ดัชนีราคาส่งออก เดือนสิงหาคม 2564 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน ที่ร้อยละ 2.9(YoY)แม้ราคาจะอยู่ในทิศทางชะลอลงเป็นเดือนที่ 3ติดต่อกัน จากผลของฐานสูงของปีก่อนหน้า แต่ภาพรวมดัชนีราคาส่งออกยังคงปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 36.2 ตามความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 3.6 จากราคาน้ำตาลทรายเป็นสำคัญ ตามปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลงจากสภาพอากาศ หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.8 โดยเฉพาะกับสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เช่น เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และเคมีภัณฑ์ นอกจากนี้ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์พลาสติกยังคงได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลักทำให้ความต้องการสินค้าขยายตัว และหมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.5 จากราคายางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ตามความต้องการใช้ที่มีอย่างต่อเนื่อง
ดัชนีราคานำเข้า เดือนสิงหาคม 2564 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกันที่ร้อยละ 9.3 (YoY)แม้ราคาจะอยู่ในทิศทางชะลอลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน โดยหมวดสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วยหมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 50.2 ได้แก่ น้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป ตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 5.4 ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ตามต้นทุนในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น และปุ๋ย จากต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 2.8 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน นมและผลิตภัณฑ์นม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.8 ได้แก่ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบเนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผลิตภัณฑ์โลหะ จากต้นทุนเหล็กที่เพิ่มขึ้น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ จากต้นทุนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และการขาดแคลนวัตถุดิบบางชนิด ขณะที่หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 2.1 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เนื่องจากส่วนประกอบของรถยนต์บางรุ่นราคาลดลง
ดัชนีราคาส่งออก ปี 2564 คาดว่าดัชนีราคาในช่วงที่เหลือจะอยู่ในระดับสูงแต่อาจชะลอลงจากช่วงครึ่งแรกของปีโดยราคาที่สูงขึ้นมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1) การทยอยฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก 2)ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มสูงขึ้นตามอุปสงค์โลกที่ขยายตัว เมื่อรวมกับฐานราคาน้ำมันในปี 2563 ที่อยู่ในระดับต่ำ 3) ต้นทุนผู้ประกอบการด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น 4) ความต้องการสินค้ากลุ่มอาหาร และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง และ 5) สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และการสื่อสาร ยังอยู่ในกระแสความต้องการของตลาด
ดัชนีราคานำเข้า ปี 2564 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นแต่มีอัตราที่ชะลอลงเช่นกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนให้ราคาสูงขึ้นจาก 1) เศรษฐกิจประเทศสำคัญกลับมาฟื้นตัว ส่งผลให้ความต้องการสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง2) ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าปี 2563 3) ราคาวัตถุดิบที่สำคัญในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เช่น เหล็ก ทองแดง และอะลูมิเนียม เป็นต้น 4) ราคาสินค้าคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวสูงขึ้น และ 5) ต้นทุนการขนส่งปรับตัวสูงขึ้น
อัตราการค้า (Term of Trade)เดือนสิงหาคม 2564 อัตราการค้าของไทย ในเดือนสิงหาคม 2564 เท่ากับ 102.6 (เดือนกรกฎาคม 2564เท่ากับ 102.0) ทั้งนี้ อัตราการค้ายังสูงกว่า 100 แสดงถึงความได้เปรียบด้านราคาสินค้าส่งออกของไทยยังดีกว่าราคาสินค้านำเข้าโดยกลุ่มสินค้าที่ราคาส่งออกสูงกว่าราคานำเข้า (ได้เปรียบในอัตราการค้า) ได้แก่ ผัก ผักกระป๋องและแปรรูป เคมีภัณฑ์ ผลไม้ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว คอมพิวเตอร์ฯ เป็นต้น ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก (เสียเปรียบในอัตราการค้า) ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ทองคำ นมและผลิตภัณฑ์นม ทองแดงและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น 1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนสิงหาคม 2564 เท่ากับ 103.4 (ปีฐาน 2555 =100) (เดือนกรกฎาคม 2564 เท่ากับ 103.5) โดยดัชนีราคาส่งออกหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 106.4หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 114.1หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 104.4และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 82.0 2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนสิงหาคม2564 เมื่อเทียบกับ2.1 เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM)ลดลงร้อยละ 0.