ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนพฤศจิกายน 2565 เท่ากับ 119.6 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2564 สูงขึ้นร้อยละ 3.1 (YoY) สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากดัชนีราคายังสูงขึ้นในทุกหมวดเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เป็นผลจากต้นทุนที่สูงขึ้น
ตามราคาวัตถุดิบและพลังงาน อย่างไรก็ตาม ราคาเหล็กในประเทศที่เริ่มอ่อนตัวลงจากความต้องการใช้ลดลง และราคาเหล็ก ในประเทศจีนที่ปรับลดลงตามราคาวัตถุดิบและความต้องการใช้ในประเทศจีนลดลง ขณะที่ปริมาณผลผลิตขยายตัว
ส่งผลให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างมีทิศทางชะลอลง
เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง แต่หากพิจารณาเป็นรายหมวดสินค้าก็จะมีทั้งที่ไม่เปลี่ยนแปลง สูงขึ้น และลดลง
การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง
1. เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2564 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 3.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 8.1 จากการสูงขึ้นของไม้แบบ ไม้คาน แผ่นไม้อัด ไม้โครงคร่าว ไม้ฝา ไม้พื้น
และวงกบ-บานประตู เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 4.9 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทั้งราคาวัตถุดิบ (แร่ยิปซั่ม หิน ทราย)
และราคาพลังงาน (ถ่านหิน น้ำมัน) หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 3.1 จากการสูงขึ้นของเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง คานคอนกรีต สำเร็จรูป คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา คอนกรีตผสมเสร็จ ผนังคอนกรีต
ชีทไพล์คอนกรีต เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นทั้งวัตถุดิบ (เหล็ก ซีเมนต์ หิน ทราย) และราคาพลังงาน หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ซึ่งสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสินค้าสำคัญที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย ลวดผูกเหล็ก ท่อเหล็กร้อยสายไฟ ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงสำเร็จรูป เหล็กตัว I และเหล็กตัว H เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาพลังงานที่สูงกว่าปีที่ผ่านมา หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 4.1 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องลอนคู่
กระเบื้องแกรนิต กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น บัวเชิงผนัง PVC และครอบสันโค้ง ตามการสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบ (ดิน หินแร่ สี) และราคาพลังงาน หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 2.5 โดยสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นปูน
สีรองพื้นโลหะ สีทาถนนชนิดสะท้อนแสง น้ำมันเคลือบแข็งภายใน ตามราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากการสูงขึ้นของอ่างล้างหน้าเซรามิก กระจกเงา ที่ใส่สบู่ ราวจับสแตนเลส สายน้ำดี
ราวแขวนผ้าติดผนัง และที่ใส่กระดาษ เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ (เม็ดพลาสติก ดินขาว สแตนเลส) และพลังงานสูงขึ้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 3.1 จากการสูงขึ้นของ สายไฟฟ้า หลอดไฟฟ้าฟลูออเรสเซนต์ ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี ถังเก็บน้ำสแตนเลส และข้อต่อ-ข้องอท่อประปา เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ (เม็ดพลาสติก สแตนเลส เหล็ก) และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 4.0 จากการสูงขึ้นของวัสดุธรรมชาติ ได้แก่ หิน ดิน ทราย
ต้นทุนสูงขึ้นจากราคาพลังงาน อลูมิเนียมแผ่นเรียบ ฉนวนกันความร้อน เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบสูงขี้น และยางมะตอย ตามการสูงขึ้นของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
2. เทียบกับเดือนตุลาคม 2565 (MoM) ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าแต่ละหมวด ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หมวดซีเมนต์ และหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 0.6 จากการลดลงของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กตัวซี ลวดผูกเหล็ก ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัส และชีทไพล์เหล็ก จากความต้องการบริโภคเหล็กในประเทศลดลง สอดคล้องกับราคาเหล็กในประเทศจีน
และตลาดเอเซียที่ลดลงตามราคาวัตถุดิบ (สินแร่เหล็ก เศษเหล็ก) และความต้องการใช้เหล็กในประเทศจีนลดลงจากสถานการณ์การประท้วงมาตรการ Zero - Covid ในหลายพื้นที่ของประเทศจีน ขณะที่ปริมาณผลผลิตขยายตัว หมวดกระเบื้อง
และหมวดวัสดุฉาบผิว ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง หมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.3 จากการลดลงของฝักบัวอาบน้ำ และสายฉีดชำระ เนื่องจากผู้ประกอบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.8 จากการสูงขึ้น
