ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมกราคม 2565

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 4, 2022 10:16 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมกราคม 2565 เท่ากับ 116.0 เทียบกับเดือนมกราคม 2564 สูงขึ้นร้อยละ 6.1 (YoY) ซึ่งสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยยังคงมีสาเหตุหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาต้นทุนวัตถุดิบเป็นสำคัญ ส่งผลต่อต้นทุนอุตสาหกรรมการผลิตวัสดุก่อสร้างของประเทศ นอกจากนี้ ปัญหาด้านแรงงานก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อภาคการก่อสร้าง เนื่องจากการเดินทางกลับประเทศของแรงงานต่างด้าวในช่วงโรคระบาดรุนแรงในปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในภาคการก่อสร้าง

ถึงแม้ว่าการก่อสร้างจะเริ่มกลับมาดำเนินงานได้ตามปกติ โดยเฉพาะการก่อสร้างภาครัฐ ที่เริ่มดำเนินงานในปีงบประมาณใหม่ แต่ปัญหาด้านต้นทุนวัตถุดิบและการขาดแคลนแรงงาน ก็ส่งผลต่อภาคการก่อสร้างทำให้การดำเนินงานยังไม่ได้เป็นไปตามเป้า

นอกจากนี้ การปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศ ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชน ทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายในส่วนของภาคการก่อสร้าง

การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง

1. เทียบกับเดือนมกราคม 2564 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 6.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 5.2 จากการสูงขึ้นของไม้แบบ ไม้โครงคร่าว ไม้คาน ไม้ฝา และไม้พื้น เนื่องจากประเทศพม่ามีปัญหาการส่งออก ประเทศไทยจึงต้องประมูลไม้จากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 4.2 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ (ถ่านหิน น้ำมัน) มีการปรับตัวสูงขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 5.6 ซึ่งยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น อาทิ เหล็ก ถ่านหิน และปูนซีเมนต์ เป็นสำคัญ โดยสินค้าสำคัญ ที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ชีทไพล์คอนกรีต เสาเข็มคอนกรีต ท่อระบายน้ำคอนกรีต คอนกรีตผสม ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป ถังซีเมนต์สำเร็จรูป และพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 10.8 สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ยังคงสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ก็เริ่มมีแนวโน้มทิศทางที่ชะลอลง โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ และลวดเหล็ก เป็นต้น หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 4.1 จากการสูงขึ้นของบัวเชิงผนัง PVC กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น กระเบื้องแกรนิต และกระเบื้องลอนคู่ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 1.1 เนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบมีการปรับตัวสูงขึ้น โดยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ สีรองพื้นโลหะ และซิลิโคน หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.2 สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการสูงขึ้นของฝักบัวอาบน้ำ ราวแขวนผ้าติดผนัง กระจกเงา และฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูป หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 5.8 ซึ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสินค้าสำคัญที่สูงขึ้น ได้แก่ ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC สายไฟฟ้า VCT ประตูน้ำ ท่อ PVC ก๊อกน้ำ และตะแกรงกรองผง เป็นต้น เนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 4.5 จากการสูงขึ้นของ สินค้าในกลุ่มอลูมิเนียม ยางมะตอย และอิฐหินดินทราย เนื่องจากต้นทุนปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

2. เทียบกับเดือนธันวาคม 2564 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.7 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 3.5 จากการสูงขึ้นของ ไม้แบบ ไม้โครงคร่าว ไม้คาน ไม้ฝา และไม้พื้น เนื่องจากประเทศพม่ามีปัญหาการส่งออก ประเทศไทยจึงต้องประมูลไม้จากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 0.8 จากการสูงขึ้นของ ปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบมีการปรับตัวสูงขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.6 จากการสูงขึ้นของ เสาเข็มคอนกรีต ท่อระบายน้ำคอนกรีต คอนกรีตผสม และผนังคอนกรีตสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนการผลิตมีการปรับตัวสูงขึ้น หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 2.7 จากการสูงขึ้นของ บัวเชิงผนัง PVC และกระเบื้องยาง PVC ปูพื้น ตามการสูงขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 1.0 จากการสูงขึ้นของ สีรองพื้นโลหะ เนื่องจากต้นทุนมีการปรับตัวสูงขึ้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 2.0 จากการสูงขึ้นของ ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC ท่อ PVC ก๊อกน้ำ สามทางท่อประปา ข้องอ-ข้อต่อท่อประปา และประตูน้ำ เนื่องจากการสูงขึ้นของต้นทุนการผลิต หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.6 จากการสูงขึ้นของ อลูมิเนียม ยางมะตอย และอิฐหินดินทราย เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบมีการปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงลดลง ได้แก่ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 1.0 เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกเริ่มมีแนวโน้มทิศทางลดลง แต่ทั้งนี้ ราคายังคงมีความผันผวนตามอุปสงค์-อุปทานในตลาดโลก โดยสินค้าสำคัญที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กตัวซี ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี และเหล็กรางน้ำ ส่วนสินค้าหมวดสุขภัณฑ์ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง

3. แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาสินค้าหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ยังคงขยายตัวได้ดี ตามความต้องการใช้ในตลาดโลก ที่หลายประเทศเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และการคลายความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ยังมีการลดกำลังการผลิตเหล็กในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2565 เพื่อลดมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตวัสดุก่อสร้างที่ปรับสูงขึ้น ทั้งราคาน้ำมัน วัตถุดิบ และค่าแรง จะส่งผลให้ราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ฐานราคาสินค้าหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กในปีก่อนค่อนข้างสูง และมีสัดส่วนน้ำหนักค่อนข้างมาก เกือบร้อยละ 25 รวมทั้ง การเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2565 เต็มจำนวน จากเดิมที่ลดหย่อนให้ร้อยละ 90 ตั้งแต่ปี 2563-2564 อาจส่งผลกระทบต่อภาคการก่อสร้างและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และเป็นแรงกดดันต่อดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในระยะต่อไป

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