ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมิถุนายน 2565 ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.3 จากระดับ 44.7 ในเดือนก่อนหน้า โดยปรับลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับลดลงจากระดับ 35.2 มาอยู่ที่ระดับ 34.4 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับลดลงจากระดับ 51.0 มาอยู่ที่ระดับ 50.9 สาเหตุมาจากประชาชนมีความกังวลกับราคาสินค้าและบริการมีราคาสูงขึ้น ขณะที่รายได้เท่าเดิมหรือลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ประกอบกับการได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในยูเครน ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะราคาพลังงานและสินค้าอุปโภคบริโภคที่สูงขึ้น จึงทำให้การผลิตสินค้าในห่วงโซ่อุปทานมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และส่งผ่านไปยังผู้บริโภคที่ต้องซื้อสินค้าราคาแพงขึ้นในท้ายที่สุด อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้บริโภคที่มีความเชื่อมั่นดีขึ้น มองว่าสถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลายลงและภาครัฐมีการออกนโยบายที่เป็นประโยชน์ช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้ดีขึ้น อาทิ (1)ด้านการท่องเที่ยวที่มีการเปิดประเทศทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้น (2)การปลดล็อกสถานบันเทิง รวมถึงสถานศึกษากลับมาจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องและการค้าบริเวณใกล้เคียงกลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้ง และ(3)มูลค่าการส่งออกของไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องยังคงเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยเฉพาะความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ยังอยู่ในช่วงที่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจของไทย
เมื่อพิจารณาปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค พบว่า ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจไทย ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 39.71 รองลงมาคือ ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง คิดเป็นร้อยละ 19.18 มาตรการของภาครัฐคิดเป็นร้อยละ 10.00เศรษฐกิจโลก คิดเป็นร้อยละ 9.52ด้านภัยพิบัติ/โรคระบาด คิดเป็นร้อยละ 7.88ด้านราคาสินค้าเกษตร คิดเป็นร้อยละ 5.61 ด้านการเมือง คิดเป็นร้อยละ 4.17ด้านสังคม/ความมั่นคง ร้อยละ 3.53และด้านอื่น ๆคิดเป็นร้อยละ 0.40 กลุ่มผู้บริโภคที่มีความเชื่อมั่นดีขึ้น มองว่าเศรษฐกิจไทย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และเศรษฐกิจโลก เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคที่มีความเชื่อมั่นลดลงโดยเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจไทย ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และมาตรการของรัฐ เป็นปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่น
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจำแนกรายภาค
เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ภาคใต้ ดัชนีปรับตัวลดลงจากระดับ 46.8 มาอยู่ที่ระดับ 44.2 ภาคกลาง ปรับตัวลดลงจากระดับ 44.5 มาอยู่ที่ระดับ 43.5 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และเศรษฐกิจโลก ภาคเหนือ จากระดับ 43.2 มาอยู่ที่ระดับ 42.1 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และมาตรการของรัฐ
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขี้น ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑลปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 40.7 มาอยู่ที่ระดับ 44.2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 46.4 มาอยู่ที่ระดับ 46.8โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และมาตรการของภาครัฐ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายอาชีพ
เมื่อพิจารณาจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร ดัชนีปรับตัวลดลงจากระดับ 45.7 มาอยู่ที่ระดับ 45.4โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ราคาสินค้าเกษตร และผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
กลุ่มพนักงานเอกชน ดัชนีปรับตัวลดลงจาก 42.5 มาอยู่ที่ระดับ 42.2 กลุ่มผู้ประกอบการ จากระดับ 45.6 มาอยู่ที่ระดับ 44.8 กลุ่มพนักงานของรัฐจากระดับ 50.7มาอยู่ที่ระดับ 49.3โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และเศรษฐกิจโลก
กลุ่มไม่ได้ทำงาน/บำนาญ ดัชนีปรับตัวลดลงจากระดับ 41.9 มาอยู่ที่ระดับ 41.4 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทยผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และมาตรการของรัฐ
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ได้แก่ กลุ่มรับจ้างอิสระ ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 42.5 มาอยู่ที่ระดับ 42.8 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย มาตรการของภาครัฐ และผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
กลุ่มนักศึกษา ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 41.6 มาอยู่ที่ระดับ 43.4 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ภัยพิบัติ/โรคระบาด และผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
เมื่อพิจารณาจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงจากระดับ 43.9 มาอยู่ที่ระดับ 41.8
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์