ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมีนาคม 2566 และไตรมาสแรกของปี 2566

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 5, 2023 15:38 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมีนาคม 2566 เท่ากับ 107.76(ปีฐาน 2562 =100)

เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงร้อยละ1. เดือนมีนาคม2565 (YoY)สูงขึ้น2.83 2. เดือนกุมภาพันธ์ 2566 (MoM) ลดลง-0.27 3. ไตรมาสที่ 1 ปี 2566

สูงขึ้น3.88 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY) 4. ไตรมาสที่ 1 ปี 2566

สูงขึ้น0.05 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ)Highlights ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนมีนาคม 2566เท่ากับ 107.76 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 2.83 (YoY)เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 (เดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2566 สูงขึ้นร้อยละ 5.02 และ 3.79 ตามลำดับ) โดยปัจจัยสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลงอีก 0.50 บาท/ลิตร นอกจากนี้ราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงและเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ เนื้อสุกร น้ำมันพืช และของใช้ส่วนบุคคล เช่น สบู่ ยาสีฟัน ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว และครีมนวดผม อย่างไรก็ตาม มีสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น คือ ก๊าซหุงต้ม เนื่องจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานมีมติให้ปรับราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นอีก 15บาท/ถัง ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลงร้อยละ -0.27 (MoM)และไตรมาสที่ 1 ปี 2566 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 3.88

