ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมีนาคม 2565

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 5, 2022 10:59 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมีนาคม 2565 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43.8 เทียบกับระดับ 44.6 ในเดือนก่อนหน้า ปรับตัวลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากระดับ 35.1 มาอยู่ที่ระดับ 34.5 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับลดลงจากระดับ 50.9 มาอยู่ที่ระดับ 50.0 ทั้งนี้เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น และราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับ สถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์ "โอมิครอน" ยังคงแพร่ระบาดไปทั่วประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม จากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐไม่ว่าจะเป็น โครงการคนละครึ่ง โครงการยิ่งใช้ ยิ่งได้ และมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานที่ทยอยออกมา (เช่น การช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในการซื้อก๊าซหุงต้ม การช่วยเหลือค่าพลังงานให้กับ ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างและผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ การตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล เป็นต้น) ราคาสินค้าเกษตรสำคัญปรับตัวเพิ่มขึ้น และปริมาณการส่งออกของไทยที่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ยังคงเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยเฉพาะความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ที่ยังคงอยู่ในช่วงที่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค

เมื่อพิจารณาปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค พบว่า ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจไทย ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคมากที่สุดคิดเป็น ร้อยละ 33.63รองลงมาคือ ด้านภัยพิบัติ/โรคระบาด คิดเป็นร้อยละ 25.62 ด้านมาตรการของภาครัฐ คิดเป็นร้อยละ 10.30ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง คิดเป็นร้อยละ 9.13ด้านเศรษฐกิจโลก คิดเป็นร้อยละ 8.18ด้านราคาสินค้าเกษตร คิดเป็นร้อยละ 4.68 ด้านการเมือง คิดเป็นร้อยละ 4.43ด้านสังคม/ความมั่นคง ร้อยละ 3.37และด้านอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 0.65ตามลำดับ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจำแนกรายภาค

เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับตัวลดลงมากที่สุดจากระดับ 47.2 มาอยู่ที่ระดับ 45.3ภาคกลาง ปรับตัวลดลงจากระดับ 43.6 มาอยู่ที่ระดับ 43.0โดยปัจจัยที่ส่งผลความเชื่อมั่น คือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจไทย ภัยพิบัติ/โรคระบาดและมาตรการของรัฐ ภาคเหนือ ดัชนีปรับตัวลดลง จากระดับ 43.7 มาอยู่ที่ระดับ 42.9โดยปัจจัยที่ส่งผลความเชื่อมั่น คือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจไทย ภัยพิบัติ/โรคระบาด และผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ภาคใต้ ดัชนีปรับตัวลดลง จากระดับ 45.2 มาอยู่ที่ระดับ 44.4โดยปัจจัยที่ส่งผลความเชื่อมั่น คือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจไทย ภัยพิบัติ/โรคระบาด และเศรษฐกิจโลก

ขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 38.6 มาอยู่ที่ระดับ 42.0โดยปัจจัยที่ส่งผลความเชื่อมั่น คือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจไทย ภัยพิบัติ/โรคระบาด และมาตรการของรัฐ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายอาชีพ

เมื่อพิจารณาจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลุ่มอาชีพที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ได้แก่ กลุ่มพนักงานเอกชน ปรับตัวลดลงจากระดับ 41.6 มาอยู่ที่ระดับ 41.4 และกลุ่มรับจ้างอิสระ จากระดับ 42.4 มาอยู่ที่ระดับ 41.6 โดยปัจจัยที่ส่งผลความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจไทย รองลงมาคือ ภัยพิบัติ/โรคระบาด และผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ตามลำดับ

กลุ่มเกษตรกร ดัชนีปรับตัวลดลงจากระดับ 46.3 มาอยู่ที่ระดับ 45.5 โดยปัจจัยที่ส่งผลความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจไทย รองลงมาคือ ภัยพิบัติ/โรคระบาด และราคาสินค้าเกษตร ตามลำดับ

กลุ่มผู้ประกอบการ ดัชนีปรับตัวลดลงจากระดับ 45.8 มาอยู่ที่ระดับ 43.7 โดยปัจจัยที่ส่งผลความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ภัยพิบัติ/โรคระบาด และมาตรการของภาครัฐ ตามลำดับ

กลุ่มพนักงานของรัฐ จากระดับ 51.3 มาอยู่ที่ระดับ 50.7 โดยปัจจัยที่ส่งผลความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ภัยพิบัติ/โรคระบาด และเศรษฐกิจโลก

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ได้แก่ กลุ่มนักศึกษา ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 39.5 มาอยู่ที่ระดับ 41.0 โดยปัจจัยที่ส่งผลความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ภัยพิบัติ/โรคระบาด และมาตรการของภาครัฐ กลุ่มไม่ได้ทำงาน/บำนาญ จากระดับ 40.9 มาอยู่ที่ระดับ 42.9 โดยปัจจัยที่ส่งผลความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ ภัยพิบัติ/โรคระบาด เศรษฐกิจไทย และมาตรการของภาครัฐ ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากระดับ 46.0 มาอยู่ที่ระดับ 42.0

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