ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนสิงหาคม 2565 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 46.3 จากระดับ 45.5 ในเดือนก่อนหน้า โดยปรับเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ที่อยู่ใน ช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 และปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 51.9 มาอยู่ที่ระดับ 52.6 สาเหตุจากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ ประกอบกับมูลค่าการส่งออกของไทยที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้การเปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่จัดการเรียนการสอนแบบปกติในห้องเรียน ทำให้ร้านค้าและผู้ประกอบการบริเวณใกล้เคียงได้รับประโยชน์ สำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจการท่องเที่ยวมีทัศนคติเชิงบวกต่อภาวะเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เนื่องจากนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นและการเริ่มเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยวช่วงปลายปี นอกจากนี้ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลงยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน แม้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 36.0 มาอยู่ที่ระดับ 36.9 แต่ยังคงอยู่ในช่วงไม่เชื่อมั่น เนื่องจากประชาชนยังคงมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผันผวน และมาตรการของภาครัฐซึ่งมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค
เมื่อพิจารณาปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค พบว่า ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจไทย ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 43.28รองลงมาคือ ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง คิดเป็นร้อยละ 12.06 มาตรการของภาครัฐคิดเป็นร้อยละ 11.20เศรษฐกิจโลก คิดเป็นร้อยละ 9.31ด้านภัยพิบัติ/โรคระบาด คิดเป็นร้อยละ 8.14ด้านราคาสินค้าเกษตร คิดเป็นร้อยละ 6.51ด้านการเมือง คิดเป็นร้อยละ 4.88ด้านสังคม/ความมั่นคง ร้อยละ 4.28และด้านอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 0.35 กลุ่มผู้บริโภคที่มีความเชื่อมั่นดีขึ้น มองว่าเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก และผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคที่มีความเชื่อมั่นลดลงเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจไทย ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และมาตรการของภาครัฐ เป็นปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่น
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจำแนกรายภาค
เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขี้นได้แก่ ภาคกลาง จากระดับ 44.8 มาอยู่ที่ระดับ 45.1ภาคใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 46.6 มาอยู่ที่ระดับ 46.7โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และเศรษฐกิจโลก
ภาคเหนือ จากระดับ 43.4 มาอยู่ที่ระดับ 44.7โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3อันดับแรก เศรษฐกิจไทย ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และมาตรการของรัฐ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 47.4มาอยู่ที่ระดับ 49.3โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย มาตรการของรัฐ และเศรษฐกิจโลก
ขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลง จากระดับ 43.4 มาอยู่ที่ระดับ 43.1โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย มาตรการของรัฐ และเศรษฐกิจโลก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายอาชีพ
เมื่อพิจารณาจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 46.4มาอยู่ที่ระดับ 47.1โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ราคาสินค้าเกษตรและภัยพิบัติ/โรคระบาด
กลุ่มพนักงานของรัฐ จากระดับ 51.6 มาอยู่ที่ระดับ 52.1โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และมาตรการของรัฐ
กลุ่มผู้ประกอบการ จากระดับ 46.0 มาอยู่ที่ระดับ48.6 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และเศรษฐกิจโลก
กลุ่มไม่ได้ทำงาน/บำนาญ จากระดับ 40.3มาอยู่ที่ระดับ 42.2 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ภัยพิบัติ/โรคระบาด และมาตรการของรัฐ
รับจ้างอิสระ จากระดับ 43.3 มาอยู่ที่ระดับ 44.7โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย มาตรการของรัฐ และผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า ได้แก่ กลุ่มพนักงานเอกชน ดัชนีปรับตัวลดลง จากระดับ 43.7มาอยู่ที่ระดับ 43.2โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและมาตรการของรัฐ
กลุ่มนักศึกษา จากระดับ 45.5 มาอยู่ที่ระดับ 44.9 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทยมาตรการของรัฐ และภัยพิบัติ/โรคระบาด
เมื่อพิจารณาจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 46.7 มาอยู่ที่ระดับ48.0
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์