564 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 11.6 (YoY) สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน โดยปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 63.8 ได้แก่ น้ำมันดิบ และ

น้ำมันสำเร็จรูป ตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 6.7 ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ตามต้นทุนในตลาดโลก และปุ๋ย จากต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 3.3 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้นด้วย หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.9 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะ จากต้นทุนเหล็กที่เพิ่มขึ้น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ จากต้นทุนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และการขาดแคลนวัตถุดิบบางชนิด นอกจากนี้ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 0.6 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง ปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ดัชนีราคาส่งออก ปี 2564 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1) การทยอยฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก จากการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้ดี 2) ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มสูงขึ้นตามอุปสงค์โลกที่ขยายตัว เมื่อรวมกับฐานราคาน้ำมันในปี 2563 ที่อยู่ในระดับต่ำ เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ดัชนีราคาส่งออกมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างสูง 3) ต้นทุนผู้ประกอบการด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย (จากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และการปรับขึ้นค่าระวางเรือ) 4) ความต้องการสินค้ากลุ่มอาหาร และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง และ 5) สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และการสื่อสาร ยังอยู่ในกระแสความต้องการของตลาด

ดัชนีราคานำเข้า ปี 2564 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1) เศรษฐกิจประเทศสำคัญกลับมาฟื้นตัว ส่งผลให้ความต้องการสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง 2) ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าปี 2563 3) ราคาวัตถุดิบที่สำคัญในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เช่น เหล็ก ทองแดง และอะลูมิเนียม เป็นต้น 4) ราคาสินค้าคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวสูงขึ้น และ 5) ต้นทุนการขนส่งปรับตัวสูงขึ้น

1. ดัชนีราคาส่งออก

1.1 ดัชนีราคาส่งออกเดือนมิถุนายน 2564 เท่ากับ 103.4 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2564 สูงขึ้นร้อยละ 0.2 (MoM) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 3.7 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ตามความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากหลายประเทศมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมหลังจากที่มีการกระจายฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากราคาน้ำตาลทราย ตามความต้องการของโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณผลผลิตลดลงจากสภาพอากาศ ประกอบกับโรงงานน้ำตาลในบราซิลมีการปรับเพิ่มสัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง ราคาสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่องเช่นกัน หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.3 โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตามความต้องการของตลาดที่ฟื้นตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ สูงขึ้นตามความต้องการและเป็นสินค้าที่มีความเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น สำหรับเหล็ก ราคาสูงขึ้น ตามทิศทางราคาเหล็กตลาดโลก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ความต้องการเหล็กปรับเพิ่มขึ้นตาม ประกอบกับประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลก มีนโยบายควบคุมโรงงานเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานในการปล่อยมลพิษ จึงทำให้ปริมาณผลผลิตเหล็กของโลกลดลง ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 1.3 โดยเฉพาะยางพารา คาดว่าราคาจะลดลงชั่วคราว จากการประกาศล็อกดาวน์ของประเทศมาเลเซีย เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้น้ำยางข้นมีปัญหาด้านการส่งมอบ โดยลูกค้าหลายรายขอเลื่อนระยะเวลาส่งมอบ รวมถึงยกเลิกคำสั่งซื้อ และสินค้าข้าว ราคายังคงลดลง เนื่องจากการส่งออกไทยที่ลดลงต่อเนื่อง ทั้งผลกระทบจากตลาดข้าวโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหาด้านการส่งมอบทั้งการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น

