ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนกุมภาพันธ์ 2566 เท่ากับ 113.3 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 สูงขึ้นร้อยละ 2.6 (YoY) ทั้งนี้ เป็นผลจากการสูงขึ้นของทุกหมวดสินค้า อาทิ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ซีเมนต์
ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ซึ่งสาเหตุหลักยังคงเป็นต้นทุนที่สูงกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งวัตถุดิบและพลังงาน อีกทั้งปัจจัยบวกจากนโยบายเปิดประเทศทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาคาร ที่พักอาศัย เร่งปรับปรุง
และก่อสร้างเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ส่งผลให้มีความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น
เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น ร้อยละ 0.2 เป็นผลจากดัชนีหมวดซีเมนต์ และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ โดยเฉพาะยางมะตอย สูงขึ้นตามราคาน้ำมันและวัสดุธรรมชาติ (หิน ดิน ทราย)
สูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ และพลังงาน รวมทั้งแหล่งผลิตมีน้อย นอกจากนี้ ยังมีหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปาสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ (เม็ดพลาสติก ทองแดง) และพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น
การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง
1. เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 2.6 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้
หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 7.2 จากการสูงขึ้นของวงกบหน้าต่าง ไม้แบบ ไม้ฝา ไม้พื้น ไม้คาน ไม้โครงคร่าว และแผ่นไม้อัด เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์
สูงขึ้นร้อยละ 4.9 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนฉาบสำเร็จรูป และปูนซีเมนต์ผสม เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทั้งราคา วัตถุดิบ (แร่ยิปซั่ม หินปูน) และราคาพลังงาน (ถ่านหิน น้ำมัน)
หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 2.7 จากการสูงขึ้นของผนังคอนกรีตสำเร็จรูป ชีทไพล์คอนกรีต คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง คานคอนกรีตสำเร็จรูป
และถังซีเมนต์สำเร็จรูป ตามการสูงขึ้นของวัตถุดิบ (เหล็ก ซีเมนต์ หิน ทราย) และราคาพลังงาน รวมทั้งความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ที่สำเร็จรูปเพิ่มขึ้น หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 1.0
จากการสูงขึ้นของข้อต่อเหล็ก ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ชีทไพล์เหล็ก ตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป เหล็กตัว I เหล็กตัว H และลวดผูกเหล็ก แม้ว่าราคาวัตถุดิบ (เศษเหล็ก) ในประเทศจะอ่อนตัวลง แต่ราคาพลังงาน
ยังสูงกว่าปีที่ผ่านมา หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.8 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องลอนคู่ กระเบื้องคอนกรีตมุงหลังคา กระเบื้องแกรนิต และกระเบื้องเคลือบปูพื้น เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นจากราคาพลังงานเป็นสำคัญ
หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 1.6 จากการสูงขึ้นของสีรองพื้นโลหะ สีทาถนนชนิดสะท้อนแสง น้ำยากันซึม สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นปูน และน้ำมันเคลือบแข็ง ตามผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี (ตัวทำละลาย ผงสี กาว)
ที่ปรับตัวสูงขึ้น หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.7 จากการสูงขึ้นของสายน้ำดี ที่ใส่กระดาษชำระ และราวจับสแตนเลส เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ (สแตนเลส) และพลังงาน หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา
สูงขึ้นร้อยละ 1.5 จากการสูงขึ้นของถังเก็บน้ำสแตนเลส ท่อ PE ถังดักไขมัน ตะแกรงกรองผง และประตูน้ำ เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ (สแตนเลส เม็ดพลาสติก) หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 3.9
จากการสูงขึ้นของฉนวนกันความร้อน อลูมิเนียมแผ่นเรียบ และวงกบอลูมิเนียม ตามการสูงขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ (ทองแดง สังกะสี) และพลังงาน
2. เทียบกับเดือนมกราคม 2566 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.2 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้
ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก หมวดกระเบื้อง และหมวดสุขภัณฑ์ ในขณะที่หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 0.5 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม
และปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เนื่องจากราคาวัตถุดิบ (ปูนเม็ด) และพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.2 สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จากการสูงขึ้นของผนังคอนกรีตสำเร็จรูป
พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง และเสาเข็มคอนกรีต- อัดแรง เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ (ปูนซีเมนต์) และความต้องการใช้สูงขึ้น หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของสีรองพื้นโลหะ และน้ำยากันซึม
เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสูงขึ้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.2 จากการสูงขึ้นของท่อ PVC สามทาง-ข้อต่อ-ข้องอท่อประปา ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์ PVC เนื่องจากการสูงขึ้นของต้นทุน
ราคาวัตถุดิบ (เม็ดพลาสติก ทองแดง) และพลังงานที่สูงขึ้น หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 0.5 จากการสูงขึ้นของยางมะตอย ที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันปิโตรเลียม และวัสดุธรรมชาติ (หิน ดิน ทราย) ตามความต้องการใช้งาน
และค่าขนส่งที่สูงขึ้น
3. เฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 3.0 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้
หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 7.3 จากการสูงขึ้นของวงกบหน้าต่าง ไม้แบบ ไม้ฝา ไม้พื้น ไม้คาน และไม้โครงคร่าว เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 4.8
จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนฉาบสำเร็จรูป และปูนซีเมนต์ผสม ที่สูงขึ้นจากราคาพลังงาน (ถ่านหิน น้ำมัน) หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 2.6 ยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการสูงขึ้นของชีทไพล์คอนกรีต
ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป และคอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา เนื่องจากต้นทุนและความต้องการใช้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 2.5 จากการสูงขึ้นของท่อเหล็กร้อยสายไฟ ข้อต่อเหล็ก
และตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป เป็นผลจากต้นทุนราคาพลังงานสูงขึ้น หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.8 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องลอนคู่ ครอบสันโค้ง และกระเบื้องคอนกรีตมุงหลังคา เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ
(ดินขาว ผลิตภัณฑ์เคลือบผิว) และราคาพลังงานสูงขึ้น หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 1.6 จากการสูงขึ้นของสีรองพื้นโลหะ สีทาถนนชนิดสะท้อนแสง และสีเคลือบน้ำมัน ตามการสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบ (ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี) และ
ราคาพลังงาน หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.6 จากการสูงขึ้นของสายน้ำดี และที่ใส่กระดาษชำระ ตามการสูงขึ้นของวัตถุดิบ (สแตนเลส) และราคาพลังงาน หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 1.5 จากการสูงขึ้น
ของถังเก็บน้ำสแตนเลส ท่อ PE และถังดักไขมัน ตามการสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบ (สแตนเลส เม็ดพลาสติก) และราคาพลังงาน หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 4.0 จากการสูงขึ้นของฉนวนกันความร้อน อลูมิเนียมแผ่นเรียบ และ
วงกบอลูมิเนียม ตามการสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบ (ทองแดง สังกะสี) และราคาพลังงาน
4. แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2566
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนมีนาคม ปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวไม่มากนัก โดยมีอัตราการขยายตัวที่ใกล้เคียงกับเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ตามการขยายตัวที่ลดลงอย่างต่อเนื่องของ
หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เนื่องจากฐานราคาที่สูงในช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนปัจจัยที่ทำให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างยังมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากต้นทุนการผลิต อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าแรงงาน และ
ต้นทุนทางการเงินที่ยังสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนของภาครัฐ มีส่วนทำให้ภาคการก่อสร้างและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
ปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม การลดราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ที่ประมาณ 34 บาทต่อลิตร ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จะมีส่วนชะลอการเพิ่มขึ้นของค่าขนส่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับภาคการก่อสร้างและ
ราคาวัสดุก่อสร้าง ขณะเดียวกัน อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และมาตรการส่งเสริมภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง มีส่วนชะลอความต้องการใช้ วัสดุก่อสร้างในประเทศ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัว
น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์