ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนกันยายน 2564

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 28, 2021 11:04 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

Highlights

ดัชนีราคาส่งออก เดือนกันยายน 2564 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน ที่ร้อยละ 3.2(YoY)โดยสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สาเหตุหลักเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ความต้องการสินค้าขยายตัวได้ดีในหลายกลุ่มสินค้าและตลาดสำคัญ สำหรับหมวดสินค้าที่ส่งผลให้ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงสูงขึ้นร้อยละ 44.4 จากราคาน้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ตามปริมาณการผลิตที่ลดลง เนื่องจากแหล่งผลิตสำคัญในอเมริกาเหนือได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ และโรงกลั่นบางประเทศในกลุ่มโอเปกปิดซ่อมบำรุง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 4.5 จากราคาน้ำตาลทราย ตามปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.1 จากสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น นอกจากนี้ เครื่องคอมพิวเตอร์ และรถยนต์ ได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าขยายตัว ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 0.3 เป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 62เดือน จากผลของราคาสินค้าข้าวเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ตามการส่งออกที่กลับมาขยายตัว

ดัชนีราคานำเข้า เดือนกันยายน 2564 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกันที่ร้อยละ 11.2(YoY)หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้นประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 63.6 ได้แก่น้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป ตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปสูงขึ้นร้อยละ 5.7 จากสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน และสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนในตลาดโลก เช่น สินแร่โลหะ เหล็ก ทองแดง และอลูมิเนียม เป็นต้น นอกจากนี้ การจำกัดการส่งออกของประเทศผู้ผลิต และค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 3.3 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน โดยเฉพาะเครื่องมือสื่อสาร ที่มีเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ประกอบกับเงินบาทอ่อนค่าและหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 2.3 ได้แก่ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น และต้นทุนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ขณะที่หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 2.1 ได้แก่ รถยนต์นั่ง และรถจักรยาน เนื่องจากส่วนประกอบของรถยนต์บางรุ่นราคาลดลง

ดัชนีราคาส่งออก ปี 2564 คาดว่าดัชนีราคาในช่วงที่เหลือจะอยู่ในระดับสูงแต่อาจชะลอลงจากช่วง 9 เดือนแรกของปีโดยราคาที่สูงขึ้นมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1) การทยอยฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก 2)ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มสูงขึ้นตามอุปสงค์และอุปทานมีความตึงตัวค่อนข้างชัดเจน 3) ต้นทุนผู้ประกอบการด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น 4) ความต้องการสินค้ากลุ่มอาหาร และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง และ 5) สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ยังอยู่ในกระแสความต้องการของตลาด

ดัชนีราคานำเข้า ปี 2564 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นแต่มีอัตราที่ชะลอลงเช่นกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนให้ราคาสูงขึ้นจาก 1) เศรษฐกิจประเทศสำคัญกลับมาฟื้นตัว 2) ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าปี 2563 3) ราคาวัตถุดิบที่สำคัญในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น 4) ราคาสินค้าคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวสูงขึ้น 5) ต้นทุนการขนส่งปรับตัวสูงขึ้น และ 6) เงินบาทอ่อนค่าอัตราการค้า (Term of Trade)เดือนกันยายน 2564

