ดัชนีราคาส่งออก เดือนเมษายน 2565 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 ติดต่อกัน ที่ร้อยละ 5.1(YoY) นับเป็นอัตราสูงสุดในรอบมากกว่า 10 ปีโดยเฉพาะหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 62.1 ตามราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวสูงกว่าปีก่อนหน้าต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 7.0 จากไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง ตามปริมาณผลผลิตที่ลดลง และต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น สำหรับน้ำตาลทราย เนื่องจากถูกใช้เป็นพืชพลังงานทดแทนน้ำมันที่ราคาสูงขึ้น หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.7 โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ เนื่องจากเป็นสินค้าบางส่วนเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และหมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.5 จากยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป และผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ตามความต้องการนำเข้าเพื่อบริโภค และใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องของประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น
ดัชนีราคานำเข้า เดือนเมษายน 2565 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 ติดต่อกัน อยู่ที่ร้อยละ 14.3 (YoY) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 66.2 ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และน้ำมันสำเร็จรูป ตามราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวสูงกว่าปีก่อนหน้าต่อเนื่อง หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 7.6 ได้แก่ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ตามความต้องการใช้ที่สูงขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ สำหรับปุ๋ย เนื่องจากรัสเซียจำกัดการส่งออก หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 6.4 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน โดยเฉพาะเครื่องมือสื่อสารที่มีผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีเทคโนโลยีที่สูงขึ้น และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 4.2 ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ จากต้นทุนการผลิตและความต้องการในการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 2.5 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์แนวโน้มดัชนีราคาส่งออกและนำเข้าในช่วง 8 เดือนที่เหลือของปี 2565 คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่อาจได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตร ซึ่งส่งผลราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญของโลกปรับตัวสูงขึ้น ทั้งผลกระทบทางตรง เนื่องจากสินค้าที่รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตสำคัญมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมาก เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ ปุ๋ย ข้าวสาลี เหล็ก และนิกเกิล เป็นต้น ขณะที่ผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรและการตอบโต้ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งจะเป็นผลกระทบวงกว้างที่ส่งผลต่อราคาสินค้าและต้นทุนการผลิต เช่น (1) สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและพืชพลังงานทดแทนมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น (2) สินค้าที่ใช้ทดแทนข้าวสาลีมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น (3) สินค้าทางการเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากต้นทุนปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น (4) สินค้าที่ใช้เหล็กและนิกเกิลเป็นวัตถุดิบในการผลิตมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น (5) ต้นทุนการขนส่งระหว่างประเทศมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และ (6) ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ตามความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นอัตราการค้า (Term of Trade)เดือนเมษายน 2565
อัตราการค้าของไทย ในเดือนเมษายน 2565 เท่ากับ 96.1 (เดือนมีนาคม 2565 เท่ากับ 95.2) แม้ตัวเลขอัตราการค้าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงต่ำกว่าระดับ 100 เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 สะท้อนถึงไทยมีความเสียเปรียบทางโครงสร้างราคาระหว่างประเทศ เนื่องจากระดับราคานำเข้ายังสูงกว่าราคาส่งออก ปัจจัยหลักเป็นผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคานำเข้า (ซึ่งมีสัดส่วนน้ำมันมากกว่าส่งออก) สูงขึ้นในอัตราที่มากกว่าการสูงขึ้นของราคาส่งออก รวมถึงทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับสูงขึ้นตาม ด้วยเหตุนี้ หากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จะเป็นข้อจำกัดต่อการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราการค้าไทยในระยะต่อไป 1. เทียบกับเดือนมีนาคม 2565 (MoM)สูงขึ้นร้อยละ 0.4 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 1.6 ชะลอลงมากเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ที่สูงขึ้นร้อยละ 17.3 เนื่องจากสหรัฐฯ ได้ดำเนินนโยบายปล่อยน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ของประเทศปริมาณ 180 ล้านบาร์เรล เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยลดความร้อนแรงของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกลดลงจากการล็อกดาวน์ในจีน หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 1.3 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง ราคาสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดเพื่อใช้ในการบริโภค รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์และค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้น สำหรับไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ และน้ำตาลทราย มีความต้องการใช้เพื่อเป็นพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.9 ได้แก่ ข้าว