ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกรกฎาคม 2565

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 5, 2022 14:47 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนกรกฎาคม 2565 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 114.7 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2564 สูงขึ้นร้อยละ 12.2 (YoY) เป็นผลมาจากการปรับสูงขึ้นของต้นทุนการผลิต ทั้งราคาวัตถุดิบและราคาพลังงานเป็นหลัก ประกอบกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากทั่วโลกมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยราคาสินค้าของผู้ผลิตมีการปรับสูงขึ้นทั้ง 3 หมวดหลัก ประกอบด้วย หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 10.5 จากกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์อาหาร เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 61.5 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และแร่โลหะ และหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 10.8 เป็นผลจากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า หัวมันสำปะหลังสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ผลปาล์มสด สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ และผลิตภัณฑ์จากการประมง

1. เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2564 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 12.2 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 10.5 จากการสูงขึ้นของอุตสาหกรรมสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 น้ำมันเตา น้ำมันก๊าดและก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ซึ่งเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันและก๊าซในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ ไก่สด มันเส้น น้ำมันปาล์มดิบ ปลาทูน่ากระป๋อง น้ำสับปะรด และน้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ เนื่องจากราคาวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตปรับสูงขึ้น ประกอบกับปริมาณวัตถุดิบมีน้อย ขณะที่ความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟ และปุ๋ยเคมีผสม เนื่องจากราคาวัตถุดิบและราคาอ้างอิงตลาดต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) จากการปรับโครงสร้างต้นทุนสินค้าใหม่และเงินบาทที่อ่อนค่าลง กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ เนื่องจากราคาปรับตามตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง น้ำยางข้น ยางแผ่นรมควันและบรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ เนื่องจากราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้น กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถยนต์นั่ง รถบรรทุก และชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับรถยนต์ เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ประกอบกับผู้ผลิตบางรายมีการปรับเปลี่ยนรถเป็นรูปโฉมใหม่ นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับราคาสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบและต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตอื่นๆ ประกอบด้วย กลุ่มเครื่องจักรและเครื่องมือ ได้แก่ เครื่องเก็บเกี่ยว กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ สิ่งทอจากฝ้าย (ด้าย/ผ้า) สิ่งทอจากใยสังเคราะห์ (เส้นใย/ด้าย/ผ้า) และผ้าดิบ กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ กระดาษคร๊าฟท์ เยื่อกระดาษ และกล่องกระดาษ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ ได้แก่ ปูนเม็ด เสาเข็มคอนกรีต และปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ กลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เหล็กแผ่น ลวดแรงดึงสูง เหล็กฉาก และเหล็กเส้น กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ ได้แก่ ประตูเหล็ก กระป๋อง กุญแจ และตะปู/สกรู/น๊อต หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 61.5 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และแร่โลหะ (แร่สังกะสี ดีบุก เหล็ก และวุลแฟรม) ซึ่งเป็นไปตามทิศทางเดียวกับราคาตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น เนื่องจากอุปทานของน้ำมันดิบลดลงจากมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 10.8 จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า และหัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ และพืชผัก (ต้นหอม หน่อไม้ฝรั่ง ผักกวางตุ้ง กะหล่ำดอก ผักบุ้ง ผักขึ้นฉ่าย) เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลง กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ผลปาล์มสด เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะด้านพลังงาน กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับต้นทุนการเลี้ยงที่สูงขึ้นส่งผลให้เกษตรกรชะลอการเลี้ยง ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาอาหารสัตว์ และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาหมึกกล้วย กุ้งแวนนาไม ปูม้า ปลาทรายแดง ปลาลัง ปลากะพง และหอยนางรม เนื่องจากปีนี้มีมรสุมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับการบริโภคเพิ่มขึ้นจากการที่ร้านอาหารและสถานบันเทิงกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง กลุ่มผลไม้ ได้แก่ กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า และลองกอง เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

2. เทียบกับเดือนมิถุนายน 2565 (MoM) ลดลงร้อยละ 1.3 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.6 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91,95 น้ำมันเตา ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และน้ำมันก๊าด ซึ่งเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับราคาตลาดโลกที่ปรับลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัว จึงส่งผลกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมัน กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก ก๊าซออกซิเจน และไนโตรเจน ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สำหรับปุ๋ยเคมีผสม เนื่องจากผู้ผลิตบางรายมีต้นทุนราคาแม่ปุ๋ยที่ปรับลดลงตามราคาตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้น ยางแท่ง ท่อและข้อต่อทำด้วยพลาสติก ปรับลดลงตามราคาวัตถุดิบยางพาราและเม็ดพลาสติก กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ ซึ่งราคาปรับลดลงตามตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ น้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เนื่องจากวัตถุดิบผลปาล์มสดปรับราคาลดลง และกลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เหล็กเส้น เหล็กลวด เหล็กรูปตัวซี และท่อเหล็กกล้า ราคาปรับลดลงตามต้นทุนวัตถุดิบ หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลงร้อยละ 2.1 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอินโดนีเซียหันมาส่งออกน้ำมันปาล์มอีกครั้ง และยางพารา เนื่องจากปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากฝนตกอย่างต่อเนื่องทำให้ความชื้นสูง ราคาจึงปรับตัวลดลง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากโรงงานมีสต๊อกที่เพียงพอจึงเสนอรับซื้อในราคาต่ำ และผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาหมึกกล้วย ปลาทรายแดง กุ้งทะเล และหอยแมลงภู่ ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 8.1 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และแร่โลหะ (แร่เหล็ก วุลแฟรม) ตามภาวะตลาดโลก

3. เฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค. ? ก.ค.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 11.7 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 10.5 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 64.4 หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 6.8

4. แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนสิงหาคม ปี 2565

ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนสิงหาคม 2565 มีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง จากหลายปัจจัย ได้แก่ 1) ต้นทุนการผลิต ตามราคาก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และราคาน้ำมันที่แม้จะปรับตัวลงเล็กน้อยในเดือนที่ผ่านมา แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อน รวมทั้ง ราคาปุ๋ย อาหารสัตว์ วัตถุดิบ และค่าขนส่ง 2) ต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นจากเงินบาทที่อ่อนค่าลง และ 3) อุปสงค์ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยว การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 การส่งออก และราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การแพร่ระบาดของโควิด-19 และโรคฝีดาษวานร ที่เริ่มกระจายไปทั่วโลก รวมทั้งการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดในหลายประเทศ อาจส่งผลต่อความต้องการสินค้าและบริการ ซึ่งจะกระทบต่อภาคการผลิตและดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทยตามลำดับ ทั้งนี้ จะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่าดัชนีหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 5.0 20.8 และ 32.6 ตามลำดับ โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับสูงขึ้นตามวัตถุดิบ ได้แก่ ผลปาล์มสด น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ หัวมันสำปะหลังสด มันเส้น/มันอัดเม็ด/แป้งมันสำปะหลัง อ้อย น้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว และ น้ำยางสด/ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน/ยางแท่ง ยางล้อ/ยางรัดของ เนื่องจากความต้องการของตลาดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