ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนกันยายน 2565 และเฉลี่ยระยะ 9 เดือนของปี 2565

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 25, 2022 12:20 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

Highlights

ดัชนีราคาส่งออก เดือนกันยายน 2565 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 (YoY) ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 4.6โดยหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 37.6ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 47.2 โดยเฉพาะราคาน้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ปรับตัวลดลงจากอุปสงค์ชะลอตัวท่ามกลางความกังวลของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจประเทศสำคัญจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 6.6 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ตามต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากอินโดนีเซียผ่อนคลายข้อจำกัดการส่งออก ประกอบกับผลผลิตในประเทศมาเลเซียเพิ่มขึ้น รวมทั้งอุปสงค์ของโลกที่ชะลอตัว หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 5.4 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ราคาเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงตามความต้องการจากประเทศจีนที่หดตัว ขณะที่ราคายางพารา เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงจากผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ตาม ข้าว ราคาปรับตัวสูงขึ้นตามความกังวลจากผลผลิตในอินเดียที่ลดลงและผลผลิตของปากีสถานที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากอุทกภัยครั้งใหญ่ และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.0 โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ราคายังคงสูงขึ้นจากต้นทุนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งการขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญอย่างเซมิคอนดักเตอร์ที่ยังไม่คลี่คลาย

ดัชนีราคานำเข้า เดือนกันยายน 2565 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวที่ร้อยละ 9.6 (YoY) ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 12.1 หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 45.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 56.7 โดยราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากอุปสงค์ของน้ำมันที่ลดลง ตามความกังวลของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 6.6 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน โดยเฉพาะเครื่องมือสื่อสาร ผลจากต้นทุนของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์โลหะราคาเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง ตามต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง เนื่องจากอุปสงค์ลดลงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 4.0 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 4.9 ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าสำคัญที่ราคาขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง เช่น ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมทั้งสินค้าที่ราคาหดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์จากยาง เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบปรับลดลง และหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 3.3 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 4.3 ในเดือนก่อนหน้า สินค้าราคาเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เช่น ผลิตภัณฑ์ทองแดง ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และเหล็ก ตามอุปสงค์ลดลงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมทั้งสินค้าราคาหดตัว เช่น ทองคำ ตามความต้องการลงทุนลดลง ขณะที่หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 4.7 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์แนวโน้มดัชนีราคาส่งออกและนำเข้าในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปี 2565 (ต.ค. -ธ.ค.) คาดว่าดัชนีราคาส่งออกและนำเข้ามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากการคาดการณ์เดิม เนื่องจาก (1) องค์กรร่วมประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออกมีการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย (2) ความแปรปรวนของสภาพอากาศมีแนวโน้มส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญของโลก เช่น น้ำท่วมหนักที่ปากีสถาน และภัยแล้งในประเทศสหรัฐฯ เป็นต้น และ (3) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น หลังจากรัสเซียทำประชามติผนวก 4 แคว้นของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ส่งผลให้ความร่วมมือการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกค้างมีความไม่แน่นอน และทำให้ราคาสินค้าเหล่านั้นปรับตัวเพิ่มขึ้น อัตราการค้า (Term of Trade)เดือนกันยายน 2565

