ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนพฤษภาคม 2565 เท่ากับ 122.1 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2564 สูงขึ้นร้อยละ 6.5 (YoY) ซึ่งสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกเริ่มมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ราคาต้นทุนวัตถุดิบที่สำคัญอื่น ๆ ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น อาทิ น้ำมัน ถ่านหิน และอลูมิเนียม เป็นต้น ในขณะที่ด้านอุปสงค์ก็มีความต้องการสูงขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ ส่งผลให้ราคาต้นทุนวัสดุก่อสร้างมีการปรับตัวสูงขึ้น
การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง
1. เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2564 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 6.5 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 4.4 จากการสูงขึ้นของแผ่นไม้อัด ไม้แบบ ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้พื้น และไม้ฝา เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 7.6 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป ซึ่งยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง จากการปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ (ถ่านหิน และน้ำมัน) หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 5.7 จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป เสาเข็มคอนกรีต คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา และคอนกรีตผสมเสร็จ เป็นต้น เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบที่สำคัญ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ เหล็ก และน้ำมัน เป็นต้น หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 10.1 ซึ่งยังคงปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการปรับตัวสูงขึ้นในเกือบทุกกลุ่มสินค้า อาทิ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย ท่อเหล็ก และลวดผูกเหล็ก เป็นต้น หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 4.1 เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบยังคงปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สำหรับสินค้าที่มีการปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ กระเบื้องแกรนิต กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น บัวเชิงผนัง PVC และกระเบื้องลอนคู่ หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 1.1 ซึ่งยังคงสูงขึ้นเนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบมีการปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ สีรองพื้นโลหะ และซิลิโคน หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.2 สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการสูงขึ้นของฝักบัวอาบน้ำ กระจกเงา ราวแขวนผ้าติดผนัง ที่ใส่กระดาษชำระ และฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูป หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 3.5 จากการสูงขึ้นของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC สายไฟฟ้า VCT ท่อ PVC และประตูน้ำ เป็นต้น เนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบมีการปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 6.8 จากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มอลูมิเนียม และยางมะตอย เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่สำคัญมีการปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ อลูมิเนียม และน้ำมัน เป็นต้น
2. เทียบกับเดือนเมษายน 2565 (MoM) ลดลงร้อยละ 0.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 0.9 เนื่องจากราคาเหล็ก ในตลาดโลกเริ่มมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบลดลง โดยสินค้าสำคัญที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป เหล็กตัวเอช เป็นต้น ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น ได้แก่ หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 0.6 สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมัน และถ่านหิน หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.3 สูงขึ้นเล็กน้อยจากการสูงขึ้นของคานคอนกรีตสำเร็จรูป ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป ถังซีเมนต์สำเร็จรูป เสาเข็มคอนกรีต และพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบมีการปรับตัวสูงขึ้น หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของที่ปัสสาวะเซรามิก และที่ใส่สบู่ เนื่องจากราคาต้นทุนมีการปรับตัวสูงขึ้น และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของอลูมิเนียมแผ่นเรียบ และยางมะตอย เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่สำคัญ คือ น้ำมัน มีการปรับตัวสูงขึ้น ส่วนกลุ่มสินค้าที่ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หมวดกระเบื้อง หมวดวัสดุฉาบผิว และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา
3. เฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 7.4 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 4.3 จากการสูงขึ้นของไม้แบบ ไม้โครงคร่าว ไม้คาน และแผ่นไม้อัด เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 5.8 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป ซึ่งยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยวัตถุดิบที่สำคัญ ได้แก่ ถ่านหิน และน้ำมัน ปรับตัวสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 5.9 ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการสูงขึ้นของคอนกรีตผสมเสร็จ ท่อระบายน้ำคอนกรีต ชีทไพล์คอนกรีต และถังซีเมนต์สำเร็จรูป เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 14.7 จากการสูงขึ้นในเกือบทุกกลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็กเส้นผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เป็นต้น เนื่องจากราคาเหล็ก ในตลาดโลกเฉลี่ยยังคงสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 4.1 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น บัวเชิงผนัง PVC และกระเบื้องลอนคู่ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบเฉลี่ยที่ยังคงสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 1.1 ยังคงปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ สีรองพื้นโลหะ และซิลิโคน หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากการสูงขึ้นของฝักบัวอาบน้ำ กระจกเงา และฉากกั้นห้องอาบน้ำสำเร็จรูป เป็นต้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 4.6 จากการสูงขึ้นของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC สายไฟฟ้า VCT ท่อ PVC และประตูน้ำ เป็นต้น เนื่องจากราคาต้นทุนเฉลี่ยมีการปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 6.1 จากการสูงขึ้นของ สินค้าในกลุ่มอลูมิเนียม ยางมะตอย และอิฐหินดินทราย เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาต้นทุนวัตถุดิบ ได้แก่ น้ำมัน เป็นสำคัญ
4. แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมิถุนายน ปี 2565
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนมิถุนายน 2565 ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น จากราคาสินค้าในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ยังทรงตัวในระดับสูง ตามอุปทานที่มีแนวโน้มตึงตัว จากกรณีอินเดียปรับขึ้นภาษีการส่งออกสินค้าเหล็กและแร่เหล็ก รวมถึงปริมาณการผลิตเหล็กดิบโลกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (มกราคม - เมษายน 2565) ที่ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 7.1 ขณะที่อุปสงค์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายในหลายประเทศ สำหรับวัสดุก่อสร้างอื่น อาทิ ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา และยางมะตอย มีแนวโน้มสูงกว่าปีที่ผ่านมาตามต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่อยู่ในระดับสูง อาจจะส่งผลต่ออุปสงค์ของภาคการก่อสร้างและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และเป็นปัจจัยกดดันต่อดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์