1.2 ดัชนีราคาส่งออกเดือนมิถุนายน 2564 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2563 สูงขึ้นร้อยละ 3.8 (YoY) ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 47.6 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ จากฐานของปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทยอยปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 5.4 โดยเฉพาะยางพารา เนื่องจากมีความต้องการใช้ผลิตถุงมือยางเพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และผลิตภัณฑ์ยางล้อในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เริ่มฟื้นตัว นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และไก่สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป สูงขึ้นเนื่องจากประเทศคู่ค้ามีความต้องการใช้เป็นวัตถุดิบและบริโภคอย่างต่อเนื่อง หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 5.0 เป็นการขยายตัวได้ดีในหลายกลุ่มสินค้าสำคัญ อาทิเช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง ราคาสูงขึ้นตามความต้องการใช้และเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น นอกจากนี้ เครื่องคอมพิวเตอร์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ต้องการสินค้ารุ่นใหม่และใช้เทคโนโลยีขั้นสูง สำหรับเหล็ก สูงขึ้นตามทิศทางราคาเหล็กตลาดโลก เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 2.3 จากราคาน้ำตาลทราย ตามปริมาณผลผลิตลดลงในช่วงก่อนหน้า อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป จากต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ขณะที่อาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ตลาดยังคงมีความต้องการบริโภคอย่างต่อเนื่อง

1.3 ดัชนีราคาส่งออกเฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 สูงขึ้นร้อยละ 3.1 (AoA) ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 27.1 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ จากฐานราคาน้ำมันเฉลี่ยที่ต่ำกว่าในช่วงก่อนหน้า หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 7.4 ได้แก่ ยางพารา ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และไก่สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ตามความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 4.3 ได้แก่ น้ำตาลทราย จากผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลง นอกจากนี้ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากค่าระวางเรือที่สูงขึ้น ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ และอาหารสัตว์เลี้ยง ตามความต้องการบริโภคที่มีอย่างต่อเนื่อง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม

สูงขึ้นร้อยละ 1.7 ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ซึ่งเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน ส่วนคอมพิวเตอร์ เหล็ก เครื่องปรับอากาศ รถยนต์และอุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากผลของความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสินค้ามีแนวโน้มขยายตัว

1.4 ไตรมาสที่ 2 ปี 2564 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 4.1 ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 60.8 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ จากฐานราคาน้ำมันในช่วงก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับความต้องการบริโภคขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 7.1 ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และไก่สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ตามความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 4.8 ได้แก่ น้ำตาลทราย จากปริมาณผลผลิตที่ลดลงในช่วงก่อนหน้า และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตามความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.1 ได้แก่ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ตามราคาน้ำมัน เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

ตามราคาวัตถุดิบในตลาดโลกสูงขึ้น ด้านเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากผลของความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ปรับตัวดีขึ้นส่งผลให้ความต้องการสินค้ามีแนวโน้มขยายตัว

1.5 ไตรมาสที่ 2 ปี 2564 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) สูงขึ้นร้อยละ 0.7 หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 8.4 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบโลกทยอยปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศสำคัญเริ่มคลี่คลายจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการบริโภคปรับตัวดีขึ้น หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 0.9 โดยเฉพาะน้ำตาลทราย เนื่องจากอ้อยได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่ความต้องการบริโภคยังมีอย่างต่อเนื่อง และสินค้าประเภทอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนการขนส่งระหว่างประเทศสูงขึ้น และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.5 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตามคำสั่งซื้อสินค้าจากตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์แพร่ระบาด และส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น รวมถึงสินค้าบางกลุ่มเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 0.2 โดยเฉพาะสินค้าข้าว และกุ้งสด แช่แย็น แช่แข็งและแปรรูป เนื่องจากตลาดการนำเข้ายังไม่กลับเข้าสู่ระดับปกติจากช่วงก่อนหน้าที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การส่งออกลดลง

