ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนธันวาคม 2565 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50.4 จากระดับ 49.9 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ระดับสูงที่สุดและเป็นการปรับขึ้นมาอยู่ในช่วงเชื่อมั่นครั้งแรกในรอบ 43 เดือน (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562)ก่อนสถานการณ์ การแพร่ระบาดโควิด-19 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 40.4 มาอยู่ที่ระดับ 41.3 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 56.3 มาอยู่ที่ระดับ 56.5 สาเหตุสำคัญของการปรับเพิ่มขึ้นโดยรวมมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ รวมถึงช่วงปลายปีเป็นฤดูการท่องเที่ยวทำให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ที่หน่วยงานภาครัฐมีการออกมาตรการมอบของขวัญปีใหม่จำนวนมาก เมื่อรวมกับแรงกดดันจากเงินเฟ้อและราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นและออกมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจหลายภาคส่วนโดยเฉพาะด้านโรงแรมและร้านอาหาร ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบและมีความต้องการของแรงงานเพิ่มขึ้น
เมื่อพิจารณาปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค พบว่า ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจไทย ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 44.45 รองลงมาคือ ด้านมาตรการของภาครัฐ คิดเป็นร้อยละ 10.58 ด้านราคาสินค้าเกษตร คิดเป็นร้อยละ 9.01 ด้านเศรษฐกิจโลก คิดเป็นร้อยละ 8.79 ด้านภัยพิบัติ/โรคระบาด คิดเป็นร้อยละ 8.45 ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง คิดเป็นร้อยละ 7.41ด้านการเมือง คิดเป็นร้อยละ 5.67 ด้านสังคม/ความมั่นคง ร้อยละ 5.17 และด้านอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 0.48 ตามลำดับ กลุ่มผู้บริโภคที่มีความเชื่อมั่นดีขึ้นมองว่าเศรษฐกิจไทยมาตรการของภาครัฐ และราคาสินค้าเกษตร เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคที่มีความเชื่อมั่นลดลงเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมาตรการของภาครัฐ และราคาสินค้าเกษตร เป็นปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่น
เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขี้น ได้แก่ ภาคกลาง จากระดับ 49.3มาอยู่ที่ระดับ 49.5 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทยมาตรการของภาครัฐ และผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
ภาคเหนือ จากระดับ 49.5 มาอยู่ที่ระดับ 50.3โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ราคาสินค้าเกษตรและมาตรการของภาครัฐ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากระดับ 51.3 มาอยู่ที่ระดับ 51.5 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย มาตรการของภาครัฐ และราคาสินค้าเกษตร
ภาคใต้ จากระดับ 48.7 มาอยู่ที่ระดับ 50.5โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ราคาสินค้าเกษตร และ เศรษฐกิจโลก
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงจากระดับ 50.8มาอยู่ที่ระดับ 48.0โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย มาตรการของภาครัฐ และเศรษฐกิจโลก
เมื่อพิจารณาจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 49.2 มาอยู่ที่ระดับ 50.9 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ราคาสินค้าเกษตร และภัยพิบัติ/โรคระบาด
กลุ่มพนักงานเอกชน จากระดับ 48.6 มาอยู่ที่ระดับ 49.3โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย มาตรการของภาครัฐ และผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
กลุ่มนักศึกษา จากระดับ 50.1 มาอยู่ที่ระดับ 51.1โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก และมาตรการของภาครัฐ
กลุ่มไม่ได้ทำงาน/บำนาญ จากระดับ 44.9 มาอยู่ที่ระดับ 45.6โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ภัยพิบัติ/โรคระบาด และมาตรการของภาครัฐ
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการปรับตัวลดลงจากระดับ 51.7มาอยู่ที่ระดับ 51.1 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อ ความเชื่อมั่น 3อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย มาตรการของภาครัฐ และเศรษฐกิจโลก
กลุ่มรับจ้างอิสระ จากระดับ 47.6 มาอยู่ที่ระดับ 47.4โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย มาตรการของภาครัฐ และภัยพิบัติ/โรคระบาด
สำหรับกลุ่มพนักงานของรัฐ ดัชนีไม่เปลี่ยนแปลง อยู่ที่ระดับ 55.7 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก และผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
เมื่อพิจารณาจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 49.1มาอยู่ที่ระดับ 50.6
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์