ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมกราคม 2566

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 6, 2023 11:36 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมกราคม 2566 เท่ากับ 108.18(ปีฐาน 2562 =100)

เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงร้อยละ1. เดือนมกราคม2565 (YoY)สูงขึ้น5.02 2. เดือนธันวาคม2565 (MoM) สูงขึ้น0.30 Highlights ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนมกราคม 2566 เท่ากับ 108.18 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 5.02 (YoY)เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง(ธันวาคม 2565 สูงขึ้นร้อยละ 5.89) โดยมีสาเหตุสำคัญจากการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวของสินค้าในกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มพลังงาน จากน้ำมันเชื้อเพลิงตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลก และค่ากระแสไฟฟ้า เนื่องจากภาครัฐยังคงมีมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชนในส่วนหนึ่ง ประกอบกับกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสุกร ราคาลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และราคาน้ำมันพืชชะลอตัวลงอย่างไรก็ตาม มีสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลไม้สด อาทิ ส้มเขียวหวาน กล้วยหอม และแก้วมังกรจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน รวมทั้งสินค้ากลุ่มค่าโดยสารสาธารณะ มีการปรับราคาสูงขึ้นในเดือนนี้ ได้แก่ ค่าโดยสารรถไฟลอยฟ้าและค่าโดยสารรถแท็กซี่ และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้นร้อยละ0.30 (MoM)

ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 3.04 (YoY) เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 0.08 1. เทียบกับเดือนมกราคม 2565 สูงขึ้นร้อยละ 5.02(YoY)โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้*หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 7.70 ตามการสูงขึ้นของกลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งร้อยละ 5.48 จากการสูงขึ้นของราคาข้าวสารเจ้าข้าวสารเหนียว และขนมอบ กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำร้อยละ 2.72 จากการสูงขึ้นของราคาไก่สด ปลาทู และปลานิล กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นมร้อยละ 9.66 จากการสูงขึ้นของราคาไข่ไก่ นมผง และนมถั่วเหลือง กลุ่มผักสดร้อยละ 19.62 จากการสูงขึ้นของราคาต้นหอม มะเขือ และมะนาว กลุ่มผลไม้สดร้อยละ 10.11 จากการสูงขึ้นของราคาแตงโม ส้มเขียวหวาน และมะม่วง กลุ่มเครื่องประกอบอาหารร้อยละ 5.61 จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันพืช ซีอิ๊ว และน้ำพริกแกง กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 5.17 จากการสูงขึ้นของราคากาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) กาแฟผงสำเร็จรูป และน้ำหวาน กลุ่มอาหารบริโภคในบ้านร้อยละ 9.19 จากการสูงขึ้นของราคากับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว และข้าวแกง/ข้าวกล่อง และกลุ่มอาหารบริโภคนอกบ้านร้อยละ 8.56 จากการสูงขึ้นของราคาอาหารเช้า อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) และอาหารเย็น (อาหารตามสั่ง)*หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 3.18 โดยมีสาเหตุหลักจากการสูงขึ้นของหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารร้อยละ 4.26 จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 9.77 และค่าโดยสารสาธารณะ ร้อยละ 6.22 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าร้อยละ 0.22 จากการสูงขึ้นของราคาเครื่องแบบนักเรียนอนุบาล ค่าจ้างซักรีด และเสื้อเชิ้ตสตรี หมวดเคหสถานร้อยละ 3.11 จากการสูงขึ้นของราคาค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม และผงซักฟอก หมวดการตรวจรักษา และบริการส่วนบุคคลร้อยละ 1.94 จากการสูงขึ้นของราคายาสีฟัน ค่าแต่งผมชาย และสบู่ถูตัวหมวดการบันเทิง การอ่านการศึกษาฯร้อยละ 1.41 จากการสูงขึ้นของราคาค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษาในทุกระดับชั้น หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.98 จากการสูงขึ้นของราคาเบียร์ และไวน์ และกลุ่มการสื่อสารร้อยละ 0.01 จากการสูงขึ้นของค่าส่งพัสดุ 2. เทียบกับเดือนธันวาคม 2565สูงขึ้นร้อยละ 0.30(MoM) โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

*หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.41 โดยมีสาเหตุหลักจากการสูงขึ้นของหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารร้อยละ 0.64 จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 1.49และค่าโดยสารสาธารณะ ร้อยละ 0.47 หมวดเคหสถานร้อยละ 0.35 จากการสูงขึ้นของราคาค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน และผลิตภัณฑ์ซักผ้า หมวดการตรวจรักษา และบริการส่วนบุคคลร้อยละ 0.18 จากการสูงขึ้นของราคาโฟมล้างหน้า ยาสีฟัน และแป้งทาผิว หมวดการบันเทิง การอ่านการศึกษาฯร้อยละ 0.02 จากการสูงขึ้นของราคาอาหารสัตว์เลี้ยง และบัตรชมภาพยนตร์ หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.09 จากการสูงขึ้นของราคาเบียร์ และสุรา ขณะที่กลุ่มการสื่อสาร ราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง*หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.13 โดยมีสาเหตุหลักจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำร้อยละ 0.15 จากการสูงขึ้นของราคาปลาทู กุ้งขาว และไก่สด กลุ่มไข่ และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 1.45 จากการสูงขึ้นของราคาไข่ไก่ นมถั่วเหลือง และนมเปรี้ยว กลุ่มผลไม้สดร้อยละ 1.78 จากการสูงขึ้นของราคาส้มเขียวหวาน องุ่น และมะม่วง กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.08 จากการสูงขึ้นของราคากาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม และน้ำหวาน กลุ่มอาหารบริโภคในบ้านร้อยละ 0.27 จากการสูงขึ้นของราคากับข้าวสำเร็จรูป อาหารว่าง และข้าวแกง/ข้าวกล่อง และกลุ่มอาหารบริโภคนอกบ้าน ร้อยละ 0.09 จากการสูงขึ้นของราคาอาหารแบบตะวันตก (ไก่ทอด พิซซ่า) และอาหารเช้า สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ และ กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งร้อยละ -0.36 จากการลดลงของราคาข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และขนมปังปอนด์ กลุ่มผักสดร้อยละ -2.30 จากการลดลงของราคาต้นหอม ผักชี และมะเขือ และกลุ่มเครื่องประกอบอาหารร้อยละ -0.12 จากการลดลงของราคาน้ำมันพืช ซอสหอยนางรม และเครื่องปรุงรส

3. อัตราการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ (YoY) จำแนกรายภาค เดือนมกราคม 2566

อัตราการเปลี่ยนแปลง(YoY) จำแนกรายภาค พบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทุกภาคสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงโดยมีรายละเอียดดังนี้

รวมอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มภาค

การเปลี่ยนแปลง (ร้อยละ)การเปลี่ยนแปลง (ร้อยละ)การเปลี่ยนแปลง (ร้อยละ)1. กรุงเทพฯ และปริมณฑล 5.44 9.60 2.90 2. ภาคกลาง 4.91 7.29 3.36 3.ภาคเหนือ4.88 7.01 3.29 4. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4.62 6.56 3.13 5. ภาคใต้5.12 7.68 3.32 ดัชนีราคาผู้บริโภคจำแนกรายภาค พบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคในทุกภาคเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงในทุกภูมิภาคซึ่งในเดือนนี้อัตราเงินเฟ้อของกรุงเทพฯ และปริมณฑลสูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ โดยสูงขึ้นร้อยละ 5.44 รองลงมา ได้แก่ ภาคใต้ สูงขึ้นร้อยละ 5.12 ภาคกลาง สูงขึ้นร้อยละ4.91และภาคเหนือ สูงขึ้นร้อยละ 4.88 ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือสูงขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าทุกภูมิภาคที่ร้อยละ 4.62

เมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้า พบว่า สินค้าสำคัญที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นในทุกภาค ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง อาหารกลางวัน(ข้าวราดแกง) และกับข้าวสำเร็จรูปสำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลงในทุกภาคได้แก่ เนื้อสุกร ขิง และพริกสด เป็นต้น

4. แนวโน้มเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์2566

คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ลดลง ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อขยายตัวยังคงเป็นราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ และราคาสินค้าในกลุ่มอาหารที่ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง และค่าจ้างแรงงาน ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว และนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งจะทำให้ความต้องการบริโภคโดยรวมและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชะลอตัว และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าของไทยลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อของไทยไม่สูงมากนัก

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ระหว่างร้อยละ 2.0-3.0 ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทย และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง

Concept ดัชนีราคาผู้บริโภคประเทศไทย ปีฐาน 2562 มีจำนวนรายการสินค้าและบริการ ทั้งสิ้น 430 รายการ (ปีฐาน 2558 มีจำนวน 422 รายการ)ครอบคลุมสินค้าและบริการ 7 หมวดที่จำเป็นต่อการครองชีพ ได้แก่1) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 3) หมวดเคหสถาน4) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล5) หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร 6) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ 7) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ โดยการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปนั้น จะเปรียบเทียบราคาสินค้าในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ กับราคาสินค้าในช่วงเวลาเริ่มต้น เรียกว่า "ปีฐาน"ที่กำหนดตัวเลขดัชนีเท่ากับ 100 ทั้งนี้ ครัวเรือนผู้บริโภคที่ครอบคลุมในการคำนวณดัชนีปีฐาน 2562 ได้แก่ ครัวเรือนรวมเขตเทศบาล กรอบรายได้ 6,987-50,586บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน รวมค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นตัวเงินไม่เกิน ร้อยละ 42.19 สมาชิกครัวเรือนตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภูมิภาค 4 ภาค รวมทั้งสิ้น 48 จังหวัดทั้งนี้ ในปี 2566 ได้มีการเพิ่มจังหวัดตัวแทนอีก 4 จังหวัด รวมเป็น 52 จังหวัด1/

เพื่อให้ดัชนีราคาผู้บริโภคมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

1/52 จังหวัด ที่ใช้ในการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภค ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1. กรุงเทพมหานคร 2.นนทบุรี 3.ปทุมธานี 4.สมุทรปราการ ภาคกลาง5.พระนครศรีอยุธยา 6.ลพบุรี 7.สิงห์บุรี 8.ชลบุรี 9.ระยอง 10.จันทบุรี 11.ปราจีนบุรี 12.ราชบุรี 13.สุพรรณบุรี 14.เพชรบุรี 15.ประจวบคีรีขันธ์ 16.ฉะเชิงเทรา17.นครปฐม 18.สระแก้ว 19.กาญจนบุรี ภาคเหนือ20.นครสวรรค์ 21.ตาก 22.แพร่ 23.เชียงใหม่ 24.เชียงราย 25.อุตรดิตถ์ 26.พิษณุโลก 27.เพชรบูรณ์ 28.น่าน 29. พะเยา 30. ลำปางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ31.นครราชสีมา 32.ขอนแก่น 33.สุรินทร์ 34.อุบลราชธานี 35.หนองคาย 36.ศรีสะเกษ 37.มุกดาหาร 38.อุดรธานี 39.ร้อยเอ็ด40.นครพนม 41.เลย 42.กาฬสินธุ์ 43.บึงกาฬ ภาคใต้44.สุราษฎร์ธานี 45.นครศรีธรรมราช 46.ตรัง 47.สงขลา 48.ยะลา 49.ภูเก็ต 50.กระบี่ 51. นราธิวาส 52.ระนอง

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองดัชนีเศรษฐกิจการค้าสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2507 5850

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