ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนธันวาคม 2564 ไตรมาสที่ 4 และปี 2564

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 5, 2022 11:30 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนธันวาคม 2564

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนธันวาคม 2564 เท่ากับ 115.2 เทียบกับเดือนธันวาคม 2563 สูงขึ้นร้อยละ 8.9 (YoY) ซึ่งสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยยังคงมีสาเหตุหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาต้นทุนวัตถุดิบเป็นสำคัญ ได้แก่ เหล็ก อลูมิเนียม ถ่านหิน และน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนอุตสาหกรรมการผลิตวัสดุก่อสร้างของประเทศในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ภาพรวมอุตสาหกรรมการก่อสร้างช่วงปลายปีเริ่มมีแนวโน้มทิศทางที่ดีขึ้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายมากขึ้น ประกอบกับโครงการก่อสร้างภาครัฐเริ่มดำเนินงานในปีงบประมาณใหม่ แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโอไมครอนในช่วงเดือนสุดท้ายของปี สร้างความกังวลต่อผู้ประกอบการในภาคการก่อสร้าง ที่อาจจะได้รับผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการก่อสร้างของประเทศในปีหน้า

การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง

1. เทียบกับเดือนธันวาคม 2563 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 8.9 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 1.9 จากการสูงขึ้นของไม้แบบ ไม้โครงคร่าว บานประตู-หน้าต่าง วงกบประตู-หน้าต่าง ไม้คาน และไม้พื้น เนื่องจากราคาต้นทุนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 3.0 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบมีการปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 5.6 ซึ่งยังคงสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสินค้าสำคัญที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ชีทไพล์คอนกรีต ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป เสาเข็มคอนกรีต ถังซีเมนต์สำเร็จรูป ท่อระบายน้ำคอนกรีต พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง และคอนกรีตผสม เนื่องจากราคาต้นทุนสูงขึ้นจากวัตถุดิบ ได้แก่ เหล็ก และถ่านหิน เป็นสำคัญ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 28.7 จากการสูงขึ้นของผลิตภัณฑ์เหล็กเกือบทุกกลุ่มสินค้า เนื่องจากการสูงขึ้นของราคาเหล็กในตลาดโลกที่ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสินค้าสำคัญที่สูงขึ้น ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ และลวดเหล็ก เป็นต้น หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 1.3 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น และกระเบื้องลอนคู่ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.1 สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการสูงขึ้นของซิลิโคน หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.2 สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการสูงขึ้นของราวแขวนผ้าติดผนัง ฝักบัวอาบน้ำ กระจกเงา และฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูป หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 3.8 ซึ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสินค้าสำคัญที่สูงขึ้น ได้แก่ สายไฟฟ้า VCT ประตูน้ำ สายเคเบิล THW ก๊อกน้ำ ข้องอ-ข้อต่อท่อประปา และท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC เป็นต้น โดยยังคงสูงขึ้นจากราคาต้นทุนวัตถุดิบเป็นสำคัญ ได้แก่ เหล็ก ทองแดง และอลูมิเนียม เป็นต้น และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 4.2 จากการสูงขึ้นของ ยางมะตอย อลูมิเนียม และทราย เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

2. เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2564 (MoM) ลดลงร้อยละ 0.7 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.2 จากการลดลงของ ปูนซีเมนต์ผสม และปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เนื่องจากการเร่งระบายสินค้า ประกอบกับการแข่งขันสูงเนื่องจากการเร่งเก็บงานก่อนเทศกาลวันหยุดปีใหม่ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 0.1 ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากการลดลงของท่อระบายน้ำคอนกรีต หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 2.9 ซึ่งปรับตัวลดลงเนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกเริ่มมีแนวโน้มทิศทางลดลง ส่งผลให้ราคาเหล็กในประเทศเริ่มปรับตัวลดลง โดยสินค้าสำคัญที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป เป็นต้น ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น ได้แก่ หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.7 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องยาง PVC ปูพื้น ส่วนสินค้าที่ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หมวดวัสดุฉาบผิว หมวดสุขภัณฑ์ หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ

3. เทียบกับเดือน มกราคม-ธันวาคม 2563 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 8.0 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 1.8 จากการสูงขึ้นของบานประตู-หน้าต่าง วงกบประตู-หน้าต่าง ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้แบบ และไม้พื้น เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 2.7 จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต เสาเข็มคอนกรีต ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป คอนกรีตผสม ถังซีเมนต์สำเร็จรูป และท่อระบายน้ำคอนกรีต เนื่องจากราคาต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 33.9 จากการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในเกือบทุกรายการสินค้า จากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา และหมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.6 จากการสูงขึ้นของ กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น กระเบื้องแกรนิต และกระเบื้องลอนคู่ เนื่องจากราคาต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 3.3 จากการสูงขึ้นของสินค้าที่สำคัญได้แก่ สายเคเบิล THW สายไฟฟ้า VCT ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC ท่อ PVC ข้องอ-ข้อต่อท่อประปา ก๊อกน้ำ และประตูน้ำ เป็นต้น ซึ่งยังเป็นผลต่อเนื่องจากราคาวัตถุดิบเป็นสำคัญ ได้แก่ เหล็ก ทองแดง และอลูมิเนียมที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 2.0 จากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่ม หิน ดิน ทราย อลูมิเนียม และยางมะตอย เนื่องจากราคาต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ได้แก่ หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 1.1 จากการลดลงของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากการก่อสร้างยังคงซบเซาต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และหมวดวัสดุฉาบผิว ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของสีทาถนน ชนิดสะท้อนแสง และซิลิโคน ส่วนหมวดสุขภัณฑ์ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง

