ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนสิงหาคม 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 37.2 เทียบกับระดับ 36.7 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 29.8 มาอยู่ที่ระดับ 29.9 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 41.3 มาอยู่ที่ระดับ 42.1 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19ที่ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับประกอบกับภาครัฐได้มีพิจารณาผ่อนคลายมาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดง) โดยเริ่มมีการคลายล็อกดาวน์ให้ผู้ประกอบการบางประเภท มีผลเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 นี้ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจของผู้ประกอบการและประชาชนเริ่มดีขึ้น ถึงแม้ว่าจะยังคงอยู่ในช่วงที่มีความไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจก็ตาม
เมื่อพิจารณาปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค พบว่า ปัจจัยเรื่องภัยภิบัติ/โรคระบาด ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 49.23 รองลงมาคือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจไทยคิดเป็นร้อยละ 20.14 ปัจจัยด้านมาตรการของภาครัฐ คิดเป็นร้อยละ 16.36 ปัจจัยด้านการเมือง คิดเป็นร้อยละ 6.57 ปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลก คิดเป็นร้อยละ 4.59 และปัจจัยด้านสังคม/ความมั่นคง คิดเป็นร้อยละ 3.11 ตามลำดับ โดยกลุ่มผู้บริโภคที่มีความเชื่อมั่นดีขึ้น มองว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19ที่มีผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงประกอบกับเศรษฐกิจยังพอไปได้ ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคที่มีความเชื่อมั่นแย่ลงมองว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19ที่ยังรุนแรงและเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคใต้ มีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นมากที่สุด จากระดับ 36.8 มาอยู่ที่ระดับ 38.9 รองลงมาคือ ภาคเหนือ จากระดับ 34.7 มาอยู่ที่ระดับ 35.9 และภาคกลาง จากระดับ 36.1 มาอยู่ที่ระดับ 36.8 ในขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ปรับตัวลดลงจากระดับ 35.8 มาอยู่ที่ระดับ 34.6 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19ที่ยังคงมีความรุนแรงและมียอดผู้ติดเชื้อรายวันจำนวนมาก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับลดลงจากระดับ 38.7 มาอยู่ที่ระดับ 38.1 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียวปรับราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มอาชีพ ยกเว้นกลุ่มเกษตรกร ปรับลดลงจากระดับ 38.1 มาอยู่ที่ระดับ 37.9 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญปรับราคาลดลง เช่น ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สุกร ไก่ กุ้ง และผลไม้ (ทุเรียน เงาะ มังคุด) ในขณะที่ กลุ่มนักศึกษา ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 33.1 มาอยู่ที่ระดับ 35.5 กลุ่มพนักงานของรัฐ ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 42.8 มาอยู่ที่ระดับ 44.2 กลุ่มรับจ้างอิสระ จากระดับ 34.2 มาอยู่ที่ระดับ 35.5 กลุ่มผู้ประกอบการ จากระดับ 36.3 มาอยู่ที่ระดับ 36.9 กลุ่มพนักงานเอกชน จากระดับ 35.2 มาอยู่ที่ระดับ 35.4 และกลุ่มไม่ได้ทำงาน/บำนาญ จากระดับ 32.2 มาอยู่ที่ระดับ 32.3 ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19เริ่มลดลงในช่วงปลายเดือน และภาครัฐได้มีพิจารณาผ่อนคลายล็อกดาวน์ ให้ผู้ประกอบการ ธุรกิจ ร้านค้าต่าง ๆ ให้สามารถเริ่มกลับมาดำเนินการได้ในวันที่ 1 กันยายน 2564 นี้
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์