ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนมกราคม 2566

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 27, 2023 15:22 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

สนักงนนโยบยและยุทธศสตร์กรค (สนค.)ดัชนีราคาส่งออกเดือนมกราคม 2566 เท่ากับ 108.7 ดัชนีราคานำเข้าเดือนมกราคม 2566 เท่ากับ 112.4 เมื่อเทียบกับระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงร้อยละเมื่อเทียบกับระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงร้อยละ1. เดือนมกราคม 2565 (YoY)สูงขึ้น3.0 1. เดือนมกราคม 2565 (YoY)สูงขึ้น5.4 2. เดือนธันวาคม 2565 (MoM) สูงขึ้น0.6 2. เดือนธันวาคม 2565 (MoM) สูงขึ้น1.3 Highlights

ดัชนีราคาส่งออก เดือนมกราคม 2566 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 3.0(YoY) ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ที่ร้อยละ 3.2 ปัจจัยหลักเป็นผลจากการชะลอตัวของอุปสงค์โลก ทำให้ความต้องการสินค้าจากต่างประเทศในหลายกลุ่มสินค้าชะลอลง อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาส่งออก ยังคงปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นในอัตราชะลอลง ที่ร้อยละ 19.1จาก 26.3 ในเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลก และความต้องการใช้ที่ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 5.4 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.0 โดยสินค้าเกษตรแปรรูปที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 5.3 ได้แก่ ข้าว ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เนื่องจากความต้องการเพื่อนำไปใช้ประกอบอาหาร และใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.7 ชะลอตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ที่ร้อยละ 1.8 ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และสิ่งทอ ซึ่งแม้ว่าราคาชะลอลงแต่ยังขยายตัวได้ดี ขณะที่สินค้าที่ราคาปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ตามสถานการณ์การขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ที่เริ่มคลี่คลาย และทองคำ เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ที่อ่อนค่า

ดัชนีราคานำเข้า เดือนมกราคม 2566 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นในอัตราชะลอลงเช่นกัน ที่ร้อยละ 5.4 (YoY) จากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.4 โดยหมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นในอัตราชะลอลง ร้อยละ 16.8 จากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 27.3 โดยเฉพาะน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นผลจากฐานราคาปีก่อนหน้าที่ยังทรงตัวในระดับสูง ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันเริ่มชะลอลงตามทิศทางเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว สำหรับก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ราคาชะลอลงจากปริมาณการสำรองก๊าซธรรมชาติที่มีเป็นจำนวนมาก หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 5.0 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน โดยเฉพาะเครื่องมือสื่อสาร ตามความต้องการสินค้าเทคโนโลยีสมัยใหม่ สำหรับเสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักและผลไม้ ตามความต้องการนำเข้าเพื่อใช้อุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 3.6 ได้แก่ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ และสินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ตามต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 2.6 ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องรับส่งสัญญาณและอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์โลหะ และอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อหรือป้องกันวงจรไฟฟ้า ตามต้นทุนวัตถุดิบ และความต้องการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง หดตัวในอัตราน้อยลงร้อยละ 0.7 จากเดือนก่อนหน้า ที่ลดลงร้อยละ 2.3 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ โดยได้รับอานิสงส์จากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เริ่มฟื้นตัว

แนวโน้มดัชนีราคาส่งออกและนำเข้า เดือนกุมภาพันธ์ 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่มีแนวโน้มชะลอลง ตามความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก โดยปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้ดัชนีมีทิศทางชะลอลง ประกอบด้วย 1) เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ จากผลของเศรษฐกิจประเทศหลักที่มีแนวโน้มชะลอตัว 2) ผลกระทบที่เกิดจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ 3) ประเทศคู่ค้าหลักยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ 4) ราคาน้ำมันตลาดโลกยังทรงตัวในระดับสูง และ 5)ความผันผวนของค่าเงินบาทอัตราการค้า (Term of Trade)เดือนมกราคม 2566

อัตราการค้าของไทย ในเดือนมกราคม 2566 เท่ากับ 96.7 (เดือนธันวาคม 2565 เท่ากับ 97.3) ลดลงจากเดือนก่อนหน้า และต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกัน สะท้อนถึง ไทยมีความเสียเปรียบทางโครงสร้างราคาระหว่างประเทศ เนื่องจากระดับราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก โดยมีปัจจัยหลักจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทรงตัวสูง ส่งผลให้ราคานำเข้าน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน (ซึ่งมีสัดส่วนน้ำมันนำเข้าสูงกว่าส่งออก) สูงขึ้นในอัตราที่มากกว่าการสูงขึ้นของราคาส่งออก นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง จะยังคงส่งผลให้อัตราการค้าไทยอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ต่อไปอีกระยะหนึ่ง

