ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2565
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกันยายน 2565 เท่ากับ 119.5 เทียบกับเดือนกันยายน 2564 สูงขึ้นร้อยละ 5.2 (YoY) ยังคงสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าสำคัญอย่าง เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ผลิตภัณฑ์คอนกรีต และซีเมนต์ ราคาปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 4.4 4.8 และ 8.1 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ เหล็ก ปูน และถ่านหิน เป็นต้น ประกอบกับราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ราคาวัสดุก่อสร้างค่อนข้างทรงตัว ถึงแม้ราคาวัตถุดิบจะยังคงปรับตัวสูงขึ้น แต่เนื่องจากสภาพภูมิอากาศและปัญหาอุทกภัยทำให้ความต้องการลดลง อีกทั้งราคาวัตถุดิบในกลุ่มโลหะ ได้แก่ อลูมิเนียม ทองแดง ก็เริ่มมีการปรับตัวลดลง ส่งผลให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างมีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา
การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง
1. เทียบกับเดือนกันยายน 2564 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 5.2 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 8.2 จากการสูงขึ้นของแผ่นไม้อัด ไม้แบบ ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้พื้น ไม้ฝา และวงกบ-บานประตู เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 8.1 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนมีการปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งจากต้นทุนราคาวัตถุดิบและราคาพลังงาน หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 4.8 จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป เสาเข็มคอนกรีต และคอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ และต้นทุนด้านพลังงาน มีการปรับตัวสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 4.4 ยังคงมีการปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสินค้าสำคัญที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย ชีทไพล์เหล็ก เหล็กฉาก และลวดผูกเหล็ก เป็นต้น ตามสถานการณ์ราคาเหล็กในตลาดโลกที่ยังคงมีความผันผวน หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 4.7 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต บัวเชิงผนัง PVC กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น และครอบสันโค้ง ยังคงมีปัจจัยหลักจากราคาวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (ดินขาว ทราย สี) หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 2.7 โดยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ สีรองพื้นโลหะ ซิลิโคน และสีเคลือบน้ำมัน เป็นต้น เนื่องจากราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.4 โดยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ที่ใส่กระดาษชำระ อ่างล้างหน้าเซรามิก และที่ใส่สบู่ เนื่องจากต้นทุนมีการปรับตัวสูงขึ้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 1.9 ซึ่งสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ท่อ PE ถังเก็บน้ำสแตนเลส ประตูน้ำ และ ข้อต่อ-ข้องอท่อประปา เป็นต้น และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 7.0 จากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มอลูมิเนียม อิฐ หิน ดิน ทราย และยางมะตอย ตามการสูงขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบและราคาพลังงาน
2. เทียบกับเดือนสิงหาคม 2565 (MoM) ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ซึ่งสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนฉาบสำเร็จรูป และปูนซีเมนต์ผสม หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ซึ่งสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จากการสูงขึ้นของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย และลวดผูกเหล็ก ตามราคาเหล็กในตลาดโลกและต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทั้งวัตถุดิบ (เศษเหล็ก บิลเล็ต) และต้นทุนพลังงาน (ไฟฟ้า) ที่ยังคงมีความผันผวน หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.3 สูงขึ้นเล็กน้อย จากการสูงขึ้นของสีทาถนน ชนิดสะท้อนแสง และสีรองพื้นปูน-โลหะ เป็นต้น เนื่องจากราคาวัตถุดิบมีการปรับตัวสูงขึ้นตามราคาปิโตรเลียม และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ลดลงร้อยละ 1.3 จากการลดลงของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC ท่อ PVC สามทางท่อประปา และข้องอท่อประปา เนื่องจากราคาวัตถุดิบ (ทองแดง) ลดลง ส่วนหมวดสินค้าที่ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต หมวดกระเบื้อง หมวดสุขภัณฑ์ และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ
3. เฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 6.6 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 5.2 จากการสูงขึ้นของไม้แบบ ไม้โครงคร่าว ไม้คาน และแผ่นไม้อัด เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งมีการปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 6.6 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากราคาวัตถุดิบและราคาพลังงาน หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 5.6 จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต เสาเข็มคอนกรีต และคอนกรีตผสมเสร็จ เป็นต้น ตามการสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบ ได้แก่ ซีเมนต์ ถ่านหิน เหล็ก และราคาพลังงาน ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 10.7 จากการสูงขึ้นในเกือบทุกกลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ท่อเหล็ก และลวดผูกเหล็ก เป็นต้น ตามต้นทุนที่มีการปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ เศษเหล็ก ถ่านหิน และพลังงาน หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 4.4 