2. ดัชนีราคานำเข้า

2.1 ดัชนีราคานำเข้าเดือนมิถุนายน 2564 เท่ากับ 101.0 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2564 สูงขึ้นร้อยละ 1.4 (MoM) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 5.6 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม จากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นหลังได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นในยุโรป และผู้คนเริ่มกลับมาทำกิจกรรมการเดินทางและพักผ่อนอีกครั้ง หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.8 ได้แก่ ปุ๋ย เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ จากความต้องการใช้เหล็กของโลกยังปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ เคมีภัณฑ์ ราคาสูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวระดับสูง หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 0.7 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ตามเทคโนโลยีที่สูงขึ้น นมและผลิตภัณฑ์นม เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ทำจากยาง สอดคล้องกับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น สะท้อนถึงอุปสงค์ในตลาดโลกที่ฟื้นตัวได้ดี ขณะที่หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 0.3 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์และรถจักรยาน และรถจักรยานยนต์ คาดว่าจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว เนื่องจากความต้องการรถยนต์ทั่วโลกยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง จะส่งผลให้ราคาโดยรวมปรับตัวสูงขึ้นด้วย

2.2 ดัชนีราคานำเข้าเดือนมิถุนายน 2564 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2563 สูงขึ้นร้อยละ 11.6 (YoY) ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 63.8 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 6.7 ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ตามต้นทุนในตลาดโลก และปุ๋ย จากต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 3.3 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด และนมและผลิตภัณฑ์นม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้นด้วย หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.9 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะ จากต้นทุนเหล็กที่เพิ่มขึ้น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ จากต้นทุนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และการขาดแคลนวัตถุดิบบางชนิด นอกจากนี้ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 0.6 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์ และรถจักรยาน ปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

2.3 ดัชนีราคานำเข้าเฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 2564 เทียบกับปี 2563 สูงขึ้นร้อยละ 9.2 (AoA) ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 48.4 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม จากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 5.5 ได้แก่ เคมีภัณฑ์ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาต้นทุนที่ใช้ในการผลิต หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 3.1 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนค่าขนส่งที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าอุปสงค์ภายในประเทศยังคงไม่ฟื้นเต็มที่ หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.8 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์การทดสอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เนื่องจากความต้องการสินค้าส่งออกขยายตัวได้ดี และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 1.2 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์ และรถจักรยาน และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก

2.4 ดัชนีราคานำเข้าไตรมาสที่ 2 ปี 2564 เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 12.3 (YoY) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 79.9 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 6.1 ได้แก่ ปุ๋ย จากต้นทุนและค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 3.6 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.8 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ฯ

เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 1.5 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก และรถยนต์นั่ง เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ทำให้ความต้องการสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

2.5 ดัชนีราคานำเข้าไตรมาสที่ 2 ปี 2564 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 2.4 (QoQ) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 10.5 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.8 ได้แก่ ปุ๋ย สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 0.6 ได้แก่ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ ขณะที่หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 1.0 โดยเฉพาะส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก คาดว่าเป็นปัจจัยชั่วคราว เนื่องจากภาพรวมตลาดรถยนต์ฟื้นตัวได้ดี และสำหรับหมวดสินค้าทุน ลดลงร้อยละ 0.1 เป็นผลมาจากเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เนื่องจากราคาที่เร่งขึ้นมากกว่าก่อนหน้านี้ ขณะที่เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ฯ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ราคายังคงสูงขึ้น ตามความต้องการยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

3. อัตราการค้า (Term of Trade) เดือนมิถุนายน 2564

อัตราการค้าของไทย ในเดือนมิถุนายน 2564 เท่ากับ 102.4 (เดือนพฤษภาคม 2564 เท่ากับ 104.6) ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยกลุ่มสินค้าที่ราคาส่งออกสูงกว่าราคานำเข้า (ได้เปรียบในอัตราการค้า) ได้แก่ กลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบขั้นกลางจากต่างประเทศในการผลิต เช่น เคมีภัณฑ์ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และกลุ่มสินค้าขั้นกลางที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศในการผลิต เช่น ผักและผลไม้กระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าวและแป้ง ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก (เสียเปรียบในอัตราการค้า) ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ทองคำ นมและผลิตภัณฑ์นม อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ทองแดง

และผลิตภัณฑ์ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ สิ่งทอและเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์พลาสติก

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


แท็ก ดัชนีราคา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