ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนกุมภาพันธ์ 2566 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 110.3 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สูงขึ้นร้อยละ 1.6 (YoY) โดยเป็นการสูงขึ้นในทิศทางชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่แปด จากราคาสินค้าผู้ผลิตทั้ง 3 หมวดหลัก ประกอบด้วย หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.0 ตามต้นทุนการผลิตที่ทยอยปรับสูงขึ้นในปีก่อนหน้าทั้งราคาวัตถุดิบ พลังงาน และบรรจุภัณฑ์ โดยกลุ่มสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ และผลิตภัณฑ์อโลหะ หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 11.5 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ หินก่อสร้าง และทราย และหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 2.0 เป็นผลจากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือก หัวมันสำปะหลังสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชผัก ไก่/สุกรมีชีวิต ไข่ไก่ ไข่เป็ด และผลิตภัณฑ์จากการประมง
1. เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 1.6 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.0 จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร มันเส้น น้ำตาลทราย ข้าวสารเจ้า ข้าวนึ่ง ปลาทูน่ากระป๋อง ไก่สด ปลาหมึกแช่แข็ง เนื้อปลาสดแช่แข็ง และอาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้น ประกอบกับปริมาณวัตถุดิบมีน้อย รวมถึงความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศยังอยู่ในระดับสูง กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสไดรฟ์) เนื่องจากเป็นสินค้าส่งออก ซึ่งราคาปรับตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่องในปีก่อน กลุ่มเครื่องดื่ม ได้แก่ สุรากลั่น เบียร์ และเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เนื่องจากต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ ราคาเคลื่อนไหวตามตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ ได้แก่ ปูนเม็ด กระเบื้องปูพื้น-บุผนัง โถส้วม เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่ทำจากเซรามิก เสาเข็มคอนกรีต ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และอ่างล้างหน้า เนื่องจากต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้นทั้งราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน และค่าจ้างแรงงาน กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ กล่องกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษคร๊าฟท์ เนื่องจากราคาวัตถุดิบทั้งนำเข้าและในประเทศ และราคาพลังงานปรับสูงขึ้น กลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถบรรทุกขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ตัวถังรถยนต์ และรถยนต์นั่ง เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ประกอบกับมีการปรับโฉมรถใหม่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 น้ำมันเครื่องรถยนต์ น้ำมันก๊าด และยางมะตอย เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามราคาในตลาดโลก หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 11.5 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ตามทิศทางราคาตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น หินก่อสร้าง และทราย เนื่องจากต้นทุนการผลิตด้านพลังงานปรับสูงขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 2.0 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมทางการค้าและบริการกลับมาเป็นปกติ หลังมีการเปิดประเทศทั่วโลก ประกอบกับข้าวไทยยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้ราคายังอยู่ในเกณฑ์ดี หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากความต้องการนำไปแปรรูปเป็นมันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง และเอทานอล ยังคงมีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลัก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี และพืชผัก (มะนาว หน่อไม้ฝรั่ง ถั่วฝักยาว แตงกวา ต้นหอม พริกสด ผักกาดขาว หอมแดง มะเขือ ผักบุ้ง พริกชี้ฟ้าสด แตงร้าน ผักขึ้นฉ่าย ข้าวโพดฝักอ่อน มะเขือเทศ มะระจีน บวบ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน กลุ่มสัตว์ ได้แก่ ไก่/สุกรมีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังอยู่ในระดับสูง และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาหมึกกล้วย ปูม้า ปลาลัง ปลาทูสด หอยนางรม ปลาดุก กุ้งทะเล ปลาช่อน ปลาทรายแดง หอยแมลงภู่ ปลาอินทรี ปลาจะระเม็ด และหอยลาย เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่ความต้องการชะลอตัว ส่งผลให้ราคาปรับลดลง ยางพารา เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการยางพาราเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องลดลง และผลไม้ (มะม่วง ชมพู่ กล้วยหอม องุ่น มะขาม) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย
2. เทียบกับเดือนมกราคม 2566 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.3 โดยหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 6.0 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ และแร่โลหะ (แร่สังกะสี เหล็ก ดีบุก วุลแฟรม) ตามทิศทางราคาตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น หินก่อสร้าง และทราย เนื่องจากผู้ผลิตบางรายปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 1.5 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการของตลาดมีอย่างต่อเนื่อง หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากความต้องการใช้ทั้งในและต่างประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกไปจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ สับปะรดโรงงาน เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดไม่มาก โรงงานจึงมีการแข่งขันกันรับซื้อในราคาที่สูงขึ้น และพืชผัก (มะนาว หน่อไม้ฝรั่ง แตงกวา หอมแดง ผักกวางตุ้ง กระเทียม แตงร้าน ผักขึ้นฉ่าย พริกสด ผักกาดหัว พริกชี้ฟ้าสด) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง และภาครัฐมีนโยบายเร่งผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบเพื่อลดปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับอินโดนีเซียได้ปรับลดสัดส่วนการส่งออกลง ส่งผลให้ราคาในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ยางพารา (น้ำยางสด ยางแผ่นดิบ เศษยาง) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง จากสถานการณ์ระบาดของโรคใบร่วงทำให้เข้าสู่ฤดูปิดกรีดหน้ายางเร็วขึ้น มะพร้าวผล เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการของโรงงานที่มีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ปลาหมึกกล้วย กุ้งแวนนาไม ปลาทูสด กุ้งทะเล ปลาอินทรี ปูม้า และปลาจะระเม็ด เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจากธุรกิจการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากเกษตรกรที่เก็บสต็อกไว้เริ่มนำผลผลิตออกมาจำหน่าย ราคาจึงปรับลดลงเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในระดับสูง และผลไม้ (ชมพู่ มะม่วง สับปะรดบริโภค องุ่น ส้มเขียวหวาน กล้วยหอม มะขาม) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเพียงพอกับความต้องการบริโภค ราคาจึงปรับลดลงเล็กน้อย ปลาน้ำจืด ได้แก่ ปลาดุก ปลาช่อน ปลาตะเพียน และปลานิล เนื่องจากความต้องการบริโภคชะลอตัว หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.2 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล เนื่องจากปริมาณผลผลิตน้ำมันดีเซลในหลายประเทศปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจีน ตะวันออกกลาง และสิงคโปร์ น้ำมันหล่อลื่น และน้ำมันเครื่องบิน ราคาปรับลดลงตามราคาวัตถุดิบในเดือนก่อน กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ ไก่สดแช่แข็ง และข้าวสารเจ้า เนื่องจากผู้ผลิตบางรายต้องการระบายสินค้าในสต็อก จึงปรับราคาลงเพื่อกระตุ้นการบริโภค เนื้อสุกร เนื่องจากมีปริมาณสุกรเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น จึงมีการปรับราคาตามกลไกตลาด เนื้อปลาบด น้ำมันปาล์ม และน้ำมันถั่วเหลืองบริสุทธิ์ เนื่องจากราคาวัตถุดิบลดลง กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ โซดาไฟ เม็ดพลาสติกและวัตถุดิบ เนื่องจากความต้องการของตลาดชะลอตัว ประกอบกับราคาเคลื่อนไหวตามราคาอ้างอิงตลาดโลก และปุ๋ยเคมีผสม เนื่องจากราคาวัตถุดิบนำเข้าปรับลดลง กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ ผ้าฝ้าย และเส้นใยสังเคราะห์ และกลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ และกล่องกระดาษ เนื่องจากราคาวัตถุดิบลดลง และกลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ได้แก่ ชามสลัด เนื่องจากราคาปรับลดลงตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าในเดือนนี้
3. เฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค. ? ก.พ.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 2.0 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.3 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 14.4 หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 2.4
4. แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนมีนาคม 2566
ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนมีนาคม 2566 มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ตามราคาพลังงานที่ต่ำกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก ซึ่งส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ในหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดอุตสาหกรรมชะลอตัวลง นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในประเทศคู่ค้าสำคัญ ส่งผลให้ความต้องการและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกลดลง ประกอบกับฐานราคาเดือนมีนาคม 2565 ที่อยู่ในระดับสูง มีส่วนทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิตชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่อาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรและประมง ต้นทุนการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งค่าไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรม ค่าจ้างขั้นต่ำ และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว ความไม่แน่นอนของอุปทานน้ำมัน และอุปสงค์ภายในประเทศที่ได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว ทั้งการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนและโครงการเราเที่ยวด้วยกัน อาจส่งผลต่ออุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการ ซึ่งจะกระทบต่อภาคการผลิตและดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทยตามลำดับ ทั้งนี้ จะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่า ดัชนีราคาหมวดสินค้าสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.9 จากการสูงขึ้นของราคาในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มสินค้าทุน และหมวดสินค้าวัตถุดิบ สูงขึ้นร้อยละ 6.2 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มวัตถุดิบสำหรับอาหารและกลุ่มวัตถุดิบที่ไม่ใช่อาหาร ขณะที่หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) ลดลงร้อยละ 0.7 จากการลดลงของราคาในกลุ่มสินค้ากึ่งสำเร็จรูปสำหรับอุตสาหกรรม (ที่ไม่ใช่อาหาร) ได้แก่ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว พลาสติกและวัตถุดิบพลาสติก ยางพารา และยางสังเคราะห์
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์