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต บัวเชิงผนัง PVC และกระเบื้องยาง PVC ปูพื้น เป็นต้น เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ และราคาพลังงาน หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 1.5 จากการสูงขึ้นของสีรองพื้นโลหะ-ปูน ซิลิโคน และสีเคลือบน้ำมัน เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้นตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของราวแขวนผ้าติดผนัง ที่ใส่กระดาษชำระ และฝักบัวอาบน้ำ เป็นต้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 3.9 จากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มท่อประปา และสายไฟ เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ และราคาพลังงาน และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 6.4 จากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มอลูมิเนียม อิฐ หิน ดิน ทราย และยางมะตอย เนื่องจากการสูงขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ พลังงาน และผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน
4. ไตรมาสที่ 3 ปี 2565 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 5.6 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 6.9 จากการสูงขึ้นของบานประตู-หน้าต่าง วงกบประตู-หน้าต่าง ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้แบบ และไม้พื้น เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 7.9 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบมีการปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับราคาเฉลี่ยปีที่ผ่านมาต่ำ ทำให้ราคาเฉลี่ยมีการปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 5.1 จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต เสาเข็มคอนกรีต ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป ถังซีเมนต์สำเร็จรูป พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง และท่อระบายน้ำคอนกรีต เป็นต้น เนื่องจากราคาต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 5.9 จากการสูงขึ้นของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย ชีทไพล์เหล็ก ลวดผูกเหล็ก และท่อร้อยสายไฟ เป็นต้น เนื่องจากราคาต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้น ประกอบกับราคาเฉลี่ยปีที่ผ่านมาต่ำ หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 4.7 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องยาง PVC ปูพื้น และกระเบื้องแกรนิต เป็นต้น จากราคาต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 2.1 จากการสูงขึ้นของสีรองพื้นปูน-โลหะ และซิลิโคน เป็นต้น หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากการสูงขึ้นของราวแขวนผ้าติดผนัง ฝักบัวอาบน้ำ ที่ใส่สบู่ และกระจกเงา หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 2.8 จากการสูงขึ้นของสินค้าที่สำคัญ ได้แก่ ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC ท่อประปา และท่อ PVC เป็นต้น โดยยังเป็นผลต่อเนื่องจากราคาวัตถุดิบที่สำคัญ ได้แก่ ทองแดง และอลูมิเนียมที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 7.0 จากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มอลูมิเนียม หิน ดิน ทราย และยางมะตอย เนื่องจากราคาต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
5. ไตรมาสที่ 3 ปี 2565 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ลดลงร้อยละ 1.6 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 7.1 จากการลดลงของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ และเหล็กแผ่นเรียบดำ เป็นต้น และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ลดลงร้อยละ 1.0 จากการลดลงของสินค้าที่สำคัญ ได้แก่ สายไฟฟ้า VCT ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC ท่อ PVC และข้องอ-ข้อต่อท่อประปา เป็นต้น ขณะที่สินค้าที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 2.4 จากการสูงขึ้นของไม้แบบ ไม้คาน และไม้โครงคร่าว เป็นต้น หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 0.5 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม และปูนฉาบสำเร็จรูป หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.4 สูงขึ้นเล็กน้อยจากการสูงขึ้นของ พื้นคอนกรีต คานคอนกรีต และชีทไพล์คอนกรีต เป็นต้น หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องเคลือบบุผนัง กระเบื้องแกรนิต และครอบสันโค้ง หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 1.0 จากการสูงขึ้นของ สีรองพื้นปูน-โลหะ สีทาถนนชนิดสะท้อนแสง เป็นต้น หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของอ่างล้างหน้าเซรามิก ที่ใส่สบู่ และที่ใส่กระดาษชำระ เป็นต้น และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.2 จากการสูงขึ้นของฉนวนกันความร้อน อลูมิเนียมแผ่นเรียบ เป็นต้น
6. แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างไตรมาสที่ 4 ปี 2565
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ไตรมาส 4 ปี 2565 ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก โดยเฉพาะราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก และราคาพลังงาน ที่ปรับลดลงตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ และจีน ประกอบกับฐานราคาในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ราคาพลังงานคาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว และความต้องการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายสำคัญของโลก ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินบาท และค่าแรงที่ปรับขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนการผลิต และค่าขนส่งยังอยู่ในระดับสูง และเป็นปัจจัยที่มีส่วนให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัว
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์