ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2565

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 7, 2022 09:57 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายน 2565 เท่ากับ 107.92(ปีฐาน 2562 =100)

เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงร้อยละ1. เดือนพฤศจิกายน2564 (YoY)สูงขึ้น5.55 2. เดือนตุลาคม 2565 (MoM) ลดลง-0.13 3.เฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค. -พ.ย.) ปี 2565

สูงขึ้น6.10 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA)Highlights อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายน 2565 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนสูงขึ้นร้อยละ 5.55 (YoY)เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 (เดือนกันยายน และตุลาคม 2565 สูงขึ้นร้อยละ 6.41 และ 5.98 ตามลำดับ) และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ลดลงร้อยละ -0.13 (MoM)จากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด อาทิ ผักสดและผลไม้สด เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้นหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมได้คลี่คลายลง รวมทั้งการลดลงของราคาเนื้อสุกร และไข่ไก่นอกจากนี้สินค้าในกลุ่มเครื่องประกอบอาหาร โดยเฉพาะน้ำมันพืชราคายังคงลดลงส่งผลให้หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวที่ร้อยละ8.40 จากร้อยละ 9.58 ในเดือนก่อนหน้า สำหรับหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 3.59 จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าโดยสารสาธารณะ เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม มีสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เครื่องรับโทรทัศน์ และโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น และเฉลี่ย11เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ของปี 2565 อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นร้อยละ 6.10 (AoA)

ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 3.22 (YoY) เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 0.13 และเฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ของปี 2565 สูงขึ้นร้อยละ 2.44

1. เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2564 สูงขึ้นร้อยละ 5.55(YoY)โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้*หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 8.40 จากการสูงขึ้นของกลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งร้อยละ 4.20 จากการสูงขึ้นของราคาข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และขนมอบ กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำร้อยละ 13.75 จากการสูงขึ้นของราคาเนื้อสุกร และไก่สด กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นมร้อยละ 10.80 จากการสูงขึ้นของราคาไข่ไก่ นมผง และนมสด กลุ่มผลไม้สดร้อยละ 6.21 จากการสูงขึ้นของราคาแตงโม ลองกอง และมะม่วง กลุ่มเครื่องประกอบอาหารร้อยละ 7.23 จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันพืช ซีอิ๊ว และน้ำพริกแกง กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 5.02 จากการสูงขึ้นของราคากาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) กาแฟผงสำเร็จรูป และน้ำหวาน กลุ่มอาหารบริโภคในบ้านร้อยละ 9.68 จากการสูงขึ้นของราคากับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว และข้าวแกง/ข้าวกล่อง และกลุ่มอาหารบริโภคนอกบ้านร้อยละ 9.21จากการสูงขึ้นของราคาอาหารเช้า อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) และอาหารเย็น (อาหารตามสั่ง) ขณะที่กลุ่มผักสดลดลงร้อยละ -6.88จากการลดลงของราคาผักกาดขาว ผักชี และผักคะน้า*หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 3.59 โดยมีสาเหตุหลักจากการสูงขึ้นของหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารร้อยละ 4.90 จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 11.60 และค่าโดยสารสาธารณะ ร้อยละ 5.65 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าร้อยละ 0.27 จากการสูงขึ้นของราคาเครื่องแบบนักเรียนอนุบาล ค่าจ้างซักรีดและกางเกงชั้นในสตรี หมวดเคหสถานร้อยละ 3.54จากการสูงขึ้นของราคาค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม และผงซักฟอก หมวดการตรวจรักษา และบริการส่วนบุคคลร้อยละ 1.95 จากการสูงขึ้นของราคายาสีฟัน ค่าแต่งผมชาย และแชมพู หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯร้อยละ 1.35 จากการสูงขึ้นของราคาค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษาในทุกระดับชั้น และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ร้อยละ 1.39 จากการสูงขึ้นของราคาบุหรี่ เบียร์ และสุรา ในขณะที่กลุ่มการสื่อสาร ลดลงร้อยละ -0.01จากการลดลงของราคาเครื่องรับโทรศัพท์มือถือ และแบตเตอรี่สำรอง

