ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนพฤษภาคม 2565 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.7 เทียบกับระดับ 45.7 ในเดือนก่อนหน้าปรับตัวลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากระดับ 36.4 มาอยู่ที่ระดับ 35.2 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับลดลงจากระดับ 52.0 มาอยู่ที่ระดับ 51.0 ทั้งนี้เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความเสี่ยงจากมาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมาตรการของภาครัฐสิ้นสุดลง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล โครงการคนละครึ่ง และโครงการยิ่งใช้ ยิ่งได้ ภัยพิบัติ/โรคระบาดที่ยังมีการระบาดอยู่ และผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้บริโภคที่มีความเชื่อมั่นดีขึ้น มองว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยวของไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นภายหลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบ และมูลค่าการส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ยังคงเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยเฉพาะความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ที่อยู่ในช่วงที่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค
เมื่อพิจารณาปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค พบว่า ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจไทย ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 40.45 รองลงมาคือ ด้านภัยพิบัติ/โรคระบาด คิดเป็นร้อยละ 13.31 ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง คิดเป็นร้อยละ 13.21 มาตรการของภาครัฐ คิดเป็นร้อยละ 11.02 เศรษฐกิจโลก คิดเป็นร้อยละ 7.99 ด้านราคาสินค้าเกษตร คิดเป็นร้อยละ5.19 ด้านการเมือง คิดเป็นร้อยละ 4.75 ด้านสังคม/ความมั่นคง ร้อยละ 3.76 และด้านอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 0.33 กลุ่มผู้บริโภคที่มีความเชื่อมั่นดีขึ้น มองว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากการภาคการท่องเที่ยว และการส่งออก ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนความเชื่อมั่น ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคที่มีความเชื่อมั่นลดลงโดยเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจไทย ภัยพิบัติ/โรคระบาด และผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจำแนกรายภาค
เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกภูมิภาค โดยเฉพาะ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ปรับตัวลดลงมากที่สุด จากระดับ 42.7มาอยู่ที่ระดับ 40.7 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย มาตรการของภาครัฐ และผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
ภาคกลาง ปรับตัวลดลงจากระดับ 46.2 มาอยู่ที่ระดับ 44.5 ภาคเหนือ จากระดับ 43.8มาอยู่ที่ระดับ 43.2 และภาคใต้ จากระดับ 47.0 มาอยู่ที่ระดับ 46.8 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และภัยพิบัติ/โรคระบาด
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับตัวลดลงจากระดับ 47.3 มาอยู่ที่ระดับ 46.4 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ภัยพิบัติ/โรคระบาด และมาตรการของภาครัฐ
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายอาชีพ
เมื่อพิจารณาจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าเกือบทุกกลุ่มอาชีพ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร ดัชนีปรับตัวลดลงจากระดับ 46.9มาอยู่ที่ระดับ 45.7โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ราคาสินค้าเกษตร และภัยพิบัติ/โรคระบาด
กลุ่มพนักงานเอกชน จากระดับ 43.9 มาอยู่ที่ระดับ 42.5 กลุ่มผู้ประกอบการ ดัชนีปรับตัวลดลงจากระดับ 46.2 มาอยู่ที่ระดับ 45.6 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และมาตรการของภาครัฐ
กลุ่มรับจ้างอิสระ ดัชนีปรับตัวลดลงจากระดับ 43.4 มาอยู่ที่ระดับ 42.5 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ภัยพิบัติ/โรคระบาด และผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
กลุ่มพนักงานของรัฐ ดัชนีปรับตัวลดลง จากระดับ 52.1 มาอยู่ที่ระดับ 50.7 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และภัยพิบัติ/โรคระบาด
กลุ่มนักศึกษา ดัชนีปรับตัวลดลงจากระดับ 43.0 มาอยู่ที่ระดับ 41.6 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย มาตรการของภาครัฐ และภัยพิบัติ/โรคระบาด
ขณะที่กลุ่มไม่ได้ทำงาน/บำนาญ ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 40.8 มาอยู่ที่ระดับ 41.9 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ภัยพิบัติ/โรคระบาด และผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
เมื่อพิจารณาจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 47.0มาอยู่ระดับ 43.9 ผู้เชี่ยวชาญ คือ ผู้ทรงคุณวุฒิทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และมีการติดตามภาวะเศรษฐกิจเป็นประจำ
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์