ทั้งนี้ เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 1.75 (YoY) เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 0.05 (MoM) และไตรมาสที่ 1 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 2.24 1. เทียบกับเดือนมีนาคม 2565 สูงขึ้นร้อยละ 2.83(YoY)โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 5.22 ตามการสูงขึ้นของกลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งร้อยละ 4.93 จากการสูงขึ้นของราคาข้าวสารเจ้าขนมอบ และข้าวสารเหนียว กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำร้อยละ 4.40 จากการสูงขึ้นของราคาเนื้อสุกร ไก่สด และปลาทู กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นมร้อยละ 5.99 จากการสูงขึ้นของราคาไข่ไก่ นมถั่วเหลือง และนมสด กลุ่มผักสดร้อยละ 11.93 จากการสูงขึ้นของราคามะนาว กะหล่ำปลี และแตงกวา กลุ่มผลไม้สดร้อยละ 9.35 จากการสูงขึ้นของราคาแตงโม ส้มเขียวหวาน และฝรั่ง กลุ่มเครื่องประกอบอาหารร้อยละ 1.27 จากการสูงขึ้นของราคาซีอิ๊ว น้ำพริกแกง และซอสหอยนางรม กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 4.04จากการสูงขึ้นของราคากาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) น้ำอัดลม และกาแฟผงสำเร็จรูป กลุ่มอาหารบริโภคในบ้านร้อยละ 4.51 จากการสูงขึ้นของราคากับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว และข้าวแกง/ข้าวกล่อง และกลุ่มอาหารบริโภคนอกบ้านร้อยละ 3.65 จากการสูงขึ้นของราคาอาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) อาหารเช้า และอาหารเย็น (อาหารตามสั่ง)หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.22 ตามการสูงขึ้นของหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าร้อยละ 0.26 จากการสูงขึ้นของราคาเสื้อยืดสตรี เครื่องแบบนักเรียนอนุบาล และค่าจ้างซักรีดหมวดเคหสถานร้อยละ 3.16 จากการสูงขึ้นของราคาค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม และค่าเช่าบ้าน หมวดการตรวจรักษา และบริการส่วนบุคคลร้อยละ 2.03 จากการสูงขึ้นของราคาค่าแต่งผมชาย ยาสีฟัน และสบู่ถูตัวหมวดการบันเทิง การอ่านการศึกษาฯร้อยละ 1.46 จากการสูงขึ้นของราคาค่าเล่าเรียนค่าธรรมเนียมการศึกษาในทุกระดับชั้น หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.69 จากการสูงขึ้นของราคาเบียร์ และไวน์ และกลุ่มการสื่อสารร้อยละ 0.02 จากการสูงขึ้นของค่าส่งพัสดุ ในขณะที่หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารลดลงร้อยละ -0.70จากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ -2.48เป็นสำคัญ 2. เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2566ลดลงร้อยละ -0.27(MoM)โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ -0.53 โดยมีสาเหตุหลักจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำร้อยละ -2.08 จากการลดลงของราคาเนื้อสุกร ไก่สด และปลาทู กลุ่มไข่ และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ -1.57 จากการลดลงของราคานมสด และไข่เป็ด และกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ -0.02 จากการลดลงของราคากาแฟสำเร็จรูป น้ำดื่มบริสุทธิ์ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งร้อยละ 0.51 จากการสูงขึ้นของราคาข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และแป้งข้าวเจ้า กลุ่มผักสดร้อยละ 0.32จากการสูงขึ้นของราคามะนาว กะหล่ำปลี และพริกสด กลุ่มผลไม้สดร้อยละ 0.43 จากการสูงขึ้นของราคาส้มเขียวหวาน แตงโม และฝรั่ง กลุ่มเครื่องประกอบอาหารร้อยละ 0.12จากการสูงขึ้นของราคาน้ำตาลทราย ซอสหอยนางรม และน้ำพริกแกง กลุ่มอาหารบริโภคในบ้านร้อยละ 0.02 จากการสูงขึ้นของราคาส้มตำ อาหารว่าง และผัดซีอิ๊ว/ราดหน้า และกลุ่มอาหารบริโภคนอกบ้านร้อยละ 0.13จากการสูงขึ้นของราคาอาหารเช้า และอาหารเย็น (อาหารตามสั่ง) หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ -0.08 โดยมีสาเหตุหลักจากการลดลงของหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารร้อยละ -0.32 จากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ -0.77 และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ -0.04 จากการลดลงของราคาเสื้อยืดบุรุษ และเสื้อเชิ้ต สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดเคหสถานร้อยละ 0.12 จากการสูงขึ้นของราคาก๊าซหุงต้ม และน้ำยาปรับผ้านุ่ม หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลร้อยละ 0.04 จากการสูงขึ้นของราคาน้ำยาระงับกลิ่นกาย แป้งทาผิว และผ้าอนามัย หมวดการบันเทิง การอ่านการศึกษาฯร้อยละ 0.05 จากการสูงขึ้นของราคาค่าทัศนาจรในประเทศ และต่างประเทศหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.01 จากการสูงขึ้นของราคาเบียร์ และไวน์ และค่าโดยสารสาธารณะ ร้อยละ 0.09 ขณะที่กลุ่มการสื่อสาร ราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง3. ไตรมาสที่ 1 ปี 2566 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 3.88(YoY) โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 6.22 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าทุกกลุ่ม โดยกลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งสูงขึ้นร้อยละ 4.78 จากการสูงขึ้นของราคาข้าวสารเจ้า และข้าวสารเหนียว กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำร้อยละ 3.67จากการสูงขึ้นของราคาเนื้อสุกร ไก่สด และปลาทู กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นมร้อยละ 8.34จากการสูงขึ้นของราคาไข่ไก่ นมสด และนมเปรี้ยว กลุ่มผักสดร้อยละ 15.65 จากการสูงขึ้นของราคาผักกาดขาว มะนาว และกะหล่ำปลี กลุ่มผลไม้สดร้อยละ 9.68 จากการสูงขึ้นของราคาส้มเขียวหวาน มะละกอสุก และแตงโม กลุ่มเครื่องประกอบอาหารร้อยละ 2.84 จากการสูงขึ้นของราคาซีอิ๊ว น้ำพริกแกง และกะปิ กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 4.61 จากการสูงขึ้นของราคากาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่มและกาแฟผงสำเร็จรูป กลุ่มอาหารบริโภคในบ้านร้อยละ 6.17 จากการสูงขึ้นของราคากับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว และข้าวแกง/ข้าวกล่อง) และกลุ่มอาหารบริโภคนอกบ้านร้อยละ 5.48 จากการสูงขึ้นของราคาอาหารเช้า อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) และอาหารเย็น (อาหารตามสั่ง))หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 2.28 โดยมีปัจจัยหลักจากการสูงขึ้นของหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารร้อยละ 1.97 ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 3.87 และค่าโดยสารสาธารณะ ร้อยละ 6.16 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าร้อยละ 0.25 จากการสูงขึ้นของราคาเสื้อกล้าม เสื้อยกทรง และเสื้อเชิ้ตสตรีหมวดเคหสถานร้อยละ3.12 จากการสูงขึ้นของราคาค่ากระแสไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม หมวดการตรวจรักษา และบริการส่วนบุคคลร้อยละ 1.99จากการสูงขึ้นของราคาแชมพู สบู่ถูตัว และยาสีฟันหมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาฯร้อยละ 1.42 จากการสูงขึ้นของราคาค่าห้องพักโรงแรม และค่าอาหารสัตว์เลี้ยง หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.93จากการสูงขึ้นของราคาเบียร์ ไวน์ และสุรา และกลุ่มการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 0.02จากการสูงขึ้นของค่าขนส่งพัสดุ

