ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกันยายน 2564

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 8, 2021 11:08 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนกันยายน 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 42.1 เทียบกับระดับ 37.2 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและ ในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 29.9 มาอยู่ที่ระดับ 34.2 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 42.1 มาอยู่ที่ระดับ 47.4 เป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19ที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ประกอบกับภาครัฐได้มีการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ทั้งการลดเวลาเคอร์ฟิวเป็น 22.00 -04.00 น.และอนุญาตให้เปิดกิจการเพิ่มขึ้นอีก เช่น โรงภาพยนต์ การเล่นดนตรีในร้านอาหาร กีฬาในร่ม ร้านทำเล็บเป็นต้น รวมทั้งจะมีการเปิดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวอีก 10 พื้นที่ มีผลเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 นี้ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจของผู้ประกอบการและประชาชนเริ่มดีขึ้น ถึงแม้ว่าจะยังคงอยู่ในช่วงที่มีความไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจก็ตาม

เมื่อพิจารณาปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค พบว่า ปัจจัยเรื่องภัยภิบัติ/โรคระบาด ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 42.95รองลงมาคือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจไทย คิดเป็นร้อยละ 25.00 ปัจจัยด้านมาตรการของภาครัฐ คิดเป็นร้อยละ 16.34 ปัจจัยด้านการเมือง คิดเป็นร้อยละ 7.22 ปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลก คิดเป็นร้อยละ 4.75 และปัจจัยด้านสังคม/ความมั่นคง คิดเป็นร้อยละ 3.74 ตามลำดับ โดยกลุ่มผู้บริโภคที่มีความเชื่อมั่นดีขึ้น มองว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19ที่มีผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงประกอบกับเศรษฐกิจยังพอไปได้ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนความเชื่อมั่น ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคที่มีความเชื่อมั่นแย่ลงมองว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19ที่ยังไม่สามารถระงับการแพร่ระบาดได้ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นตัว เป็นปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่น

เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคกลาง มีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นมากที่สุด จากระดับ 36.8 มาอยู่ที่ระดับ 44.1 รองลงมาคือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล จากระดับ 34.6 มาอยู่ที่ระดับ 39.6 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากระดับ 38.1 มาอยู่ที่ระดับ 42.6 ภาคใต้ จากระดับ 38.9 มาอยู่ที่ระดับ 42.9 และภาคเหนือ จากระดับ 35.9 มาอยู่ที่ระดับ 39.7 ตามลำดับ โดยมีปัจจัยที่สนับสนุนความเชื่อมั่นสอดคล้องกันในทุกภูมิภาค โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 ลำดับแรก คือ ปัจจัยด้านภัยพิบัติ/โรคระบาด รองลงมาคือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจไทย ด้านมาตรการของรัฐ ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ มีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นมากที่สุด จากระดับ 36.9 มาอยู่ที่ระดับ 43.6 รองลงมาคือ กลุ่มพนักงานเอกชน จากระดับ 35.4 มาอยู่ที่ระดับ 40.8 กลุ่มเกษตรกร จากระดับ 37.9 มาอยู่ที่ระดับ 42.5 กลุ่มพนักงานของรัฐ จากระดับ 44.2 มาอยู่ที่ระดับ 48.0 กลุ่มไม่ได้ทำงาน/บำนาญ จากระดับ 32.3 มาอยู่ที่ระดับ 36.1 กลุ่มรับจ้างอิสระ จากระดับ 35.5 มาอยู่ที่ระดับ 39.3 และกลุ่มนักศึกษา จากระดับ 35.5 มาอยู่ที่ระดับ 37.4 ตามลำดับ โดยมีปัจจัยที่สนับสนุนความเชื่อมั่นสอดคล้องกันในทุกกลุ่มอาชีพ โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 ลำดับแรก คือ ปัจจัยด้านภัยพิบัติ/โรคระบาด รองลงมาคือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจไทย ด้านมาตรการของรัฐ ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากระดับ 35.5 มาอยู่ที่ระดับ 44.3 ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคจาก 7 กลุ่มอาชีพ

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