อัตราการค้าของไทย ในเดือนกันยายน 2565 เท่ากับ 96.3 (เดือนสิงหาคม 2565 เท่ากับ 95.8) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน สะท้อนถึง ไทยมีความเสียเปรียบทางโครงสร้างราคาระหว่างประเทศ เนื่องจากระดับราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก โดยมีปัจจัยหลักจากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังทรงตัวสูงกว่าปีก่อนหน้า ส่งผลให้ราคานำเข้าน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน (ซึ่งมีสัดส่วนน้ำมันนำเข้าสูงกว่าส่งออก) สูงขึ้นในอัตราที่มากกว่าการสูงขึ้นของราคาส่งออก นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลให้อัตราการค้าไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ต่อไปอีกระยะหนึ่ง 1. เทียบกับเดือนสิงหาคม 2565 (MoM)ลดลงร้อยละ 0.3โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 2.9 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ และก๊าซปิโตรเลียมเหลว ตามความต้องการใช้น้ำมันโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จากผลกระทบของการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นกระตุ้นให้ธนาคารกลางหลายแห่งเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งเศรษฐกิจจีนที่ใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หมวดสินค้าเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 0.5 ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากปริมาณยางออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ประกอบกับความต้องการใช้ยางพาราลดลง โดยเฉพาะตลาดจีนจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เช่นเดียวกันกับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.1 ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทองคำ ผลจากความต้องการถือครองสินทรัพย์ลดลง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น สำหรับเคมีภัณฑ์ เนื่องจากเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ อาหารสัตว์เลี้ยง ผลจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างไรก็ตาม ราคาปาล์มน้ำมันหดตัว เนื่องจากปริมาณผลผลิตและสต็อกของประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น ประกอบกับอุปสงค์จากตลาดโลกชะลอตัว สำหรับน้ำตาลทราย ราคาปรับลดลงตามความต้องการใช้เพื่อผลิตเป็นเอทานอลลดลง 2.เทียบกับเดือนกันยายน 2564 (YoY)สูงขึ้นร้อยละ 4.1โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 37.6 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 47.2 โดยเฉพาะราคาน้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซปิโตรเลียมเหลว และน้ำมันดิบ ปรับตัวลดลงจากอุปสงค์ชะลอตัวท่ามกลางความกังวลของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจประเทศสำคัญจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 6.6 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ตามต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากอินโดนีเซียผ่อนคลายข้อจำกัดการส่งออก ประกอบกับผลผลิตในประเทศมาเลเซียเพิ่มขึ้น รวมทั้งอุปสงค์ของโลกที่ชะลอตัว หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 5.4 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ราคาเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงตามความต้องการจากประเทศจีนที่หดตัว ข้าว ราคาปรับตัวสูงขึ้นตามความกังวลจากผลผลิตในอินเดียที่ลดลงและผลผลิตของปากีสถานที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากอุทกภัยครั้งใหญ่ นอกจากนี้ ราคายางพารา เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงจากผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศจีนที่หดตัวทำให้ความต้องการใช้ยางพาราลดลง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.0 โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ราคายังคงสูงขึ้นจากต้นทุนการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งการขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญอย่างเซมิคอนดักเตอร์ที่ยังไม่คลี่คลาย 3. เฉลี่ยม.ค. -ก.ย. ปี 2565 เทียบกับปี 2564 (AoA)สูงขึ้นร้อยละ 4.6โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 51.5 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ และก๊าซปิโตรเลียมเหลว ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงกว่าปีก่อนหน้า อันเป็นผลมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครนที่ยืดเยื้อ และมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 6.5 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ รวมถึงความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปาล์มน้ำมัน ราคาสูงขึ้นมากในช่วงครึ่งแรกของปี เนื่องจากความกังวลด้านอุปทานที่ไม่เพียงพอ และน้ำตาลทราย เนื่องจากความต้องการนำผลิตภัณฑ์จากอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลเพื่อทดแทนน้ำมันที่ราคาสูงขึ้น หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 3.0 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เนื่องจากความต้องการใช้เป็นพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สำหรับผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ตามความต้องการสินค้าอาหารที่ขยายตัวต่อเนื่อง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.4 ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ จากการใช้ชิ้นส่วนและอุปกรณ์เทคโนโลยีใหม่และต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น 4. ไตรมาสที่ 3 ปี 2565 เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน (YoY)สูงขึ้นร้อยละ 4.4โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 13.8 ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 19.8 โดยน้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ราคาลดลงตามความต้องการใช้ที่ลดลง เนื่องจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 7.0 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ตามต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 5.5 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.4 ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า โดยเห็นได้จากพืชเศรษฐกิจที่สำคัญขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ยางพารา เนื่องจากปริมาณยางออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ประกอบกับความต้องการใช้ยางพาราลดลง อย่างไรก็ตาม ข้าว ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากความกังวลจากอุปทานในตลาดโลกลดลง ประกอบกับผลกระทบของอุทกภัยครั้งใหญ่ในปากีสถานที่ส่งผลให้ผลผลิตข้าวเสียหายเป็นจำนวนมาก รวมทั้งอินเดียมีมาตรการจำกัดการส่งออกข้าว และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.2 ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.6 โดยสินค้าที่ชะลอตัวลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์พลาสติกเม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ เนื่องจากเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน รวมทั้ง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ตามความต้องการใช้ที่ลดลง โดยเฉพาะในตลาดจีนเป็นผลมาจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าที่ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นผลจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งการใช้ชิ้นส่วนที่มีเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ประกอบกับการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เป็นช่วงระยะเวลายาวนาน ทำให้ราคาเซมิคอนดักเตอร์ปรับตัวสูงขึ้น 5. ไตรมาสที่ 3 ปี 2565 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ลดลงร้อยละ 0.3โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 5.8 ได้แก่ น้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป ตามความต้องการใช้น้ำมันโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศสำคัญชะลอตัว ทั้งการชะลอตัวที่ได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครนที่ยืดเยื้อ รวมทั้งการชะลอตัวของจีนจากผลกระทบของการดำเนินนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด หมวดสินค้าเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 1.5 ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการของตลาดที่ปรับตัวลดลง ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 0.7 ได้แก่อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ตามต้นทุนวัตถุดิบ โดยเฉพาะข้าวสาลีแนวโน้มราคาปรับสูงขึ้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครนที่ยืดเยื้อ และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.1 ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์พลาสติก ตามคำสั่งซื้อสินค้าจากตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ปรับตัวลดลงเนื่องจากเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง และทองคำ ราคาลดลง ตามความต้องการถือครองสินทรัพย์ลดลง เนื่องจากสินทรัพย์อื่น ๆ มีราคาปรับตัวสูงขึ้น

