ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนธันวาคม 2565 ไตรมาสที่ 4 และปี 2565

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 5, 2023 10:17 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างของประเทศ เดือนธันวาคม 2565 และปี 2565

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนธันวาคม 2565 เท่ากับ 119.4 เทียบกับเดือนธันวาคม 2564 สูงขึ้นร้อยละ 3.6 (YoY) เป็นผลจากดัชนีราคาที่สูงขึ้นในทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดสินค้าที่สำคัญที่เป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง อาทิ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก หมวดซีเมนต์ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้น จากราคาวัตถุดิบและราคาพลังงานที่สูงกว่าปีที่ผ่านมา

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างทั้งปี 2565 สูงขึ้นร้อยละ 5.7 เนื่องจากต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งจากราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานและความผันผวนของค่าเงินบาท ประกอบกับความต้องการ ใช้วัสดุก่อสร้างในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่ดำเนินการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามแผนงานและแผนการใช้เงินที่กำหนดไว้

การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง

1. เทียบกับเดือนธันวาคม 2565 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 3.6 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 8.1 จากการสูงขึ้นของไม้แบบ ไม้โครงคร่าว บานประตู ไม้คาน และแผ่นไม้อัด

เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 5.2 ตามการฟื้นตัวของการลงทุนในโครงการก่อสร้าง ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา อีกทั้งต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทั้งราคาวัตถุดิบ (แร่ยิปซั่ม หินปูน)

และราคาพลังงาน (ถ่านหิน น้ำมัน) ซึ่งสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม และปูนฉาบสำเร็จรูป หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 3.3 จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต คอนกรีตผสมเสร็จ

ท่อระบายน้ำคอนกรีต เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง ถังซีเมนต์สำเร็จรูป เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง และคานคอนกรีตสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นทั้งจากวัตถุดิบ (เหล็ก ซีเมนต์ หิน ทราย) และราคาพลังงาน

หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 2.5 สินค้าสำคัญที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ เหล็กเส้นกลมผิวข้ออ้อย- ผิวเรียบ ลวดผูกเหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ท่อเหล็กร้อยสายไฟ ข้อต่อเหล็ก เหล็กตัว H และชีทไพล์เหล็ก เนื่องจากเศรษฐกิจที่

ฟื้นตัวขึ้นส่งผลให้ความต้องการ ใช้งานเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาพลังงาน ที่สูงกว่าปีที่ผ่านมา หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 3.4 จากการสูงขึ้นของบัวเชิงผนัง PVC กระเบื้องยาง PVCกระเบื้องแกรนิต และกระเบื้องลอนคู่

ตามการสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบ (ดิน หินแร่ สี) และราคาพลังงาน หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 2.6 จากการสูงขึ้นของสีรองพื้นโลหะ สีเคลือบน้ำมัน สีทาถนนชนิดสะท้อนแสง และสีรองพื้นปูน ตามราคาเคมีภัณฑ์ (ผงสี) ที่ปรับตัวสูงขึ้น

หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของอ่างล้างหน้าเซรามิก สายน้ำดี ที่ใส่กระดาษชำระ กระจกเงา และราวจับสแตนเลส เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ (ดินขาว สแตนเลส) และราคาพลังงาน หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา

สูงขึ้นร้อยละ 3.1 จากการสูงขึ้นของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC ประตูน้ำ ตะแกรงกรองผง ท่อ PVC และสายส่งกำลังไฟฟ้า NYY เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ (เม็ดพลาสติก สแตนเลส โลหะ) หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ

สูงขึ้นร้อยละ 4.0 จากการสูงขึ้นของสินค้ากลุ่มอลูมิเนียม (ตามราคาต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น) ยางมะตอย (ตามการสูงขึ้นของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม) และหิน ดิน ทราย (ต้นทุนการผลิตและการขนส่งสูงขึ้นตามราคาพลังงาน)

2. เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2565 (MoM) ลดลงร้อยละ 0.2 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าแต่ละหมวด ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง หมวดซีเมนต์

สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญ คือ ปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ (แร่ยิปซั่ม) และสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบปรับราคาสูงขึ้น หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 0.8 จากการลดลงของเหล็กเส้นกลม

ผิวข้ออ้อย-ผิวเรียบ เมทัลชีท เหล็กแผ่นเรียบดำ ตะปู ลวดผูกเหล็ก และเหล็กตัวซี เนื่องจากราคาเศษเหล็กในประเทศซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เหล็กต่างๆ ลดลง หมวดกระเบื้อง ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง

หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของซิลิโคน ตามการสูงขึ้นจากเคมีภัณฑ์ (กาวอะคริลิค ตัวทำละลาย) และผงสีที่ปรับราคาสูงขึ้น หมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของฝักบัวอาบน้ำ สายฉีดชำระ สายน้ำดี ที่ใส่สบู่

และราวแขวนผ้าติดผนัง เนื่องจากผู้ประกอบการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง

3. เทียบกับเดือนมกราคม - ธันวาคม 2565 สูงขึ้นร้อยละ 5.7 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 6.0 จากการสูงขึ้นของไม้แบบ ไม้โครงคร่าว ไม้คาน แผ่นไม้อัด บานประตู และไม้ฝา

เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่ง ที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 6.5 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจาก

ราคาวัตถุดิบ (แร่ยิปซั่ม) และราคาพลังงาน (ถ่านหิน น้ำมัน) หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 5.0 จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต คอนกรีตผสมเสร็จ ท่อระบายน้ำคอนกรีต เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง

ถังซีเมนต์สำเร็จรูป พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง และผนังคอนกรีตสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ (เหล็ก ซีเมนต์ หิน ทราย) และต้นทุนด้านพลังงานสูงขึ้น หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 8.3 จากการสูงขึ้นของเหล็กเส้นกลม

ผิวข้ออ้อย-ผิวเรียบ ลวดผูกเหล็ก ตะปู ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป ชีทไพล์เหล็ก และเหล็กตัวซี เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาพลังงานที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 4.3 จากการสูงขึ้นของบัวเชิงผนัง PVC

กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น กระเบื้องแกรนิต กระเบื้องลอนคู่ และครอบสันโค้ง ตามต้นทุนการผลิตทั้งราคาวัตถุดิบ (ดิน สี) และราคาพลังงานปรับสูงขึ้น หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 1.7 จากการสูงขึ้นของสีรองพื้นโลหะ สีเคลือบน้ำมัน และ

สีทาถนนชนิดสะท้อนแสง เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้นตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของอ่างล้างหน้า ที่ใส่กระดาษชำระ กระจกเงา สายน้ำดี ราวแขวนผ้าติดผนัง ที่ใส่สบู่ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ

(เม็ดพลาสติก ดินขาว) และพลังงานปรับสูงขึ้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 3.7 จากการสูงขึ้นของท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC ประตูน้ำ สายส่งกำลังไฟฟ้า NYY สายไฟฟ้า VCT ท่อ PVC และท่อ PE ตามการสูงขึ้นของ

ต้นทุนวัตถุดิบ (ทองแดง เม็ดพลาสติก) และราคาพลังงาน หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 5.9 จากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มอลูมิเนียม ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามวัตถุดิบ ยางมะตอย สูงขึ้นตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และหิน ดิน ทราย ต้นทุน

การผลิตและค่าขนส่งสูงขึ้นตามราคาพลังงาน

4. ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 3.5 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 8.1 จากการสูงขึ้นของไม้แบบ ไม้คาน แผ่นไม้อัด ไม้โครงคร่าว

ไม้ฝา ไม้พื้น และ วงกบ-บานประตู เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 5.6 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุน

วัตถุดิบสูงขึ้นเมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 3.4 จากการสูงขึ้นของผนังคอนกรีตสำเร็จรูป ชีทไพล์คอนกรีต คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา และเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ

(ซีเมนต์ หิน ทราย) สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 1.3 จากการสูงขึ้นในเกือบทุกรายการสินค้า โดยมีสินค้าสำคัญ อาทิ ท่อเหล็กร้อยสายไฟ ข้อต่อเหล็ก และชีทไพล์เหล็ก เนื่องจาก

ต้นทุนพลังงาน และราคาเหล็กในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 4.1 จากการสูงขึ้นของบัวเชิงผนัง PVC กระเบื้องยาง PVC ปูพื้น กระเบื้องแกรนิต กระเบื้องลอนคู่ และกระเบื้องปูผนัง เนื่องจาก

ต้นทุนพลังงานปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 2.5 จากการสูงขึ้นของสีรองพื้นโลหะ สีทาถนนชนิดสะท้อนแสง สีฝุ่น สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นปูน และสีน้ำเคลือบแข็งภายใน-นอก ตามราคา