อัตราการค้าของไทย ในเดือนกันยายน 2564 เท่ากับ 101.5 (เดือนสิงหาคม 2564เท่ากับ 102.6) ทั้งนี้ อัตราการค้ายังสูงกว่า 100 แสดงถึงความได้เปรียบด้านราคาสินค้าส่งออกของไทยยังดีกว่าราคาสินค้านำเข้าโดยกลุ่มสินค้าที่ราคาส่งออกสูงกว่าราคานำเข้า (ได้เปรียบในอัตราการค้า) ได้แก่ ผัก ผักกระป๋องและแปรรูป เคมีภัณฑ์ ผลไม้ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้นขณะที่กลุ่มสินค้าที่ราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก (เสียเปรียบในอัตราการค้า) ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ทองคำ นมและผลิตภัณฑ์นม ทองแดงและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เดือนกันยายน ปี 2564และไตรมาสที่ 3 ปี 2564 1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกันยายน 2564 เท่ากับ 103.7 (ปีฐาน 2555 =100) (เดือนสิงหาคม 2564 เท่ากับ 103.4) โดยดัชนีราคาส่งออกหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 105.7หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 115.0หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 104.7และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 85.2 2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกันยายน2564 เมื่อเทียบกับ2.1 เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM)สูงขึ้นร้อยละ 0.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 3.9 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ตามความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง จากผลกระทบพายุเฮอร์ริเคนไอดา และประเทศสมาชิกบางส่วนของกลุ่มโอเปกพลัส ประสบปัญหาในการเพิ่มกำลังการผลิต เนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 0.8 ได้แก่ น้ำตาลทราย จากปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลง นอกจากนี้ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง ตามต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้น และความต้องการของตลาดที่มีอย่างต่อเนื่อง หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากผลของราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ด้านราคาผลิตภัณฑ์ยาง ปรับตัวสูงขึ้นจากต้นทุนวัตถุดิบและความต้องการใช้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะแผงวงจรไฟฟ้า ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 0.7 จากราคายางพาราเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากสต๊อกยางพาราโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น และประเทศผู้นำเข้าสำคัญยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19อย่างไรก็ตาม สินค้าข้าว และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ราคาปรับตัวดีขึ้น ตามความต้องการสินค้าจากตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น 2.2เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY)สูงขึ้นร้อยละ 3.2 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วยหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 44.4 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบเนื่องจากราคาน้ำมันยังสูงกว่าปีก่อนหน้าหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 4.5 จากราคาน้ำตาลทราย ตามปริมาณผลผลิตลดลงในช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตามต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นรวมถึงอาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ตามความต้องการบริโภคอย่างต่อเนื่อง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.1 จากเม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และเคมีภัณฑ์ ตามความต้องการใช้และเป็นสินค้าเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น นอกจากนี้ รถยนต์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ต้องการสินค้ารุ่นใหม่และใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 0.3 จากผลของราคาสินค้าข้าวเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวจากเดือนก่อนหน้า จากการส่งออกเริ่มกลับมาขยายตัว นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังยังคงขยายตัวสูงจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก 2.3 เฉลี่ย9 เดือน (ม.ค. -ก.ย.) ปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 (AoA)สูงขึ้นร้อยละ 3.0 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 31.8 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ จากฐานราคาน้ำมันเฉลี่ยที่ต่ำกว่าในช่วงก่อนหน้า หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 5.3 ได้แก่ ยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง จากอุปสงค์ของตลาดที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของตลาดโลก ขณะที่ผลไม้สด ราคาเพิ่มขึ้นจากความนิยมสินค้าไทยในตลาดจีนเป็นสำคัญ หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 4.3 ได้แก่ น้ำตาลทราย จากผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลง นอกจากนี้ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ปรับตัวสูงขึ้น ตามต้นทุนวัตถุดิบและผลกระทบจากค่าระวางเรือที่สูงขึ้น และความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นอยละ 1.8 ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ สูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ส่วนคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้น 2.4 ไตรมาสที่ 3 ปี 2564 เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 3.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 41.5 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ จากฐานราคาน้ำมันในช่วงก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับตลาดมีความต้องการบริโภคตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 4.3 ได้แก่ น้ำตาลทราย จากปริมาณผลผลิตที่ลดลงในช่วงก่อนหน้า และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตามต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงความต้องการบริโภคที่มีอย่างต่อเนื่อง หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.9 ได้แก่ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ตามสินค้าเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว จากผลของความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสินค้าจากตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มขยายตัวและหมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.1 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ตามความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคายางพารายังทรงตัวสูงกว่าปีก่อนหน้า แม้ว่าราคาจะมีสัญญาณลดลง

2.5ไตรมาสที่ 3 ปี 2564 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) สูงขึ้นร้อยละ 0.4 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 6.8 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบโลกที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า เนื่องจากอุปสงค์และอุปทานในตลาดน้ำมันตึงตัวค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะการผลิตน้ำมันที่ปรับลดลงชั่วคราว หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 0.9 โดยเฉพาะน้ำตาลทราย จากผลกระทบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่ความต้องการบริโภคยังมีอย่างต่อเนื่อง และสินค้าประเภทอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตามต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนการขนส่งระหว่างประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.5 ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเคมีภัณฑ์ ตามคำสั่งซื้อสินค้าจากตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงสินค้าบางกลุ่มเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 3.5 โดยเฉพาะยางพารา ตลาดประเทศคู่ค้าบางประเทศที่ยังเผชิญกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และส่งผลต่อความต้องการสินค้าลดลง ขณะที่กุ้งสด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข่งขันในตลาดโลกสูง และประเทศคู่แข่งมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทย

ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ เดือนกันยายน ปี 2564 และไตรมาสที่ 3 ปี 2564