4. ไตรมาสที่ 4 ปี 2564 เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 9.7 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 1.9 จากการสูงขึ้นของบานประตู-หน้าต่าง วงกบประตู-หน้าต่าง ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้แบบ และไม้พื้น เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 1.2 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากราคาต้นทุนสูงขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลายมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 5.6 จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต เสาเข็มคอนกรีต ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป คอนกรีตผสม ถังซีเมนต์สำเร็จรูป และท่อระบายน้ำคอนกรีต เนื่องจากราคาต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 35.4 จากการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในเกือบทุกรายการสินค้า ผลต่อเนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรงตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.7 ซึ่งสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยสินค้าที่ราคาเฉลี่ยสูงขึ้นได้แก่ กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น กระเบื้องแกรนิต และกระเบื้องลอนคู่ หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.1 ซึ่งสูงขึ้นเล็กน้อย จากการสูงขึ้นของซิลิโคน หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.2 จากการสูงขึ้นของกระจกเงา ฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูป ฝักบัวอาบน้ำ และราวแขวนผ้าติดผนัง หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 3.9 จากการสูงขึ้นของสินค้าที่สำคัญได้แก่ สายเคเบิล THW สายไฟฟ้า VCT ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC ท่อ PVC ข้องอ-ข้อต่อท่อประปา และก๊อกน้ำ เป็นต้น เนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบ (เหล็ก ทองแดง อลูมิเนียม) เฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 3.9 จากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่ม หิน ดิน ทราย อลูมิเนียม และยางมะตอย เนื่องจากราคาต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

5. ไตรมาสที่ 4 ปี 2564 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) สูงขึ้นร้อยละ 1.9 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 2.3 จากการสูงขึ้นของ ปูนซีเมนต์ผสม และปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้น ประกอบกับเริ่มมีความต้องการในตลาดเพิ่มมากขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 1.7 จากการสูงขึ้นของ ชีทไพล์คอนกรีต ผนังคอนกรีต คอนกรีตผสม เสาเข็มคอนกรีต และท่อระบายน้ำคอนกรีต เนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 3.6 ซึ่งปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากราคาเหล็ก ในตลาดโลกยังคงมีความผันผวน และส่งผลให้ราคาเหล็กเฉลี่ยในประเทศยังคงมีการปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา โดยสินค้าสำคัญที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ท่อสแตนเลส ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี แผ่นสแตนเลส ชีทไพล์เหล็ก เป็นต้น หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.8 สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา โดยสินค้าที่ราคาเฉลี่ยสูงขึ้น ได้แก่ กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น กระเบื้องแกรนิต และกระเบื้องลอนคู่ หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของซิลิโคน หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของ กระจกเงา ฝักบัวอาบน้ำ และราวแขวนผ้าติดผนัง หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของ ท่อ PE และตะแกรงกรองผง หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 2.3 จากการสูงขึ้นของยางมะตอย และอลูมิเนียม เนื่องจากราคาต้นทุนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา ส่วนหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง

6. ภาพรวมดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างปี 2564 และแนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างปี 2565

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เฉลี่ยทั้งปี 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.0 ขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยเฉพาะหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ที่ขยายตัวในอัตราที่สูง เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 33.9 ตามราคาเหล็กในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น จากความต้องการใช้เหล็กที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลก ปรับลดกำลังการผลิตเหล็กและส่งออกเหล็ก เพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างหลายประเภท อาทิ หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ปรับสูงขึ้นตามต้นทุน วัตถุดิบ (โดยเฉพาะวัสดุก่อสร้างที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบ) ราคาน้ำมันดิบ และค่าขนส่ง

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงในช่วงกลางปี 2564 ซึ่งส่งผลให้มีการสั่งปิดแคมป์คนงาน ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน และหยุดการก่อสร้างเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน ส่งผลให้การดำเนินงานโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่และความต้องการใช้สินค้าวัสดุก่อสร้างชะลอตัว แต่เป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ และไม่กระทบต่อราคาวัสดุก่อสร้างมากนัก เนื่องจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ส่วนใหญ่จะสั่งซื้อสินค้าวัสดุก่อสร้างไว้ล่วงหน้า และเหล็ก ซึ่งเป็นสินค้าวัสดุก่อสร้างหลัก ราคายังคงปรับสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาสินค้าหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่คาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี แต่ในอัตราที่ไม่สูงมากนัก เนื่องจากฐานราคาปีที่ผ่านมาค่อนข้างสูง ซึ่งการขยายตัวเป็นไปตามต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น และความต้องการใช้เหล็กที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก จากการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจในหลายประเทศ ผ่านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ นอกจากนี้ ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และความต้องการเพื่อซ่อมแซม/ปรับปรุงที่อยู่อาศัย รวมทั้ง นโยบายส่งเสริมให้ภาครัฐใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศไทย และการผ่อนคลายมาตรการ LTV (Loan To Value) น่าจะส่งผลให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างในประเทศเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวในที่สุด

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ Omicron ที่จำนวนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้กระทบต่อภาคการก่อสร้างและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และเป็นแรงกดดันต่อดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในระยะต่อไป ทั้งนี้ จะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