2. เทียบกับเดือนตุลาคม 2565ลดลงร้อยละ -0.13(MoM)โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ -0.61 โดยมีสาเหตุหลักจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำร้อยละ -0.01 จากการลดลงของราคาเนื้อสุกร และปลานิล กลุ่มผักสดร้อยละ -10.20 จากการลดลงของราคาผักบุ้ง ผักคะน้า และพริกสด กลุ่มผลไม้สดร้อยละ -2.23 จากการลดลงของราคาส้มเขียวหวาน ฝรั่ง และมะพร้าวอ่อน และกลุ่มเครื่องประกอบอาหารร้อยละ -0.26 จากการลดลงของราคาน้ำมันพืช และมะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งร้อยละ 0.17 จากการสูงขึ้นของราคาข้าวสารเหนียว แป้งข้าวเจ้า และขนมอบ กลุ่มไข่ และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 0.09จากการสูงขึ้นของราคานมสด นมถั่วเหลือง และนมเปรี้ยว กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.55 จากการสูงขึ้นของราคากาแฟผงสำเร็จรูป น้ำดื่ม และเครื่องดื่มรสช็อกโกแลต กลุ่มอาหารบริโภคในบ้านร้อยละ 0.24 จากการสูงขึ้นของราคากับข้าวสำเร็จรูป อาหารโทรสั่ง (delivery)และก๋วยเตี๋ยว และกลุ่มอาหารบริโภคนอกบ้านร้อยละ 0.41จากการสูงขึ้นของราคาอาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) และอาหารเย็น (อาหารตามสั่ง) หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.20 โดยมีสาเหตุหลักจากการสูงขึ้นของหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารร้อยละ 0.40จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 0.93และค่าโดยสารสาธารณะ ร้อยละ 0.05 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าร้อยละ 0.06 จากการสูงขึ้นของราคากางเกงขายาวบุรุษและเสื้อยืดสตรี หมวดเคหสถานร้อยละ 0.06จากการสูงขึ้นของราคาค่าเช่าบ้าน น้ำยารีดผ้า และน้ำยาปรับผ้านุ่ม หมวดการตรวจรักษา และบริการส่วนบุคคลร้อยละ 0.22 จากการสูงขึ้นของราคายาสีฟัน แชมพู และแป้งทาผิวกาย หมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาฯร้อยละ 0.01 จากการสูงขึ้นของราคาเครื่องถวายพระ อาหารสัตว์เลี้ยงและค่าห้องพักโรงแรม และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.09จากการสูงขึ้นของราคาเบียร์ ไวน์ และสุรา สำหรับกลุ่มการสื่อสาร ราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง
3. เฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค. -พ.ย.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 6.10(AoA) โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 6.74 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำร้อยละ 11.59 จากการสูงขึ้นของราคาเนื้อสุกรและไก่สด กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นมร้อยละ 6.64 จากการสูงขึ้นของราคาไข่ไก่ นมสด และนมผง กลุ่มผักสดร้อยละ 5.14 จากการสูงขึ้นของราคาผักคะน้า ผักบุ้ง และพริกสด กลุ่มผลไม้สดร้อยละ 1.75จากการสูงขึ้นของราคาส้มเขียวหวาน มะละกอสุก และแตงโม กลุ่มเครื่องประกอบอาหารร้อยละ 9.34 จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันพืช ซีอิ๊ว และกะปิ กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 2.59 จากการสูงขึ้นของราคากาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) น้ำปั่นผลไม้/ผัก และกาแฟผงสำเร็จรูป กลุ่มอาหารบริโภคในบ้านร้อยละ 7.30

จากการสูงขึ้นของราคากับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว และข้าวแกง/ข้าวกล่อง) และกลุ่มอาหารบริโภคนอกบ้านร้อยละ 6.85 จากการสูงขึ้นของราคาอาหารเช้า อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) และอาหารเย็น (อาหารตามสั่ง))ในขณะที่กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งลดลงร้อยละ -1.47จากการลดลงของราคาข้าวสารเจ้า และข้าวสารเหนียวหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 5.66 โดยมีปัจจัยหลักจากการสูงขึ้นของหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารร้อยละ 9.38 ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 24.91เป็นสำคัญ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าร้อยละ 0.02 จากการสูงขึ้นของราคาเสื้อกล้าม และถุงเท้าบุรุษหมวดเคหสถานร้อยละ4.85จากการสูงขึ้นของราคาค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และก๊าซหุงต้ม หมวดการตรวจรักษา และบริการส่วนบุคคลร้อยละ 1.06 จากการสูงขึ้นของราคาแชมพู สบู่ถูตัว และยาสีฟัน หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯร้อยละ 0.13จากการสูงขึ้นของราคาค่าห้องพักโรงแรมและค่าอาหารสัตว์เลี้ยงและหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ร้อยละ 2.07จากการสูงขึ้นของราคาบุหรี่ เบียร์ และสุรา และค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 3.08ขณะที่กลุ่มการสื่อสาร ลดลงร้อยละ -0.07

4. อัตราการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ (YoY) จำแนกรายภาค เดือนพฤศจิกายน 2565

ดัชนีราคาผู้บริโภคจำแนกรายภาค พบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคในทุกภาคเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสด ได้แก่ ผักสด ผลไม้สด เนื้อสุกร และไข่ไก่ซึ่งในเดือนนี้อัตราเงินเฟ้อของกรุงเทพฯ และปริมณฑลสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ โดยสูงขึ้นร้อยละ 5.86 รองลงมาได้แก่ ภาคเหนือและภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สูงขึ้นเท่ากันที่ร้อยละ 5.45และภาคกลาง สูงขึ้นร้อยละ 5.44ในขณะที่ภาคใต้สูงขึ้นในอัตราต่ำกว่าทุกภูมิภาคที่ร้อยละ 5.33

เมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้า พบว่า สินค้าสำคัญที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นในทุกภาค ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง อาหารกลางวัน(ข้าวราดแกง) และกับข้าวสำเร็จรูปสำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลงในทุกภาคได้แก่ ผักกาดขาว ขิง และผักคะน้า เป็นต้น 5. แนวโน้มเงินเฟ้อเดือนธันวาคม 2565

แนวโน้มเงินเฟ้อเดือนธันวาคม 2565 คาดว่าจะยังขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมาเนื่องจากราคาพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) สินค้ากลุ่มอาหาร (อาทิ เนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์นม และอาหารสำเร็จรูป) และค่าโดยสารสาธารณะ ยังสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน รวมทั้ง อุปสงค์ในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรบางชนิดที่มีมากกว่าปีที่ผ่านมา มาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐ แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท และการแพร่ระบาดของโควิด-19สายพันธุ์ใหม่จะเป็นปัจจัยที่อาจลดทอนอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือได้ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565อยู่ที่ระหว่างร้อยละ 5.5-6.5(ค่ากลางร้อยละ 6.0)ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