ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนสิงหาคม 2565 เท่ากับ 119.5 เทียบกับเดือนสิงหาคม 2564 สูงขึ้นร้อยละ 5.2 (YoY) ยังคงสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสินค้าสำคัญที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ผลิตภัณฑ์คอนกรีต และซีเมนต์ เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน และค่าเงินบาทอ่อน
เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2565 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างลดลงร้อยละ 0.4 (MOM) ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากราคาสินค้าหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กมีทิศทางลดลง สอดคล้องกับราคาเหล็กในตลาดโลก เนื่องจากประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ประสบปัญหาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซบเซา อีกทั้ง สภาพภูมิอากาศและปัญหาอุทกภัย ก็เป็นปัจจัยส่งผลให้อุปสงค์ลดลง ประกอบกับสถานการณ์ในต่างประเทศทำให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตวัสดุก่อสร้างและอุตสาหกรรมการก่อสร้างเกิดการชะลอตัว
การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง
1. เทียบกับเดือนสิงหาคม 2564 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 5.2 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 8.2 จากการสูงขึ้นของแผ่นไม้อัด ไม้แบบ ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้พื้น ไม้ฝา และวงกบ-บานประตู เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นจากราคาพลังงานและค่าขนส่ง หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 7.8 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นทั้งจากราคาวัตถุดิบ (ดินขาว ยิปชั่ม) และราคาพลังงาน (ปิโตรเลียม ถ่านหิน) หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 4.9 จากการสูงขึ้นเกือบทุกกลุ่มสินค้า ได้แก่ ชีทไพล์คอนกรีต ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป เสาเข็มคอนกรีต และคอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา เป็นต้น ตามราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น อาทิ ปูนซีเมนต์ หิน ทราย เหล็ก และต้นทุนพลังงาน หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 4.2 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่เริ่มมีแนวโน้มชะลอลง โดยสินค้าสำคัญที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย ชีทไพล์เหล็ก เหล็กฉาก และลวดผูกเหล็ก เป็นต้น ตามอุปสงค์ในประเทศ หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 4.7 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต บัวเชิงผนัง PVC และกระเบื้องยาง PVC ปูพื้น เป็นต้น ยังคงมีปัจจัยหลักจากราคาวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้น (ดินขาว ทราย สี) และราคาพลังงาน หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 2.4 โดยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ สีรองพื้นโลหะ ซิลิโคน และสีเคลือบน้ำมัน เป็นต้น เนื่องจากราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิต หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.4 โดยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ที่ใส่กระดาษชำระ อ่างล้างหน้าเซรามิก และที่ใส่สบู่ เนื่องจากการต้นทุนสูงขึ้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 3.2 โดยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC สายไฟฟ้า VCT ท่อ PVC และประตูน้ำ เป็นต้น ตามการสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบ ได้แก่ เม็ดพลาสติก และทองแดง และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 6.7 จากการสูงขึ้นของยางมะตอย อิฐ หิน ดิน ทราย และอลูมิเนียม ตามการสูงขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบและพลังงาน
2. เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2565 (MoM) ลดลงร้อยละ 0.4 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 2.4 จากการลดลงของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กแผ่นเรียบดำ และเหล็กตัวซี เป็นต้น ตามราคาเหล็กในตลาดโลกโดยเฉพาะประเทศจีน ที่มีแนวโน้มลดลง หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัทพ์ PVC ท่อ PVC สามทางท่อประปา และข้องอท่อประปา และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 0.4 จากการลดลงของยางมะตอย ตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ลดลง รวมทั้งความต้องการใช้ลดลง เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน ในขณะที่หมวดสินค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น ได้แก่ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 3.6 จากการสูงขึ้นแผ่นไม้อัด ไม้แบบ ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้พื้น ไม้ฝา และวงกบ-บานประตู เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าเพิ่มขึ้น (ค่าขนส่ง ค่าตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวาง) หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 0.1 โดยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนฉาบสำเร็จรูป และปูนซีเมนต์ผสม จากความต้องการใช้ในการก่อสร้างโครงการภาครัฐที่ดำเนินการต่อเนื่อง หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 1.1 จากการสูงขึ้นของสีรองพื้นโลหะ สีทาถนน ชนิดสะท้อนแสง และสีรองพื้นปูน เป็นต้น เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้นตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี รวมทั้งความต้องการใช้ในการปรับปรุงบ้านมือสองเพิ่มขึ้น และหมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.2 สูงขึ้นเล็กน้อย จากการสูงขึ้นของที่ใส่กระดาษชำระ ที่ใส่สบู่ และที่ปัสสาวะเซรามิก ส่วนหมวดสินค้าที่ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต และหมวดกระเบื้อง
3. เฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 6.7 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 4.8 จากการสูงขึ้นของไม้แบบ ไม้โครงคร่าว ไม้คาน และแผ่นไม้อัด เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นตามราคาพลังงาน และค่าใช้จ่ายการนำเข้าเพิ่มขึ้น หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 6.5 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทั้งจากราคาวัตถุดิบและราคาพลังงาน หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 5.7 จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต คอนกรีตผสมเสร็จ และเสาเข็มคอนกรีต เป็นต้น ตามการสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบ ได้แก่ ซีเมนต์ เหล็ก และราคาพลังงาน หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 11.6 จากการสูงขึ้นในเกือบทุกกลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ท่อเหล็ก และลวดผูกเหล็ก เป็นต้น ตามต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 4.3 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต บัวเชิงผนัง PVC และกระเบื้องยาง PVC ปูพื้น เป็นต้น เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ และราคาพลังงาน หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 1.3 จากการสูงขึ้นของสีรองพื้นโลหะ ซิลิโคน และสีเคลือบน้ำมัน เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้นตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของราวแขวนผ้าติดหนัง ที่ใส่กระดาษชำระ และฝักบัวอาบน้ำ เป็นต้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 4.1 จากการสูงขึ้นของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC สายไฟฟ้า VCT ท่อ PVC และประตูน้ำ เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ (เม็ดพลาสติก ทองแดง) และราคาพลังงาน และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 6.4 สินค้าที่สูงขึ้น ได้แก่ ยางมะตอย ตามการสูงขึ้นของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม สินค้าในกลุ่มอลูมิเนียมปรับตัวสูงขึ้น จากผลกระทบด้านอุปทานและอัตราแลกเปลี่ยน และสินค้าในกลุ่ม อิฐ หิน ดิน และทราย ต้นทุนสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์