6. แนวโน้มดัชนีราคาส่งออกในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปี 2565

แนวโน้มดัชนีราคาส่งออกในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปี 2565 (ต.ค. -ธ.ค.) คาดว่าดัชนีมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากการคาดการณ์เดิม เนื่องจาก (1) องค์กรร่วมประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออกมีการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย (2) ความแปรปรวนของสภาพอากาศมีแนวโน้มส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญของโลก เช่น น้ำท่วมหนักที่ปากีสถาน และภัยแล้งในประเทศสหรัฐฯ เป็นต้น และ (3) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น หลังจากรัสเซียทำประชามติผนวก 4 แคว้นของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ส่งผลให้ความร่วมมือการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกค้างมีความไม่แน่นอน และทำให้ราคาสินค้าเหล่านั้นปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าบางส่วนมีแนวโน้มลดลง เนื่องจาก (1) เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอย่างต่อเนื่อง และเป็นอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ ทั้งความขัดแย้งที่ยืดเยื้อระหว่างยูเครนและรัสเซีย และความขัดแย้งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐฯ จากกรณีไต้หวัน นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกยังได้รับผลกระทบของเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก การดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด และนโยบาย ZERO COVID-19ของประเทศจีน (2) ต้นทุนปัจจัยการผลิตสินค้าขั้นกลางจากต่างประเทศมีแนวโน้มลดลงจากค่าระวางเรือปรับตัวลดลง และ (3) เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ทำให้ผู้ส่งออกไทยบางส่วนมีความได้เปรียบด้านการกำหนดราคาส่งออก โดยเฉพาะสินค้าที่มีการใช้วัตถุดิบจากในประเทศเป็นส่วนใหญ่

ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนกันยายน 2565

1. เทียบกับเดือนสิงหาคม 2565 (MoM) ลดลงร้อยละ 0.9โดยมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 3.2 ได้แก่ น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ราคาลดลงตามความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาก๊าซธรรมชาติยังคงปรับตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับราคาก๊าซในตลาดยุโรป ที่ได้รับผลกระทบจากการส่งมอบก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียที่ลดลง ขณะที่อุปสงค์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่แปรปรวน หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 1.0 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 0.5 ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ เนื่องจากธนาคารกลางหลายประเทศปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการลงทุนทองคำมีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ แผงวงจรไฟฟ้าปรับตัวลดลง เนื่องจากอุปสงค์ของผู้บริโภคที่ลดลงต่อเนื่อง ขณะที่หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ที่มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น สำหรับสินค้าทุน ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีการเปลี่ยนแปลงในบางกลุ่มสินค้าสำคัญ โดยกลุ่มสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์โลหะทำด้วยเหล็ก ผลิตภัณฑ์โลหะทำด้วยทองแดง และผลิตภัณฑ์ทำจากยาง เนื่องจากต้นทุนราคาวัตถุดิบที่ปรับลดลง ตามอุปสงค์ของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ จากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น

2. เทียบกับเดือนกันยายน 2564 (YoY)สูงขึ้นร้อยละ 9.6โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 45.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 56.7 โดยราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงจากอุปสงค์ของน้ำมันที่ลดลง ตามความกังวลของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 6.6 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน โดยเฉพาะเครื่องมือสื่อสาร ผลจากต้นทุนของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์โลหะ ราคาเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง ตามต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง เนื่องจากอุปสงค์ลดลงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 4.0 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 4.9 ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าสำคัญที่ราคาขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง เช่น ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมทั้งสินค้าราคาหดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์จากยาง เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบปรับลดลง และหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 3.3 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 4.3 ในเดือนก่อนหน้า สินค้าราคาเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เช่น ผลิตภัณฑ์ทองแดง ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และเหล็ก ตามอุปสงค์ลดลงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมทั้งสินค้าราคาหดตัว เช่น ทองคำ ตามความต้องการลงทุนลดลง ขณะที่หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 4.7 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

3. เฉลี่ยม.ค. -ก.ย. ปี 2565 เทียบกับปี 2564 (AoA)สูงขึ้นร้อยละ 12.7โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 60.0 ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม เชื้อเพลิงอื่น ๆ และน้ำมันสำเร็จรูป ผลจากสถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครนที่ยืดเยื้อ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 6.2 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน โดยเฉพาะเครื่องมือสื่อสารมีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม โดยเฉพาะยารักษาโรคที่ความต้องการใช้ในช่วงโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 5.8 ได้แก่ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ และเคมีภัณฑ์ ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้นมากในช่วงต้นปี เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 4.1 ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูง และเป็นสินค้าเทคโนโลยีสมัยใหม่ ขณะที่หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 3.9 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

4. ไตรมาสที่ 3 ปี 2565 เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 11.2 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 53.3ชะลอตัวลงจากร้อยละ 67.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ได้แก่ น้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป ตามอุปสงค์ของน้ำมันที่ลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 7.1 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ผลจากการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มสูงขึ้น ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ จากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้บุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคอย่างต่อเนื่อง หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 4.4 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ราคาชะลอตัว เช่น ผลิตภัณฑ์โลหะ และเครื่องจักรและส่วนประกอบ สะท้อนถึงเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 4.0ชะลอตัวลงจากร้อยละ 6.4 ในไตรมาสก่อนหน้าโดยเป็นผลมาจาการชะลอตัวของราคาสินค้าที่สำคัญ เช่น เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก ตามราคาน้ำมันที่ลดลง รวมทั้งเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ตามความต้องการใช้ในประเทศจีนลดลง ขณะที่ทองคำราคาหดตัว ตามความต้องการลงทุนที่ลดลง ขณะที่หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 4.3 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และรถยนต์นั่ง

5. ไตรมาสที่ 3 ปี 2565 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ลดลงร้อยละ 0.7โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 2.6 โดยเฉพาะรถยนต์นั่ง และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 2.4 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ตามอุปสงค์น้ำมันที่ลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 0.8 ได้แก่ ทองคำ ราคาลดลงตามความต้องการที่ลดลง ปุ๋ย ราคาลดลงเนื่องจากความกังวลด้านอุปทานที่จำกัดปรับตัวลดลง เมื่อรัสเซียกลับมาส่งออกแบบปกติ และเหล็กราคาลดลงเนื่องจากอุปสงค์ที่ลดลง โดยเฉพาะในประเทศจีนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 0.8 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ราคายังคงสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ เครื่องใช้ภายในบ้าน โดยเฉพาะเครื่องมือสื่อสารที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีใหม่