เนื่องจากความต้องการนำเข้าข้าวในหลายประเทศทั่วโลกเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการนำไปใช้ทดแทนสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ที่ราคาสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ ยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ราคาสูงขึ้นตามความต้องการใช้ของประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะความต้องการใช้มันสำปะหลังในอุตสาหกรรมเอทานอลของจีนเพื่อทดแทนน้ำมันที่ราคาสูงขึ้น สำหรับไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป และผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ราคาปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการบริโภค ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากผลของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์ และเหล็ก ตามความต้องการสินค้าของตลาดขยายตัวเพิ่มขึ้น และสินค้าบางส่วนเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น
2.เทียบกับเดือนเมษายน 2564 (YoY)สูงขึ้นร้อยละ 5.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 62.1 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ที่ร้อยละ 56.4 โดยเฉพาะราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะปรับลดลง สะท้อนถึงการปรับตัวของราคาของน้ำมันสำเร็จรูปมีความล่าช้ากว่าการปรับตัวของราคาน้ำมันดิบ ดังนั้น คาดว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปจะมีแนวโน้มชะลอลงในเดือนต่อไป หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 7.0 ได้แก่ ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ตามต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงความต้องการบริโภคที่มีอย่างต่อเนื่อง สำหรับน้ำตาลทราย ราคายังทรงตัวในระดับสูงกว่าปีก่อนหน้าค่อนข้างมาก เนื่องจากความต้องการนำอ้อยไปผลิตเอทานอลเพื่อทดแทนน้ำมันที่ราคาสูงขึ้น หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.7 จากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก รถยนต์ เคมีภัณฑ์ และเหล็ก ตามความต้องการสินค้าของประเทศคู่ค้าที่ขยายตัว และต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตปรับตัวสูงขึ้น และหมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.5 ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป และผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็ง และแห้ง ตามความต้องการนำเข้าเพื่อบริโภค และใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องของประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้น เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้วัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์หลายชนิดขาดแคลน
3. เฉลี่ยม.ค.-เม.ย. ปี 2565 เทียบกับปี 2564 (AoA)สูงขึ้นร้อยละ 4.2โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 51.2 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ตามราคาน้ำมันดิบตลาดโลกสูงขึ้น และฐานราคาน้ำมันเฉลี่ยที่ต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 5.9 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ อาหารสัตว์เลี้ยง ปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ รวมถึงความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และน้ำตาลทรายเนื่องจากความต้องการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลทดแทนน้ำมันที่ราคาสูงขึ้น หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.5 ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบตามความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัว รวมถึงเม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และเหล็ก ซึ่งเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และหมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.9 ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ราคาสูงขึ้นตามความต้องการบริโภคและใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดจีน สำหรับไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น
1. เทียบกับเดือนมีนาคม 2565 (MoM) ลดลงร้อยละ 0.5โดยมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 4.0 ได้แก่ น้ำมันดิบ เนื่องจากสหรัฐฯ ปล่อยน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ของประเทศปริมาณ 180 ล้านบาร์เรล เป็นเวลา 6 เดือน ประกอบกับและความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงจากการล็อกดาวน์ในจีน สำหรับก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ปรับตัวสูงขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งรัสเซียเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 0.4 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และรถจักรยานยนต์ สะท้อนถึงอุปสงค์ของสินค้าในบางรุ่นที่มีแนวโน้มชะลอลง และหมวดสินค้าทุน ลดลงร้อยละ 0.2 ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สะท้อนถึงความต้องการเริ่มมีทิศทางที่ลดลง ขณะที่หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 1.1 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านผลจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบหลักอย่างทองแดงและอะลูมิเนียม ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19นมและผลิตภัณฑ์นม และผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ จากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.5 ได้แก่ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ อลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ และทองแดงและผลิตภัณฑ์ ผลจากต้นทุนและค่าขนส่งที่ปรับสูงขึ้น พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ผลจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น สำหรับปุ๋ย ราคาปรับสูงขึ้น เนื่องจากรัสเซียจำกัดการส่งออก
