ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกรกฎาคม 2565 เท่ากับ 45.5
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนกรกฎาคม 2565 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 45.5 จากระดับ 44.3 ในเดือนก่อนหน้า โดยปรับเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 50.9 มาอยู่ที่ระดับ 51.9 ซึ่งอยู่ในช่วงมีความเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 ทั้งนี้เป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากมูลค่าการส่งออกของไทยขยายตัวต่อเนื่อง (มิถุนายน 2565 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 11.9%) มาตรการภาครัฐที่เป็นประโยชน์ช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้ดีขึ้น อาทิการเปิดประเทศทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้น การขยายเวลาโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และทัวร์เที่ยวไทย โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม -ตุลาคม 2565 การเปิดสถานบันเทิงทั่วประเทศ เช่น ผับ บาร์ คาราโอเกะ ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565 ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (โดยเฉพาะในกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์) ปรับตัวลดลงในเดือนนี้ ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 34.4 มาอยู่ที่ระดับ 36.0 ซึ่งยังคงอยู่ในช่วงไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากประชาชนยังคงมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผันผวน และมาตรการของภาครัฐ
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค
เมื่อพิจารณาปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค พบว่า ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจไทย ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 40.21รองลงมาคือ ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง คิดเป็นร้อยละ 15.25 มาตรการของภาครัฐคิดเป็นร้อยละ 10.65เศรษฐกิจโลก คิดเป็นร้อยละ 9.88ด้านภัยพิบัติ/โรคระบาด คิดเป็นร้อยละ 8.74ด้านราคาสินค้าเกษตร คิดเป็นร้อยละ 6.53ด้านการเมือง คิดเป็นร้อยละ 4.49ด้านสังคม/ความมั่นคง ร้อยละ 3.82และด้านอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 0.43 กลุ่มผู้บริโภคที่มีความเชื่อมั่นดีขึ้น มองว่าเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก และผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคที่มีความเชื่อมั่นลดลงเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจไทย ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และมาตรการของภาครัฐ เป็นปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่น
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจำแนกรายภาค
เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขี้นได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 46.8 มาอยู่ที่ระดับ 47.4 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย มาตรการของรัฐ และราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
ภาคใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 44.2 มาอยู่ที่ระดับ 46.6 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และเศรษฐกิจโลก
ภาคกลาง จากระดับ 43.5 มาอยู่ที่ระดับ 44.8 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และภัยพิบัติ/โรคระบาด
ภาคเหนือ จากระดับ 42.1 มาอยู่ที่ระดับ 43.4 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก เศรษฐกิจไทย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และมาตรการของรัฐ
ขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลง จากระดับ 44.2 มาอยู่ที่ระดับ 43.4 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และมาตรการภาครัฐ
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายอาชีพ
เมื่อพิจารณาจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ได้แก่กลุ่มพนักงานของรัฐ จากระดับ 49.3 มาอยู่ที่ระดับ51.6โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และเศรษฐกิจโลก
เกษตรกร ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 45.4 มาอยู่ที่ระดับ 46.4โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ราคาสินค้าเกษตร และผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
กลุ่มผู้ประกอบการ จากระดับ 44.8 มาอยู่ที่ระดับ46.0กลุ่มพนักงานเอกชน จากระดับ 42.2 มาอยู่ที่ระดับ 43.7 และกลุ่มรับจ้างอิสระ จากระดับ 42.8 มาอยู่ที่ระดับ 43.3 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและมาตรการของรัฐ
กลุ่มนักศึกษา จากระดับ 43.4มาอยู่ที่ระดับ 45.5โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย มาตรการของรัฐและภัยพิบัติ/โรคระบาด
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ได้แก่ กลุ่มไม่ได้ทำงาน/บำนาญ ดัชนีปรับตัวลดลงจากระดับ 41.4 มาอยู่ที่ระดับ 40.3 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทยผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และมาตรการของรัฐ
เมื่อพิจารณาจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 41.8 มาอยู่ที่ระดับ 46.7
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์