4. ไตรมาสที่ 1 ปี 2566 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 0.05(QoQ) โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.31 จากการสูงขึ้นของสินค้าหมวดเคหสถานร้อยละ 0.44หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลร้อยละ 0.33หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารร้อยละ 0.24 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯร้อยละ 0.12 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.23 ในขณะที่ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าลดลงร้อยละ -0.02 หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ -0.31 ตามการลดลงของสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำร้อยละ -1.10 กลุ่มผักสดร้อยละ -5.75 และกลุ่มเครื่องประกอบอาหารร้อยละ -0.31สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ กลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งร้อยละ 0.10กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นมร้อยละ 0.54 กลุ่มผลไม้สดร้อยละ 0.13กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.68 กลุ่มอาหารบริโภค-ในบ้านและกลุ่มอาหารบริโภค-นอกบ้านสูงขึ้นร้อยละ 0.78และ 0.50ตามลำดับ5. อัตราการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ (YoY) จำแนกรายภาค เดือนมีนาคม 2566

อัตราการเปลี่ยนแปลง(YoY) จำแนกรายภาค พบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทุกภาคสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงโดยมีรายละเอียดดังนี้

รวมอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มภาค

การเปลี่ยนแปลง (ร้อยละ)การเปลี่ยนแปลง (ร้อยละ)การเปลี่ยนแปลง (ร้อยละ)1. กรุงเทพฯ และปริมณฑล 3.15 6.23 1.25 2. ภาคกลาง 2.53 4.33 1.34 3.ภาคเหนือ3.21 5.87 1.27 4. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2.75 4.87 1.15 5. ภาคใต้2.52 4.76 0.94 ดัชนีราคาผู้บริโภคจำแนกรายภาค พบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคในทุกภาคเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงในทุกภาคซึ่งในเดือนนี้อัตราเงินเฟ้อของภาคเหนือสูงกว่าภาคอื่น ๆ โดยสูงขึ้นร้อยละ 3.21 รองลงมา ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล สูงขึ้นร้อยละ 3.15 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สูงขึ้นร้อยละ 2.75 และภาคกลาง สูงขึ้นร้อยละ2.53ในขณะที่ภาคใต้สูงขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าทุกภาคที่ร้อยละ 2.52

เมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้า พบว่า สินค้าสำคัญที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นในทุกภาค ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม อาหารกลางวัน(ข้าวราดแกง) กับข้าวสำเร็จรูป ไก่สด และมะนาวสำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลงในทุกภาคได้แก่ เนื้อสุกร น้ำมันพืช น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น 6. แนวโน้มเงินเฟ้อไตรมาสที่ 2 ปี 2566

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไตรมาสที่ 2ปี 2566 มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากราคาสินค้าสำคัญหลายรายการมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ ประกอบกับฐานราคาปี 2565 อยู่ระดับสูง และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การส่งออกของไทยที่ชะลอตัว และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจจะส่งผลให้กำลังซื้อของภาคธุรกิจและประชาชนลดลง ซึ่งมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มที่ยังอยู่ระดับสูง รวมทั้งการขาดแคลนแรงงาน ยังคงเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนอยู่ระดับสูง นอกจากนี้ เศรษฐกิจของไทยที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเทศกาลสงกรานต์ วันหยุดยาว และการหาเสียงของพรรคการเมือง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น และจะส่งผลต่ออุปสงค์โดยรวม ราคาสินค้าและบริการ ตามลำดับ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันจากระหว่างร้อยละ 2.0 -3.0(ค่ากลาง 2.5) เป็นระหว่างร้อยละ 1.7 -2.7 (ค่ากลาง 2.2)และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


แท็ก ดัชนีราคา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