เคมีภัณฑ์ (กาวอะคริลิค ตัวทำละลาย) และต้นทุนพลังงานปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.5 จากการสูงขึ้นของสายน้ำดี ที่ใส่กระดาษชำระ อ่างล้างหน้าเซรามิก ราวจับสแตนเลส และกระจกเงา

เนื่องจากวัตถุดิบ (สแตนเลส พลาสติก ดินขาว) ปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 2.8 จากการสูงขึ้นของถังเก็บน้ำสแตนเลส ท่อพีอี ประตูน้ำ และข้อต่อ-ข้องอ-สามทางท่อประปา

เนื่องจากราคาต้นทุนวัตถุดิบ (สแตนเลส ทองแดง อลูมิเนียม พลาสติก) สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 4.0 จากการสูงขึ้นของกลุ่มอลูมิเนียม ยางมะตอย และหิน ดิน ทราย เนื่องจากราคาต้นทุน

และค่าขนส่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

5. ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ลดลงร้อยละ 0.2 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 1.1 จากการสูงขึ้นของไม้แบบ ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้ฝา ไม้พื้น

บานประตู แผ่นไม้อัด และวงกบประตู เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 0.2 จากการสูงขึ้นของปูนฉาบสำเร็จรูป ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนซีเมนต์ผสม เนื่องจากมีต้นทุนสูงขึ้น

ประกอบกับเริ่มมีความต้องการใช้งานหลังช่วงฤดูฝนที่มากขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของคอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป ถังซีเมนต์สำเร็จรูป และท่อระบายน้ำคอนกรีต เนื่องจากราคา

ต้นทุนวัตถุดิบ (แร่ยิปซั่ม หิน ทราย) สูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 0.8 จากการลดลงของเหล็กแผ่นเรียบดำ เหล็กตัวซี และท่อเหล็กเคลือบสังกะสี เนื่องจากราคาเหล็กในประเทศลดลงตาม

ราคาเหล็กในตลาดโลกเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.1 สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยสินค้าที่ราคาเฉลี่ยสูงขึ้น ได้แก่ กระเบื้องลอนคู่ สันครอบโค้ง และกระเบื้องยาง PVC ปูพื้น เนื่องจากราคา

พลังงานที่ปรับสูงขึ้น หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.5 จากการสูงขึ้นของ สีรองพื้นโลหะ สีฝุ่น สีทางถนนชนิดสะท้อนแสง และสีรองพื้นปูน เนื่องจากการสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบ (ผงสี) หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.2 จากการสูงขึ้นของสายน้ำดี

และที่ใส่กระดาษชำระ หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของตะแกรงกรองผง ถังบำบัดน้ำเสียระบบไม่อัดอากาศ และถังเก็บน้ำไฟเบอร์กลาส เนื่องจากความต้องการในตลาดเพิ่มขึ้น หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ

ลดลงร้อยละ 0.5 จากการลดลงของยางมะตอย ที่ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมโดยเฉลี่ยปรับลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

6. ภาพรวมดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างปี 2565 เฉลี่ยทั้งปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 5.7 ตามราคาพลังงานในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และการลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตรายสำคัญของโลก ประกอบกับ

การสูงขึ้นของค่าแรง การทยอยปรับขึ้นค่ากระแสไฟฟ้าและอัตราดอกเบี้ย ตลอดจนเงินบาทที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 และต้นไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนการผลิต

และค่าขนส่งอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กโลกที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจของประเทศสำคัญ จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง รวมถึงจีนที่ประสบปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการใช้

มาตรการ Zero-Covid ส่งผลให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก และดัชนีวัสดุก่อสร้างโดยรวมของไทยชะลอตัวในช่วงครึ่งปีหลัง

7. แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2565 จากอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากการท่องเที่ยว การบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ

อาทิ โครงการก่อสร้างและซ่อมแซมเส้นทางคมนาคม สะพาน และอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนที่จะเริ่มกลับมาเป็นปกติจากนโยบายเปิดประเทศ จะส่งผลต่อความต้องการและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะเหล็กและผลิตภัณฑ์

และน้ำมัน ขณะที่สถานการณ์อุปทานพลังงานที่ยังไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การปรับขึ้นค่ากระแสไฟฟ้า การปรับขึ้นค่าแรงทั้งระบบ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย ยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในจีนที่อาจรุนแรงจนกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนและประเทศต่าง ๆ ตลอดจนการทยอยลดนโยบายส่งเสริมภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ

อาทิ การไม่ต่อมาตรการ LTV (Loan To Value) อาจมีส่วนกดดันความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างในประเทศ และส่งผลให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