2. เทียบกับเดือนเมษายน 2564 (YoY)สูงขึ้นร้อยละ 14.3โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 66.2 เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ที่ร้อยละ 69.2 ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และน้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากสหรัฐฯ เพิ่มปริมาณน้ำมันในตลาดโลก และความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลงจากการล็อกดาวน์ในจีนหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 7.6 ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ทองคำ ผลจากราคาน้ำมันและความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย สำหรับปุ๋ย เนื่องจากรัสเซียจำกัดการส่งออก พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช จากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 6.4 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด โดยเฉพาะเครื่องมือสื่อสารที่มีผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีเทคโนโลยีที่สูงขึ้น นมและผลิตภัณฑ์นม ผลจากความต้องการในการบริโภคเพิ่มสูงขึ้น และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 4.2 ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ จากต้นทุนการผลิตและความต้องการในการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ จากต้นทุนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ และเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน ประกอบกับภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ขณะที่หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 2.5 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
3. เฉลี่ยม.ค.-เม.ย. ปี 2565 เทียบกับปี 2564 (AoA)สูงขึ้นร้อยละ 13.0โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้นประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 61.5 ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นผลจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตร หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 7.2 ได้แก่ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ตามความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น เคมีภัณฑ์ ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้น และปุ๋ย เนื่องจากรัสเซียจำกัดการส่งออก หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 5.1 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน โดยเฉพาะเครื่องมือสื่อสาร มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น นมและผลิตภัณฑ์นม ผลจากต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ผลจากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 3.9 ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ ผลจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น เครื่องคอมพิวเตอร์ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูง และเป็นสินค้าเทคโนโลยีใหม่ นอกจากนี้ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ ราคาปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 3.2 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และรถยนต์นั่ง
อัตราการค้าของไทย ในเดือนเมษายน 2565 เท่ากับ 96.1 (เดือนมีนาคม 2565 เท่ากับ 95.2)ลดลงต่ำกว่าระดับ 100 เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แสดงถึง อัตราการค้าของไทยมีความเสียเปรียบเชิงโครงสร้างราคาระหว่างประเทศ เนื่องจากราคาส่งออกที่เสนอขายต่ำกว่าราคานำเข้าที่ซื้อเข้ามา อัตราการค้าของไทย ในเดือนเมษายน 2565 เท่ากับ 96.1 (เดือนมีนาคม 2565 เท่ากับ 95.2) แม้ตัวเลขอัตราการค้าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงต่ำกว่าระดับ 100 เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 สะท้อนถึงไทยมีความเสียเปรียบทางโครงสร้างราคาระหว่างประเทศ เนื่องจากระดับราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก ปัจจัยหลักเป็นผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกเร่งตัวสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ราคานำเข้า (ซึ่งมีสัดส่วนน้ำมันมากกว่าส่งออก) สูงขึ้นในอัตราที่มากกว่าการสูงขึ้นของราคาส่งออก รวมถึงทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับสูงขึ้นตาม ด้วยเหตุนี้ หากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังปรับตัวสูงขึ้น จะเป็นข้อจำกัดต่อการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราการค้าไทยในระยะต่อไป
สำหรับกลุ่มสินค้าที่ราคาส่งออกยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าราคานำเข้า (ได้เปรียบในอัตราการค้า) ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบขั้นกลางจากต่างประเทศในการผลิตเช่น เคมีภัณฑ์เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และกลุ่มสินค้าขั้นกลางที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศในการผลิตเช่น ผัก ผักกระป๋องและแปรรูป และของปรุงแต่งทำจากผัก ผลไม้ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และของปรุงแต่งทำจากผลไม้ และผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวและแป้ง เป็นต้น
ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก (เสียเปรียบในอัตราการค้า) ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ทองคำ นมและผลิตภัณฑ์นม และทองแดงและผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอื่น ๆ ที่ราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ แผงวงจรไฟฟ้า และสิ่งทอและเสื้อผ้า เป็นต้น
นอกจากผลกระทบระยะสั้นที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และต้นทุนการผลิตสูงขึ้นแล้ว ในระยะยาวคาดว่าดัชนีราคาส่งออกและดัชนีราคานำเข้า จะได้รับผลจากมาตรการคว่ำบาตรของทั้ง 2 ฝ่าย ที่มีการดำเนินการตอบโต้อย่างต่อเนื่อง อันจะนำไปสู่กฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือข้อจำกัดใหม่ระหว่างประเทศ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของความร่วมมือ การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศครั้งสำคัญของโลกอีกครั้ง และส่งผลต่อเนื่องต่อราคาสินค้าและต้นทุนการผลิตในระยะกลางและระยะยาวต่อไป
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์