6. แนวโน้มดัชนีราคานำเข้าในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปี 2565 แนวโน้มดัชนีราคานำเข้าในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปี 2565 (ต.ค. -ธ.ค.) คาดว่าแรงกดดันจากดัชนีที่อยู่ในระดับสูงมีแนวโน้มกลับมาเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจาก (1) ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น หลังจากโอเปคปรับลดกำลังการผลิตลงอย่างมาก (2) ความแปรปรวนของสภาพอากาศมีแนวโน้มส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญของโลก เช่น น้ำท่วมหนักที่ปากีสถาน และภัยแล้งในประเทศสหรัฐฯ เป็นต้น และ (3) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น หลังจากรัสเซียทำประชามติผนวก 4 แคว้นของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ส่งผลให้ความร่วมมือการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกค้างมีความไม่แน่นอน และทำให้ราคาสินค้าเหล่านั้นปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลให้ราคาบางส่วนปรับตัวลดลง เช่น (1) เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าคาดการณ์ จากผลกระทบของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก การดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน (2) ต้นทุนค่าระวางเรือมีแนวโน้มลดลง และ (3) สินค้าโลหะมีค่า อย่างเช่นทองคำ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากประเทศเศรษฐกิจสำคัญดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดมากขึ้น ทำให้สินทรัพย์อื่น ๆ ในตลาดเงินตลาดทุนมีความน่าสนใจลงทุนมากกว่าทองคำ

อัตราการค้าของไทย ในเดือนกันยายน 2565 เท่ากับ 96.3(เดือนสิงหาคม 2565 เท่ากับ 95.8) ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงต่ำกว่า 100 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน แสดงถึง อัตราการค้าของไทยมีความเสียเปรียบเชิงโครงสร้างราคาระหว่างประเทศ เนื่องจากราคาส่งออกที่เสนอขายต่ำกว่าราคานำเข้าที่ซื้อเข้ามา

อัตราการค้าของไทย ในเดือนกันยายน 2565 เท่ากับ 96.3 (เดือนสิงหาคม 2565 เท่ากับ 95.8) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน สะท้อนว่าไทยยังมีความเสียเปรียบทางโครงสร้างราคาระหว่างประเทศ เนื่องจากระดับราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก โดยมีปัจจัยหลักจากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อนหน้า (การนำเข้าน้ำมันมีสัดส่วนสูงกว่าการส่งออกน้ำมัน) ส่งผลให้ดัชนีราคานำเข้ารวมสูงกว่าดัชนีราคาส่งออกรวม

สำหรับกลุ่มสินค้าที่ราคาส่งออกยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าราคานำเข้า (ได้เปรียบในอัตราการค้า) ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบขั้นกลางจากต่างประเทศในการผลิตเช่น เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เม็ดพลาสติก และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และกลุ่มสินค้าขั้นกลางที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศในการผลิตเช่น ผลไม้ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และของปรุงแต่งทำจากผลไม้ ผัก ผักกระป๋องและแปรรูป และของปรุงแต่งทำจากผัก และผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวและแป้ง เป็นต้น

ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก (เสียเปรียบในอัตราการค้า) ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป นมและผลิตภัณฑ์นม ทองแดงและผลิตภัณฑ์ และทองคำ นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอื่น ๆ ที่ราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ อัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งทอและเสื้อผ้า แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้นแนวโน้มอัตราการค้าไทยในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปี 2565 คาดว่าจะมีความเสี่ยงปรับตัวลดลงจากช่วงก่อนหน้า ตามทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ดัชนีราคานำเข้าเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่าการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาส่งออก และจะส่งผลให้อัตราการค้าไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100ต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