1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนกันยายน 2564 เท่ากับ 102.2 (ปีฐาน 2555 =100) (เดือนสิงหาคม 2564 เท่ากับ 100.8) โดยดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 89.3 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 107.7 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 106.7 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 108.7 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เท่ากับ 94.1 2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนกันยายน 2564 เมื่อเทียบกับ2.1 เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM)สูงขึ้นร้อยละ 1.4 โดยมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้นประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 4.3 ได้แก่น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และน้ำมันสำเร็จรูป ผลจากกลุ่มประเทศโอเปกผลิตไม่ได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากการปิดซ่อมบำรุง ประกอบกับการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 0.9 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน โดยแฉพาะเครื่องมือสื่อสาร ที่มีผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเงินบาทอ่อนค่า หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 0.8 ได้แก่เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ คาดว่าจะเป็นสินค้าเทคโนโลยีใหม่และความต้องการทั่วโลกยังเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองต่อการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.6 ได้แก่ เคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก ปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันขณะที่ราคาปุ๋ยสูงขึ้น เนื่องจากประเทศจีนเป็นผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ได้ชะลอการส่งออก ประกอบกับประเทศอินเดียได้ประมูลซื้อปุ๋ยในปริมาณมาก ทำให้ปริมาณปุ๋ยในตลาดโลกลดลง รวมทั้งต้นทุนวัตถุดิบการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ด้านราคาเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์สูงขึ้น จากต้นทุนในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น สำหรับหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีกลุ่มสินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นได้แก่ รถจักรยานยนต์ และรถจักรยาน ขณะที่สินค้าราคาปรับลดลง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก

2.2เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY)สูงขึ้นร้อยละ 11.2 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้นประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 63.6 ได้แก่น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปสูงขึ้นร้อยละ 5.7 ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนสินแร่โลหะ เหล็ก ทองแดง และอะลูมิเนียมราคาสูงขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังทรงตัวสูงกว่าปีก่อนหน้าและปุ๋ย จากปริมาณในตลาดโลกลดลง และต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 3.3 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน โดยเฉพาะเครื่องมือสื่อสาร ที่มีผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ประกอบกับเงินบาทอ่อนค่าและหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 2.3 ได้แก่ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบเนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผลิตภัณฑ์โลหะ จากต้นทุนเหล็กที่เพิ่มขึ้น และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ จากต้นทุนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และการขาดแคลนวัตถุดิบบางชนิด ขณะที่หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 2.1 ได้แก่ รถยนต์นั่ง และรถจักรยาน เนื่องจากส่วนประกอบของรถยนต์บางรุ่นราคาลดลง

2.3 เฉลี่ย9 เดือน(ม.ค. -ก.ย.) ปี 2564 เทียบกับปี 2563 (AoA)สูงขึ้นร้อยละ 9.7 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 51.1 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม โดยเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปสูงขึ้นร้อยละ 5.6 ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้น ส่วนเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ตามความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปุ๋ย ราคาปรับตัวสูงขึ้นจากต้นทุนค่าขนส่งที่ปรับสูงขึ้นและมีการจำกัดปริมาณการส่งออกของประเทศจีนหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นร้อยละ 3.1 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน โดยเฉพาะเครื่องมือสื่อสาร ที่มีผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อการทำงานและการเรียนที่บ้าน ซึ่งส่วนมากมีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น และผลิตภัณฑ์นม และเนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค ผลจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารที่ปรับเพิ่มขึ้น หมวดสินค้าทุนสูงขึ้นร้อยละ 1.9 เป็นผลจากต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น อย่างสินค้าผลิตภัณฑ์โลหะ รวมทั้งสินค้าที่มีความต้องการสูงและเป็นสินค้าเทคโนโลยีใหม่ อย่างเช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์การทดสอบ เป็นผลจากความต้องการสินค้าใช้เพิ่มขึ้นสูงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

2.4 ไตรมาสที่ 3 ปี 2564 เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 10.6 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 57.6 ได้แก่น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปสูงขึ้นร้อยละ 5.7 ได้แก่ ปุ๋ย จากการจำกัดการส่งออกของประเทศจีนเป็นสำคัญ ด้านสัตว์น้ำสดแช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ราคาปรับตัวสูงขึ้นจากค่าขนส่งระหว่างประเทศ ส่วนเศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ราคาปรับตัวสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก ราคาสูงขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมัน และความต้องการใช้เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นร้อยละ 3.1 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผลจากการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มสูงขึ้น เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม จากความต้องการที่เพิ่มขึ้น หมวดสินค้าทุนสูงขึ้นร้อยละ 2.1 ได้แก่ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 1.5 ได้แก่ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ จากบางรุ่นที่ราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง

2.5ไตรมาสที่ 3 ปี 2564 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) สูงขึ้นร้อยละ 1.9 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้นประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 6.6 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปสูงขึ้นร้อยละ 1.5 ได้แก่ ปุ๋ย จากการจำกัดปริมาณการส่งออกของจีนและวัตถุดิบการผลิตที่สูงขึ้น ส่วนราคาสัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ได้รับผลกระทบจากต้นทุนการขนส่งที่ปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ราคาสินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ยังทรงตัวระดับสูง ขณะที่เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก ราคาเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 0.8 ได้แก่ ราคาเครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และการทดสอบ ตามความต้องการใช้ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์โลหะ ราคายังคงสูงขึ้น ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ และส่วนหนึ่งเป็นผลของเงินบาทอ่อนค่า หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด ขณะที่หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 1.8 โดยเฉพาะส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก คาดว่าเป็นปัจจัยชั่วคราว เนื่องจากภาพรวมตลาดรถยนต์ฟื้นตัวได้ดี

อัตราการค้าของประเทศ เดือนกันยายน ปี 2564

อัตราการค้าของไทย ในเดือนกันยายน 2564 เท่ากับ 101.5 (เดือนสิงหาคม 2564 เท่ากับ 102.6)ทั้งนี้อัตราการค้ายังสูงกว่า 100 แสดงว่า ประเทศไทยยังมีความสามารถทางการแข่งขันที่ดี

อัตราการค้าของไทย ในเดือนกันยายน 2564 เท่ากับ 101.5 (เดือนสิงหาคม 2564 เท่ากับ 102.6)ปรับตัวลดลงอีกครั้ง เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และยังคงอยู่ในทิศทางลดลงต่อเนื่องนับจากเดือนเมษายน 2563นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาภาพรวมของอัตราการค้าในปัจจุบัน สังเกตให้เห็นว่า แม้การส่งออกจะขยายตัวได้ดี แต่ความได้เปรียบเชิงโครงสร้างระหว่างราคาสินค้าส่งออกเทียบกับราคาสินค้านำเข้ายังคงลดลง เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นโดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่การปรับราคาของผู้ส่งออกยังทำได้อย่างจำกัด อย่างไรก็ตาม อัตราการค้ายังมีค่าสูงกว่า 100ซึ่งแสดงถึงความได้เปรียบด้านราคาสินค้าส่งออกของไทยยังดีกว่าด้านราคาสินค้านำเข้า โดยกลุ่มสินค้าที่ราคาส่งออกสูงกว่าราคานำเข้า (ได้เปรียบในอัตราการค้า) ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบขั้นกลางจากต่างประเทศในการผลิตเช่น เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เม็ดพลาสติก เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และกลุ่มสินค้าขั้นกลางที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศในการผลิตเช่น ผัก ผักกระป๋องและแปรรูป และของปรุงแต่งทำจากผักและผลไม้ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ของปรุงแต่งทำจากผลไม้ ผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวและแป้ง เป็นต้น

ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก (เสียเปรียบในอัตราการค้า) ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ทองคำ นมและผลิตภัณฑ์นม และทองแดงและผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอื่น ๆ ที่ราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอและเสื้อผ้า เป็นต้น

แนวโน้มดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศ ปี 2564

แนวโน้มดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศ ปี 2564 คาดว่าจะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญที่กลับมาขยายตัวได้ดี ส่งผลให้ความต้องการบริโภคสินค้าขยายตัวได้ในหลายกลุ่มสินค้าสำคัญ ประกอบกับฐานที่อยู่ในระดับต่ำของปีก่อน เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศ ปรับตัวสูงขึ้นได้ต่อเนื่องในปี 2564

ดัชนีราคาส่งออก ปี 2564 คาดว่าดัชนีราคาในช่วงที่เหลือจะอยู่ในระดับสูง แต่อาจชะลอลงจากช่วง 9 เดือนแรกของปีโดยราคาที่สูงขึ้นมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1) การทยอยฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก จากการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19ได้ดี 2)ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มสูงขึ้นตามอุปสงค์และอุปทานมีความตึงตัวค่อนข้างชัดเจน เมื่อรวมกับฐานราคาน้ำมันในปี 2563 ที่อยู่ในระดับต่ำ เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ดัชนีราคาส่งออกมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างสูง 3) ต้นทุนผู้ประกอบการด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น 4) ความต้องการสินค้ากลุ่มอาหาร และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง และ 5) สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และการสื่อสารยังอยู่ในกระแสความต้องการของตลาด

ดัชนีราคานำเข้า ปี 2564 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น แต่มีอัตราที่ชะลอลงเช่นกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1) เศรษฐกิจประเทศสำคัญกลับมาฟื้นตัว ส่งผลให้ความต้องการสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง2) ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าปี 2563 3) ราคาวัตถุดิบที่สำคัญในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เช่น เหล็ก ทองแดง และอะลูมิเนียม เป็นต้น 4) ราคาสินค้าคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวสูงขึ้น 5) ต้นทุนการขนส่งปรับตัวสูงขึ้น และ 6) เงินบาทอ่อนค่า

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