ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมิถุนายน 2565
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมิถุนายน 2565 เท่ากับ 120.9 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2564 สูงขึ้นร้อยละ 5.5 (YoY) โดยสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกเริ่มมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ราคาต้นทุนวัตถุดิบที่สำคัญอื่น ๆ ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น อาทิ น้ำมัน ถ่านหิน ซีเมนต์ และอลูมิเนียม เป็นต้น นอกจากนี้ สถานการณ์ด้านอุปทานก็ยังไม่มีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนในต่างประเทศ ส่งผลกระทบทั้งในด้านการผลิต โลจิสติกส์ และการส่งออก ส่งผลให้ต้นทุนวัสดุก่อสร้างยังคงมีการปรับตัวสูงขึ้น
การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง
1. เทียบกับเดือนมิถุนายน 2564 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 5.5 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 4.4 จากการสูงขึ้นของแผ่นไม้อัด ไม้แบบ ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้พื้น และไม้ฝา เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 7.8 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบและราคาพลังงาน หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 5.7 จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป เสาเข็มคอนกรีต คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา และคอนกรีตผสมเสร็จ เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ (ปูนซีเมนต์ หิน ทราย เหล็ก) และราคาน้ำมัน หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 6.2 จากการปรับตัวสูงขึ้นในเกือบทุกกลุ่มสินค้า อาทิ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย ท่อเหล็ก และลวดผูกเหล็ก ตามราคาเหล็กในตลาดโลก และราคาวัตถุดิบ (เศษเหล็ก) หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 4.6 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น กระเบื้องลอนคู่ และกระเบื้องเคลือบปูพื้น เนื่องจากราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้น (ดินขาว ทราย สี) หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 1.2 โดยสินค้าที่ปรับสูงขึ้น ได้แก่ สีรองพื้นโลหะ และซิลิโคน ตามการสูงขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากการสูงขึ้นของฝักบัวอาบน้ำ กระจกเงา ราวแขวนผ้าติดผนัง ที่ใส่กระดาษชำระ และอ่างล้างหน้าเซรามิก หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 3.3 จากการสูงขึ้นของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC สายไฟฟ้า VCT ท่อ PVC และประตูน้ำ ตามการสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบ (เม็ดพลาสติก ทองแดง) และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 7.1 จากการสูงขึ้นของ อิฐ หิน ดิน ทราย อลูมิเนียม ตามความต้องการใช้ในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น และยางมะตอย สูงขึ้นตามราคาปิโตรเลียม
2. เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2565 (MoM) ลดลงร้อยละ 1.0 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 3.8 เป็นผลจากการลดลงของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป เหล็กตัวเอช และเหล็กตัวซี ตามราคาเหล็กในตลาดโลก และราคาวัตถุดิบ (เศษเหล็ก) มีแนวโน้มลดลง และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัทพ์ PVC และท่อ PVC ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น ได้แก่ หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 0.2 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนซีเมนต์ผสม เนื่องจากการต้นทุนสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน และถ่านหิน หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป ถังซีเมนต์สำเร็จรูป และท่อระบายน้ำคอนกรีต เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น (ซีเมนต์ หิน ทราย เหล็ก) หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.5 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิตและครอบสันโค้ง เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของสีรองพื้นปูน และสีเคลือบน้ำมัน เนื่องจากราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้นตามราคาปิโตรเลียม หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.2 จากการสูงขึ้นของอ่างล้างหน้าเซรามิก และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.2 จากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่ม อิฐ หิน และทราย เนื่องจากความต้องการใช้ในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น ส่วนหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง
3. เฉลี่ย 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 7.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 4.4 จากการสูงขึ้นของไม้แบบ ไม้โครงคร่าว ไม้คาน และแผ่นไม้อัด เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้น หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 6.0 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน และถ่านหิน หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 5.9 จากการสูงขึ้นของคอนกรีตผสมเสร็จ ท่อระบายน้ำคอนกรีต ชีทไพล์คอนกรีต และเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง ตามการสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบ (ซีเมนต์ หิน ทราย เหล็ก) หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 13.3 จากการสูงขึ้นในเกือบทุกกลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กตัวซี เหล็กตัวเอช ลวดผูกเหล็ก ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ตามราคาเหล็ก ในตลาดโลกที่สูงขึ้น หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 4.2 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น และบัวเชิงผนัง PVC เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ (ดินขาว สี) และราคาพลังงาน หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 1.1 จากการสูงขึ้นของสีรองพื้นโลหะ และซิลิโคน เนื่องจากราคาต้นทุนสูงขึ้นตามราคาปิโตรเลียม หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.2 จากการสูงขึ้นของฝักบัวอาบน้ำ อ่างล้างหน้าเซรามิก และที่ใส่กระดาษชำระ หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 4.4 จากการสูงขึ้นของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC สายไฟฟ้า VCT ท่อ PVC และประตูน้ำ เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ (เม็ดพลาสติก ทองแดง) หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 6.3 จากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มอลูมิเนียม ยางมะตอย ตามราคาน้ำมัน และอิฐ หิน ดิน ทราย เนื่องจากการความต้องการใช้ในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น
4. ไตรมาสที่ 2 ปี 2565 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 6.9 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 4.4 จากการสูงขึ้นของไม้พื้น ไม้ฝา ไม้โครงคร่าว ไม้คาน และไม้แบบ เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้น หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 7.4 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 6.0 จากการปรับตัวสูงขึ้นในเกือบทุกกลุ่มสินค้า ได้แก่ เสาเข็มคอนกรีต คานคอนกรีต และคอนกรีตผสมเสร็จ เนื่องจากราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้น (ซีเมนต์ หิน ทราย เหล็ก) หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 11.7 จากการปรับตัวสูงขึ้นในเกือบทุกกลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ตามการสูงขึ้นของราคาเหล็กในตลาดโลก หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 4.3 จากการสูงขึ้นในกลุ่มกระเบื้องปูพื้น และกระเบื้องลอนคู่ เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้น หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 1.1 จากการสูงขึ้นของสีรองพื้นโลหะ และซิลิโคน หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ซึ่งสูงขึ้นเล็กน้อย จากการสูงขึ้นของฝักบัวอาบน้ำ และที่ใส่กระดาษชำระ หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 3.7 จากการสูงขึ้นของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC ท่อ PVC และสายไฟฟ้า VCT และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 6.7 จากการสูงขึ้นของอิฐ หิน ดิน ทราย เนื่องจากความต้องการใช้ในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น อลูมิเนียม และยางมะตอย สูงขึ้นตามราคาปิโตรเลียม
5. ไตรมาสที่ 2 ปี 2565 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) สูงขึ้นร้อยละ 3.5 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 0.6 ซึ่งสูงขึ้นเล็กน้อยจากการสูงขึ้นของไม้แบบ ไม้โครงคร่าว ไม้คาน และแผ่นไม้อัด เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้น หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 3.0 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป ซึ่งยังคงสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นตามราคาถ่านหิน และน้ำมัน หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 1.7 จากการสูงขึ้นในเกือบทุกกลุ่มสินค้า ได้แก่ คอนกรีตผสมเสร็จ เสาเข็มคอนกรีต และชีทไพล์คอนกรีต เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น (ซีเมนต์ หิน ทราย เหล็ก) หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 8.9 จากการสูงขึ้นในเกือบทุกกลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็กเส้นผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ตามการสูงขึ้นของราคาเหล็กในตลาดโลกและวัตถุดิบ (เศษเหล็ก) หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.2 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต และครอบสันโค้ง เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของอ่างล้างหน้าเซรามิก ที่ใส่สบู่ และที่ใส่กระดาษชำระ หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 1.4 จากการสูงขึ้นของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC สายไฟฟ้า VCT ท่อ PVC ถังเก็บน้ำ และประตูน้ำ เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ (เม็ดพลาสติก ทองแดง) หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 2.3 จากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มอลูมิเนียม และยางมะตอย ตามราคาน้ำมัน ส่วนหมวดวัสดุฉาบผิว ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง
6. แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างไตรมาส 3 ปี 2565
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างไตรมาส 3 ปี 2565 มีแนวโน้มสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามการสูงขึ้นของสินค้าในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ยังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากปริมาณการผลิตเหล็กดิบโลกในช่วงที่ผ่านมายังคงลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ราคาวัสดุก่อสร้างอื่น อาทิ ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา และยางมะตอย ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าปีที่ผ่านมาตามต้นทุนการผลิต ค่าขนส่งและโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กยังคงได้รับปัจจัยกดดันจากอุปสงค์โลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ประกอบกับเศรษฐกิจจีนที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่จากการผ่อนคลายมาตรการ Zero Covid และแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวของไทย อาจส่งผลต่ออุปสงค์ของภาคการก่อสร้างและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และมีผลต่อระดับราคาวัสดุก่อสร้างในประเทศ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์