1. เทียบกับเดือนธันวาคม 2565 (MoM)สูงขึ้นร้อยละ 0.6และมีการเปลี่ยนแปลงของแต่ละหมวดสินค้า ดังนี้ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 2.3 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ตามทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลก เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันในจีนที่มีแนวโน้มฟื้นตัว หลังจีนผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 และเปิดประเทศมากขึ้น ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวจัดในหลายประเทศ หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.3 ได้แก่ ข้าว ตามความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น รวมถึงมีการใช้ข้าวทดแทนสินค้ากลุ่มธัญพืชที่ราคาปรับสูงขึ้น สำหรับยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราของจีนเพิ่มขึ้น หลังจากมีการยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ตามความต้องการบริโภคของตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ตามความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ต้องการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อประกอบในอุตสาหกรรมแปรรูปเพิ่มขึ้น และไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ผลจากความต้องการบริโภคของตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เนื่องจากภาวะโลกร้อนส่งผลให้ความต้องการเพิ่มขึ้น ทองคำ ราคาสูงขึ้นเนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการเข้าซื้อทองคำ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯและรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลจากการได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้น ทำให้สามารถผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น ประกอบกับได้รับคำสั่งซื้อใหม่ในตลาดหลัก อาทิ ทวีปเอเชียและออสเตรเลียที่เศรษฐกิจมีการเติบโตสูง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ได้แก่อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง จากผลของต้นทุนวัตถุดิบที่นำมาใช้ประกอบอาหารแปรรูป และเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น สำหรับไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ตามความต้องการใช้ทั้งในภาคการบริโภคและภาคพลังงานเพิ่มขึ้น

2.เทียบกับเดือนมกราคม 2565 (YoY)สูงขึ้นร้อยละ 3.0โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วยหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 19.1 โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูป ราคายังทรงตัวในระดับสูง แต่มีทิศทางชะลอลงตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 5.4 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ตามต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงผลของความขัดแย้งในยูเครนที่ยังไม่คลี่คลาย ทำให้ผลผลิตธัญพืชและข้าวสาลีปรับตัวลดลง สำหรับไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ โดยเฉพาะสินค้าน้ำมันปาล์ม ราคายังทรงตัวสูงจากความต้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกในช่วงก่อนหน้า โดยปัจจัยหนึ่งเป็นผลจากอุปทานน้ำมันดอกทานตะวันหยุดชะงักจากปัญหาความขัดแย้งในยูเครน สำหรับน้ำตาลทราย ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูงประกอบกับอินเดียมีการจำกัดการส่งออกจนถึงเดือนตุลาคม 2566และการผลิตน้ำตาลทรายของบราซิลมีปริมาณลดลง หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 5.3 ได้แก่ ข้าว ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากตลาดมีความต้องการบริโภคอย่างต่อเนื่อง สำหรับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ราคาสูงขึ้นเนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยในช่วงปลายฤดูกาลผลิต และความต้องการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.7 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า จากสถานการณ์การขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ที่เริ่มคลี่คลาย ทำให้สามารถผลิตได้เพิ่มมากขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์ยาง ราคายังขยายตัวได้ดีตามความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมยางล้อ อุปกรณ์และอะไหล่รถยนต์ เป็นต้น

3. แนวโน้มดัชนีราคาส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2566

แนวโน้มดัชนีราคาส่งออก เดือนกุมภาพันธ์ 2566 คาดว่าขยายตัวได้ต่อเนื่องแต่มีแนวโน้มชะลอลง เป็นผลมาจาก (1) เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มชะลอตัวเนื่องจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงความขัดแย้งที่ยืดเยื้อระหว่างยูเครนและรัสเซีย และความขัดแย้งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐฯ จากกรณีไต้หวัน นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกยังได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงทำให้หลายประเทศมีการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด และส่งผลต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวและทำให้ความต้องการสินค้าปรับตัวลดลง (2) ราคาน้ำมันยังทรงตัวในระดับสูง (3)ต้นทุนปัจจัยการผลิตสินค้าขั้นกลางจากต่างประเทศมีแนวโน้มลดลง และ (4) ความผันผวนของค่าเงินบาทที่อาจมีแนวโน้มแข็งค่า ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของผู้ส่งออก

ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมกราคม 2566
1. เทียบกับเดือนธันวาคม 2565 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 1.3โดยมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 2.1 ได้แก่ น้ำมันดิบซึ่งเป็นผลจากความต้องการใช้น้ำมันที่สูงขึ้น และเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลก หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 1.4 ได้แก่ รถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น และทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้น หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.3 ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ โดยเฉพาะทองคำ จากความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยและความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และอุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะแผงวงจรไฟฟ้า มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากหลายอุตสาหกรรมกลับมาดำเนินการผลิตได้มากขึ้น ตามคำสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น ในหมวดอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 0.9 ได้แก่ ยารักษาโรค ตามกระแสการดูแลเชิงสุขภาพหลังช่วงโควิด-19 สำหรับเสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ มีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากการกลับไปทำกิจกรรมกลางแจ้งและการมีส่วนร่วมในสังคม และผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ทำให้ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าทุน ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.7 ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ตามความต้องการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

2. เทียบกับเดือนมกราคม 2565 (YoY)สูงขึ้นร้อยละ 5.4โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นในอัตราชะลอลง ร้อยละ 16.8 จากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 27.3 ได้แก่ น้ำมันดิบ ราคาสูงขึ้นตามความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจีนที่ผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ โควิด-19 และเริ่มเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.66 สำหรับก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และถ่านหิน ตามความต้องการใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้ามากขึ้น หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 5.0 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน โดยเฉพาะเครื่องมือสื่อสาร ตามความต้องการเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สูงขึ้น สำหรับเสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ มีความต้องการเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในการมอบเป็นของขวัญปีใหม่และเทศกาลตรุษจีน และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม โดยเฉพาะยารักษาโรคที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองและการใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 3.6 ได้แก่ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะแผงวงจรไฟฟ้า สำหรับเคมีภัณฑ์ สูงขึ้นตามความต้องการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต และสินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอลูมิเนียมและทองแดง ตามความต้องการนำไปใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 2.6 ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ตามความต้องการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์โลหะ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตามต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง หดตัวในอัตราน้อยลง ที่ร้อยละ 0.7 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ตามต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้น และได้รับอานิสงส์จากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เริ่มฟื้นตัว

ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมกราคม 2566 3. แนวโน้มดัชนีราคานำเข้า เดือนกุมภาพันธ์2566

แนวโน้มดัชนีราคานำเข้า เดือนกุมภาพันธ์ 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่อาจมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าคาดการณ์ จากผลกระทบของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่คลี่คลาย การดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด ส่งผลต่อราคาสินค้าที่มิใช่อาหาร นอกจากนี้ ค่าระวางเรือที่ลดลง ทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศลดลง ประกอบกับฐานราคาของปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ดัชนีราคานำเข้าชะลอตัว

ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนมกราคม 2566

อัตราการค้าของไทย ในเดือนมกราคม 2566 เท่ากับ 96.7(เดือนธันวาคม 2565 เท่ากับ 97.3) ลดลงจากเดือนก่อนหน้า และยังคงต่ำกว่า 100 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกัน แสดงถึง อัตราการค้าของไทยมีความเสียเปรียบเชิงโครงสร้างราคาระหว่างประเทศ เนื่องจากราคาส่งออกที่เสนอขายต่ำกว่าราคานำเข้าที่ซื้อเข้ามา

อัตราการค้าของไทย ในเดือนมกราคม 2566 เท่ากับ 96.7 (เดือนธันวาคม 2565 เท่ากับ 97.3) ลดลงจากเดือนก่อนหน้า และยังต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกัน สะท้อนว่า ไทยยังมีความเสียเปรียบทางโครงสร้างราคาระหว่างประเทศ เนื่องจากระดับราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก โดยมีปัจจัยหลักจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อนหน้า (การนำเข้าน้ำมันมีสัดส่วนสูงกว่าการส่งออกน้ำมัน) ส่งผลให้ดัชนีราคานำเข้ารวมสูงกว่าดัชนีราคาส่งออกรวม

สำหรับกลุ่มสินค้าที่ราคาส่งออกยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าราคานำเข้า (ได้เปรียบในอัตราการค้า) ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบขั้นกลางจากต่างประเทศในการผลิตเช่น เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว และเคมีภัณฑ์ และกลุ่มสินค้าขั้นกลางที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศในการผลิตเช่น ผลไม้ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และของปรุงแต่งทำจากผลไม้ ผัก ผักกระป๋องและแปรรูป และของปรุงแต่งทำจากผัก และผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวและแป้ง เป็นต้น

ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก (เสียเปรียบในอัตราการค้า) ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ทองคำ ทองแดงและผลิตภัณฑ์ และนมและผลิตภัณฑ์นม นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอื่น ๆ ที่ราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า แผงวงจรไฟฟ้า กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ สิ่งทอและเสื้อผ้า และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้นแนวโน้มอัตราการค้าไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2566 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากราคานำเข้ามีแนวโน้มลดลงมากกว่าราคาส่งออก อย่างไรก็ตาม อัตราการค้าน่าจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ตามราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวในระดับสูง

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


แท็ก ดัชนีราคา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