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง คือ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 3.2 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ตามความต้องการใช้น้ำมันที่ชะลอลง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีอยู่ ทำให้กระทบการฟื้นตัวของอุปสงค์น้ำมันดิบ ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.7 ได้แก่ ยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง จากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง และเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า ทำให้ความต้องการสินค้าเพื่อส่งมอบเพิ่มขึ้น หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 0.1 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง ตามต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้น และความต้องการของตลาดที่มีอย่างต่อเนื่อง สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีกลุ่มสินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และเครื่องจักรและส่วนประกอบ ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่ลดลง อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก นอกจากนี้ ทองคำ ราคาลดลงเนื่องจากเงินเดอลลาร์ สรอ. แข็งค่า 2.2เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY)สูงขึ้นร้อยละ 2.9 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 36.2 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบจากฐานของปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำรวมถึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทยอยปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 3.6 จากราคาน้ำตาลทราย ตามปริมาณผลผลิตลดลงในช่วงก่อนหน้า อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป จากต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้น รวมถึงอาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ตามความต้องการบริโภคอย่างต่อเนื่องหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.8 จากเม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง ตามความต้องการใช้และเป็นสินค้าเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น นอกจากนี้ รถยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ต้องการสินค้ารุ่นใหม่และใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และหมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.5 ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็งและแห้ง และไก่สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป เนื่องจากประเทศคู่ค้า มีความต้องการใช้เป็นวัตถุดิบและบริโภคอย่างต่อเนื่อง 2.3 เฉลี่ย8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 (AoA)สูงขึ้นร้อยละ 3.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 30.3 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ จากฐานราคาน้ำมันเฉลี่ยที่ต่ำกว่าในช่วงก่อนหน้า หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 6.0 ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และไก่สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ตามความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 4.3 ได้แก่ น้ำตาลทราย จากผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลง นอกจากนี้ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปปรับตัวสูงขึ้น ตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งวัตถุดิบและผลกระทบจากค่าระวางเรือที่สูงขึ้น อาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป ตามความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.7 ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ สูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ส่วนคอมพิวเตอร์ฯ เหล็ก ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้น 1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนสิงหาคม 2564 เท่ากับ 100.8 (ปีฐาน 2555 =100) (เดือนกรกฎาคม 2564 เท่ากับ 101.5) โดยดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 85.6 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 106.8 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 106.1 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 107.7 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เท่ากับ 94.1 2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนสิงหาคม 2564 เมื่อเทียบกับ2.1 เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM)ลดลงร้อยละ 0.7 โดยมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้ หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 3.5 ได้แก่ น้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากจีนกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งทำให้เริ่มกลับมาใช้มาตรการป้องกันการระบาดของที่เข้มงวดอีกครั้ง หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ1.2 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และรถยนต์นั่ง เนื่องจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ในระลอกที่ 4รวมทั้งการออกมาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว เป็นปัจจัยที่ทำให้ความต้องการลดลง หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ลดลงร้อยละ 0.3 ได้แก่ สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค กาแฟ ชา เครื่องเทศ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน จากความต้องการที่ลดลง และหมวดสินค้าทุน ลดลงร้อยละ0.2 ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ สะท้อนถึงราคาเริ่มปรับเข้าสู่ระดับมีเสถียรภาพมากขึ้น หลังจากราคาปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้า ขณะที่หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ จากต้นทุนในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น และปุ๋ยจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับเคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก ปรับลดลงเนื่องจากเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน 2.2เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY)สูงขึ้นร้อยละ 9.