ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกันยายน 2564 และไตรมาสที่ 3 ของปี 2564

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 6, 2021 10:54 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกันยายน 2564

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกันยายน 2564 เท่ากับ 113.6 เทียบกับเดือนกันยายน 2563 สูงขึ้นร้อยละ 8.6 (YoY) ซึ่งสูงขึ้นจากสินค้าในกลุ่มโลหะ เป็นสำคัญ ได้แก่ เหล็ก อลูมิเนียมและทองแดง ซึ่งราคายังคงสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ปัญหาจากฤดูกาล ฝนตก และน้ำท่วม ในหลายพื้นที่เป็นอุปสรรคทำให้ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ อีกทั้งปัญหาการขนส่งสินค้าวัตถุดิบ ก็เป็นอีกปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อภาคการก่อสร้าง ถึงแม้จะมีการยกเลิกมาตรการสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างแล้วก็ตาม คาดว่าเมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 4 การก่อสร้างจะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ประกอบกับการเริ่มต้นปีงบประมาณ 2565 ส่งผลให้แนวโน้มอุตสาหกรรมการก่อสร้างเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงปลายปีถึงต้นปีหน้า

การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง

1. เทียบกับเดือนกันยายน 2563 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 8.6 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 2.0 จากการสูงขึ้นของไม้แบบ ไม้โครงคร่าว บานประตู-หน้าต่าง วงกบประตู-หน้าต่าง ไม้คาน ไม้พื้น เนื่องจากราคาต้นทุนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 4.2 ซึ่งยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ชีทไพล์คอนกรีต ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป และเสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก เนื่องจากราคาต้นทุนสูงขึ้นจากวัตถุดิบ คือ เหล็ก เป็นสำคัญ ประกอบกับฐานต่ำในปีที่ผ่านมา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 37.0 ซึ่งยังคงสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ถึงแม้สถานการณ์ราคาเหล็กเริ่มมีแนวโน้มลดลง แต่เนื่องจากราคาเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้นมากตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาเหล็กในประเทศยังคงสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสินค้าสำคัญที่สูงขึ้น ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดเหล็กเสริมคอนกรีตอัดแรง เป็นต้น หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.2 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องยาง PVC ปูพื้น ซึ่งปรับราคาตามต้นทุนที่สูงขึ้น หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.2 สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการสูงขึ้นของ ราวแขวนผ้าติดผนัง สายน้ำดี ฝักบัวอาบน้ำ และกระจกเงา หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 4.1 ซึ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสินค้าสำคัญที่สูงขึ้น ได้แก่ สายไฟฟ้า VCT ประตูน้ำ สายเคเบิล THW ก๊อกน้ำ ข้องอ-ข้อต่อท่อประปา ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC และท่อ PVC เป็นต้น เนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น จากการปรับราคาสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มโลหะ ได้แก่ เหล็ก ทองแดง และอลูมิเนียม และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.6 จากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่ม อิฐ หิน ดิน ทราย และอลูมิเนียม เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 1.7 จากการลดลงของปูนซีเมนต์ผสม และปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เนื่องจากมีการแข่งขันสูงจากโครงการก่อสร้างภาครัฐ ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนยังคงซบเซาจากผลกระทบการระบาดของโควิด-19 และหมวดวัสดุฉาบผิว ลดลงร้อยละ 0.1 ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการลดลงของซิลิโคน

2. เทียบกับเดือนสิงหาคม 2564 (MoM) ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต เนื่องจากการสูงขึ้นของราคาต้นทุนวัตถุดิบ คือ เหล็ก เป็นสำคัญ และหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 0.1 สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จากการสูงขึ้นของเหล็กตัวซี ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ลวดผูกเหล็ก ชีทไพล์เหล็ก เหล็กฉาก แผ่นสแตนเลส และเหล็กรางน้ำ เนื่องจากราคาเหล็กในประเทศซึ่งยังคงสูงอยู่ ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ได้แก่ หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 0.3 จากการลดลงของยางมะตอย เนื่องจากราคาต้นทุนลดลง ประกอบกับอุปสงค์ลดลง เนื่องจากอยู่ระหว่างรอเริ่มต้นปีงบประมาณรอบใหม่ ส่วนสินค้าที่ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หมวดซีเมนต์ หมวดกระเบื้อง หมวดวัสดุฉาบผิว หมวดสุขภัณฑ์ และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา

3. เฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 7.5 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 1.8 จากการสูงขึ้นของบานประตู-หน้าต่าง วงกบประตู-หน้าต่าง ไม้คาน ไม้โครงคร่าว และไม้แบบ เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 1.7 จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังคอนกรีตสำเร็จเร็จรูป เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง คอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตหยาบ ถังซีเมนต์สำเร็จรูป และท่อระบายน้ำคอนกรีต เนื่องจากราคาต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 33.3 จากการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในเกือบทุกรายการสินค้า ผลต่อเนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรงตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.5 จากการสูงขึ้นของ กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น กระเบื้องแกรนิต และกระเบื้องลอนคู่ จากราคาต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 3.2 จากการสูงขึ้นของสินค้าที่สำคัญได้แก่ สายเคเบิล THW สายไฟ VCT ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC ท่อ PVC ข้องอ-ข้อต่อท่อประปา ก๊อกน้ำ ประตูน้ำ เป็นต้น โดยยังเป็นผลต่อเนื่องจากราคาวัตถุดิบเป็นสำคัญ ได้แก่ เหล็ก ทองแดง และอลูมิเนียมที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 1.5 จากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่ม หิน ดิน ทราย อลูมิเนียมแผ่นเรียบ วงกบอลูมิเนียม และยางมะตอย เนื่องจากราคาต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 1.9 จากการลดลงของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากการก่อสร้างที่ยังคงซบเซาต่อเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ราคาเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดวัสดุฉาบผิว ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของสีทาถนน ชนิดสะท้อนแสง และซิลิโคน และหมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูป กระจกเงา ฝักบัวอาบน้ำ และสายฉีดชำระ

4. ไตรมาสที่ 3 ปี 2564 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 8.4 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 2.0 จากการสูงขึ้นของบานประตู-หน้าต่าง วงกบประตู-หน้าต่าง ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้แบบ และไม้พื้น เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 3.4 จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังคอนกรีตสำเร็จเร็จรูป เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง ถังซีเมนต์สำเร็จรูป พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง และท่อระบายน้ำคอนกรีต เนื่องจากราคาต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 36.9 จากการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในเกือบทุกรายการสินค้า ผลต่อเนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรงตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.2 จากการสูงขึ้นของ กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น และกระเบื้องลอนคู่ จากราคาต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการลดลงของราวแขวนผ้าติดผนัง ฝักบัวอาบน้ำ ที่ใส่สบู่ และกระจกเงา หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 4.1 จากการสูงขึ้นของสินค้าที่สำคัญ ได้แก่ สายเคเบิล THW สายไฟฟ้า VCT ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC ท่อ PVC ข้องอ-ข้อต่อท่อประปา ก๊อกน้ำ ประตูน้ำ เป็นต้น โดยยังเป็นผลต่อเนื่องจากราคาวัตถุดิบที่สำคัญ ได้แก่ เหล็ก ทองแดง และอลูมิเนียมที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.9 จากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่ม หิน ดิน ทราย อลูมิเนียมแผ่นเรียบ วงกบอลูมิเนียม และยางมะตอย เนื่องจากราคาต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 2.1 จากการลดลงของปูนซีเมนต์ผสม และปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เนื่องจากการก่อสร้างที่ยังคงซบเซาต่อเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ราคาเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และหมวดวัสดุฉาบผิว ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของซิลิโคน

5. ไตรมาสที่ 3 ปี 2564 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ลดลงร้อยละ 0.4 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 2.0 จากการลดลงของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย และตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป เนื่องจากราคาเหล็กเริ่มมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา หมวดกระเบื้อง ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของกระเบื้องคอนกรีตมุงหลังคา หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของสินค้าที่สำคัญได้แก่ สายไฟฟ้า VCT ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC ท่อ PVC ข้องอ-ข้อต่อท่อประปา และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของยางมะตอย เนื่องจากราคาต้นทุนลดลง ประกอบกับอุปสงค์ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากอยู่ในช่วงรองบประมาณรอบใหม่ ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น ได้แก่ หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 1.3 จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังคอนกรีตสำเร็จเร็จรูป เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก ถังซีเมนต์สำเร็จรูป พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง และท่อระบายน้ำคอนกรีต เนื่องจากราคาต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา และหมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของราวแขวนผ้าติดผนัง ฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูป กระจกเงา และฝักบัวอาบน้ำ ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ได้แก่ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หมวดวัสดุฉาบผิว

6. แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างไตรมาสที่ 4 ปี 2564

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างไตรมาสที่ 4 ปี 2564 มีแนวโน้มสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว โดยเฉพาะหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ที่ราคาปรับสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก แม้ว่าจะมีทิศทางที่ชะลอตัว แต่ราคายังคงอยู่ระดับสูง เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากความต้องการใช้เหล็กที่เพิ่มขึ้นเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ประกอบกับจีนมีการปรับนโยบายลดการผลิตและส่งออกเหล็ก เพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ในประเทศยังปรับสูงขึ้นตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่า เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล็กของไทยมีการพึ่งพาการนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ความต้องการวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ในการซ่อมแซมบ้านเรือนหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่คลี่คลาย น่าจะส่งผลบวกต่อดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในช่วงต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้โครงการก่อสร้างจะสามารถดำเนินการได้ภายใต้มาตรการควบคุมโรค แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ น่าจะทำให้ภาคการก่อสร้างและธุรกิจที่เกี่ยวข้องยังไม่ฟื้นตัวดีเท่าที่ควร ซึ่งจะเป็นแรงกดดันที่ทำให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