ของสายไฟเคเบิล THW สายส่งกำลังไฟฟ้า NYY สายไฟฟ้า VCT และท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี เนื่องจากมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นทุนสูงขึ้น ผู้ประกอบการจึงให้ส่วนลดน้อยลง หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.5
จากการสูงขึ้นของวัสดุธรรมชาติ ได้แก่ หินคลุก ทรายละเอียด เป็นผลจากต้นทุนด้านพลังงานสูงขึ้น อีกทั้งสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิต และยางมะตอย สูงขึ้นตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
3. เฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 6.0 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 5.7 จากการสูงขึ้นของไม้พื้น ไม้ฝา ไม้คาน ไม้แบบ
แผ่นไม้อัด และบานประตู เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบมีการปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 6.5 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนการผลิต
สูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ (แร่ยิปซั่ม) และราคาพลังงาน (ถ่านหิน น้ำมัน) หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 5.2 จากการสูงขึ้นของเสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง คานคอนกรีตสำเร็จรูป ท่อระบายน้ำคอนกรีต คอนกรีตบล็อก-
ก่อผนังมวลเบา คอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตหยาบ และผนังคอนกรีตสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ (เหล็ก ซีเมนต์ หิน ทราย) และต้นทุนด้านพลังงานสูงขึ้น หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 8.8 จากการสูงขึ้นของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ
-ผิวข้ออ้อย เหล็กฉาก เหล็กตัว I เหล็กตัว H เหล็กรางน้ำ ลวดผูกเหล็ก ท่อสแตนเลส แผ่นสแตนเลส ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ประตูเหล็กม้วน ประตู และข้อต่อเหล็ก เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาพลังงานที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของ
ปีก่อน หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 4.4 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องลอนคู่ กระเบื้องปูพื้น กระเบื้องแกรนิต เนื่องจากต้นทุนการผลิตทั้งวัตถุดิบ (ดิน หินแร่ สี) และพลังงานปรับสูงขึ้น หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 1.7 จากการสูงขึ้นของสีเคลือบน้ำมัน
สีรองพื้นโลหะ ซิลิโคน และสีทาถนนชนิดสะท้อนแสง ตามต้นทุนที่สูงขึ้นทั้งราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และพลังงาน หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของที่ใส่กระดาษชำระ ราวแขวนผ้าติดผนัง และฝักบัวอาบน้ำ เป็นต้น เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ (เม็ดพลาสติก) และพลังงานสูงขึ้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 3.7 จากการสูงขึ้นของ สายไฟเคเบิล THW สายส่งกำลังไฟฟ้า NYY และถังเก็บน้ำสแตนเลส ตามการสูงขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ (สแตนเลส เม็ดพลาสติก) และพลังงาน
หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 6.0 จากการสูงขึ้นของสินค้า ในกลุ่มอลูมิเนียม ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามวัตถุดิบ ยางมะตอย สูงขึ้นตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และสินค้ากลุ่มวัสดุธรรมชาติ (อิฐ หิน ดิน ทราย) ตามต้นทุนค่าขนส่งที่ปรับสูงขึ้น
4. แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนธันวาคม 2565 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนธันวาคม 2565 มีแนวโน้มขยายตัว เมื่อเทียบเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามราคาพลังงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูงจากแนวโน้มการปรับลดกำลังการผลิตของ
ผู้ผลิตรายสำคัญของโลก ประกอบกับการสูงขึ้นของค่าแรง และเงินบาทที่ยังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เป็นผลให้ต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนการผลิต และค่าขนส่งยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่อุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยว การบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน นอกจากนี้ ฐานดัชนีราคาในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ต่ำลง มีส่วนทำให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มขยายตัว
อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการ Zero-Covid และ Covid-19 ที่กลับมาระบาดอีกครั้งในจีน และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสำคัญ มีแนวโน้มกดดันความต้องการใช้เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กโลก ประกอบกับการใช้นโยบายการเงิน
แบบตึงตัวมากขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งอาจจะส่งผลต่ออุปสงค์ของภาคการก่อสร้างและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และมีส่วนกดดันให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์