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 50.2 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 5.4 ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ตามต้นทุนในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น และปุ๋ย จากต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 2.8 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน นมและผลิตภัณฑ์นม เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.8 ได้แก่ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบเนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผลิตภัณฑ์โลหะ จากต้นทุนเหล็กที่เพิ่มขึ้น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ จากต้นทุนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และการขาดแคลนวัตถุดิบบางชนิด ขณะที่ปัจจัยลบเป็นหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 2.1 อันได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง และรถจักรยานยนต์ เนื่องจากส่วนประกอบของรถยนต์บางรุ่นราคาลดลง 2.3 เฉลี่ย8 เดือน(ม.ค.-ก.ค.) ปี 2564 เทียบกับปี 2563 (AoA)สูงขึ้นร้อยละ 9.5 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 49.8 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม โดยเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 5.6 ได้แก่ เคมีภัณฑ์ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปรับตัวสูงขึ้นตามความไม่สมดุลของการผลิตและการบริโภคในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะที่ปุ๋ย ราคาปรับตัวสูงขึ้น อันเป็นผลจากต้นทุนค่าขนส่งที่ปรับสูงขึ้นและมีการจำกัดปริมาณการส่งออกของประเทศจีนหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 3.1 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน นมและผลิตภัณฑ์นม เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนค่าขนส่งที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าอุปสงค์ภายในประเทศยังคงไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ1.8 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์การทดสอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นผลจากความต้องการสินค้าส่งออกที่ขยายตัวได้ดีและหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 0.6 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
อัตราการค้าของไทย ในเดือนสิงหาคม 2564 เท่ากับ 102.6 (เดือนกรกฎาคม 2564 เท่ากับ 102.0)ทั้งนี้อัตราการค้ายังสูงกว่า 100 แสดงว่า ประเทศไทยยังมีความสามารถทางการแข่งขันที่ดี
อัตราการค้าของไทย ในเดือนสิงหาคม 2564 เท่ากับ 102.6 (เดือนกรกฎาคม 2564 เท่ากับ 102.0)โดยพบว่า อัตราการค้าเริ่มกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง หลังจากในช่วงก่อนหน้าอยู่ในทิศทางที่ชะลอลงต่อเนื่องนับจากเดือนเมษายน 2563 อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาภาพรวมของอัตราการค้าในปัจจุบัน สังเกตให้เห็นว่า แม้การส่งออกจะขยายตัวได้ดี แต่ความได้เปรียบเชิงโครงสร้างราคาสินค้าส่งออกเทียบกับสินค้าราคานำเข้ายังคงลดลง เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การปรับราคาของผู้ส่งออกยังทำได้อย่างจำกัด อย่างไรก็ตาม อัตราการค้ายังมีค่าสูงกว่า 100ซึ่งแสดงถึงความได้เปรียบด้านราคาสินค้าส่งออกของไทยยังดีกว่าด้านราคาสินค้านำเข้า โดยกลุ่มสินค้าที่ราคาส่งออกสูงกว่าราคานำเข้า (ได้เปรียบในอัตราการค้า) ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบขั้นกลางจากต่างประเทศในการผลิตเช่น เคมีภัณฑ์ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และกลุ่มสินค้าขั้นกลางที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศในการผลิตเช่น ผัก ผักกระป๋องและแปรรูป และของปรุงแต่งทำจากผักและผลไม้ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และของปรุงแต่งทำจากผลไม้ นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอื่น ๆ ที่ราคาส่งออกสูงกว่าราคานำเข้า อาทิ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวและแป้ง เป็นต้น
ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก (เสียเปรียบในอัตราการค้า) ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ทองคำ นมและผลิตภัณฑ์นม และทองแดงและผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอื่น ๆ ที่ราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอและเสื้อผ้า เป็นต้น
แนวโน้มดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศ ปี 2564 คาดว่าจะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญที่กลับมาขยายตัวได้ดี ส่งผลให้ความต้องการบริโภคสินค้าขยายตัวได้ในหลายกลุ่มสินค้าสำคัญ ประกอบกับฐานที่อยู่ในระดับต่ำของปีก่อน เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศ ปรับตัวสูงขึ้นได้ต่อเนื่องในปี 2564
ดัชนีราคาส่งออก ปี 2564 คาดว่าดัชนีราคาในช่วงที่เหลือจะอยู่ในระดับสูง แต่อาจชะลอลงจากช่วงครึ่งแรกของปีโดยราคาที่สูงขึ้นมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1) การทยอยฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก จากการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19ได้ดี 2)ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มสูงขึ้นตามอุปสงค์โลกที่ขยายตัว เมื่อรวมกับฐานราคาน้ำมันในปี 2563 ที่อยู่ในระดับต่ำ เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ดัชนีราคาส่งออกมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างสูง 3) ต้นทุนผู้ประกอบการด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น 4) ความต้องการสินค้ากลุ่มอาหาร และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง และ 5) สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และการสื่อสารยังอยู่ในกระแสความต้องการของตลาด
ดัชนีราคานำเข้า ปี 2564 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นแต่มีอัตราที่ชะลอลงเช่นกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1) เศรษฐกิจประเทศสำคัญกลับมาฟื้นตัว ส่งผลให้ความต้องการสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง2) ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าปี 2563 3) ราคาวัตถุดิบที่สำคัญในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เช่น เหล็ก ทองแดง และอะลูมิเนียม เป็นต้น 4) ราคาสินค้าคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวสูงขึ้น และ 5) ต้นทุนการขนส่งปรับตัวสูงขึ้น
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์