ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2566 และไตรมาสที่ 1 ของปี 2566

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 5, 2023 15:41 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2566

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมีนาคม 2566 เท่ากับ 113.6 เทียบกับเดือนมีนาคม 2565 สูงขึ้นร้อยละ 0.6 (YoY) เป็นผลจากดัชนีที่สูงขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า เนื่องจากต้นทุนที่ยังอยู่ในระดับสูงทั้งวัตถุดิบ พลังงาน และค่าขนส่ง ประกอบกับความต้องการใช้ในการก่อสร้างเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีแรงหนุนจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจน รวมทั้งการเร่งรัดการก่อสร้างโครงการภาครัฐ ขณะที่หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ราคาปรับลดลงต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณการผลิตเหล็กในกลุ่มประเทศผู้ผลิตที่สำคัญขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้มีปริมาณเหล็กในตลาดสูงกว่าปีก่อน

เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างสูงขึ้นร้อยละ 0.3 เป็นผลจากการสูงขึ้นหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต เนื่องจากมีความต้องการใช้ในการก่อสร้างงระบบระบายน้ำเพิ่มขึ้น หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ (เศษเหล็ก สินแร่เหล็ก) หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบเคมีภัณฑ์ หมวดสุขภัณฑ์ และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ยังคงได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาวัตถุดิบและพลังงานที่ยังทรงตัวในระดับสูง

การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง

1. เทียบกับเดือนมีนาคม 2565 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.6 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 6.4 จากการสูงขึ้นของไม้แบบ วงกบหน้าต่าง บานประตู ไม้โครงคร่าว และไม้พื้น เนื่องจากต้นทุนทั้งจากวัตถุดิบและพลังงานสูงขึ้น หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 3.8 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนการผลิตยังทรงตัวในระดับสูงทั้งราคาวัตถุดิบ (แร่ยิปซั่ม หินปูน) และราคาพลังงาน ประกอบกับความต้องการใช้เพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมาตามการฟื้นตัวของการก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชน หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 1.7 จากการสูงขึ้นของเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป คานคอนกรีตสำเร็จรูป ท่อระบายน้ำคอนกรีต ถังซีเมนต์สำเร็จรูป และชีทไพล์คอนกรีต เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นทั้งจากวัตถุดิบ (ซีเมนต์ หิน ทราย) และราคาพลังงาน หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ -4.0 สินค้าสำคัญที่ปรับตัวลดลง ได้แก่เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ - ผิวข้ออ้อย เมทัลชีท เหล็กตัวซี เหล็กแผ่นเรียบดำท่อเคลือบสังกะสี และท่อสแตนเลส เนื่องจากปริมาณการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าปี ที่ผ่านมา ในกลุ่มประเทศผู้ผลิตเหล็กที่สำคัญ ส่งผลให้มีปริมาณเหล็กในตลาดสูง หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.8 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต กระเบื้องเคลือบปูพื้น กระเบื้องยางพีวีซีปูพื้น กระเบื้องลอนคู่ และกระเบื้องคอนกรีตมุงหลังคา ตามการสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบ (ดิน หินแร่ สี วัสดุแต่งสี) และราคาพลังงาน ประกอบความต้องการใช้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 3.1 จากการสูงขึ้นของสีทาถนนชนิดสะท้อนแสง สีรองพื้นโลหะ น้ำยากันซึม สีเคลือบน้ำมัน และสีรองพื้นปูน สูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบเคมีภัณฑ์ (ผงสี) หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 1.5 จากการสูงขึ้นของราวจับสแตนเลส อ่างล้างหน้าเซรามิก สายน้ำดี ที่ใส่กระดาษชำระ โถส้วมชักโครก ราวแขวนผ้าติดผนัง และที่ปัสสาวะเซรามิก เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ (ดินขาว สแตนเลส) และราคาพลังงาน หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 1.3 จากการสูงขึ้นของท่อพีอี ถังดักไขมัน ตะแกรงกรองผง ประตูน้ำ ท่อระบายน้ำเสียพีวีซี ก๊อกน้ำ ถังบำบัดน้ำเสียระบบไม่อัดอากาศ เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ (เม็ดพลาสติก สแตนเลส โลหะ) หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 1.3 จากการสูงขึ้นของสินค้ากลุ่มวัสดุธรรมชาติ หิน ดิน ทราย ตามต้นทุนสูงขึ้นตามราคาพลังงานและค่าขนส่ง

2. เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2566 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าแต่ละหมวด ดังนี้ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากการสูงขึ้นของสินค้าสำคัญ ได้แก่ ท่อระบายน้ำคอนกรีต คอนกรีตหยาบ และถังซีเมนต์สำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ (แร่ยิปซั่ม) และสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบปรับราคาสูงขึ้น หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 0.6 จากการสูงขึ้นของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัส และท่อเหล็กเคลือบสังกะสี เนื่องจากราคาวัตถุดิบหลัก (เศษเหล็กและสินแร่เหล็ก) ในประเทศปรับสูงขึ้น ประกอบกับความต้องการใช้งานสูงขึ้นกว่าเดือนที่ผ่านมา หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 1.4 จากการสูงขึ้นของสีทาถนนชนิดสะท้อนแสง น้ำยากันซึม สีรองพื้นปูน และสีเคลือบน้ำมัน ตามการสูงขึ้นจากเคมีภัณฑ์ (กาวอะคริลิค ตัวทำละลาย ผงสี) รวมทั้งความต้องการใช้ในการซ่อมแซมและก่อสร้างถนนเพิ่มขึ้น หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.8 จากการสูงขึ้นของราวจับสแตนเลส โถส้วมชักโครก อ่างล้างหน้าเซรามิก และฝักบัวอาบน้ำ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ (สแตนเลส ดินขาว) ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้ง มีความต้องการใช้ในการก่อสร้างอาคารสูงเพิ่มขึ้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.5 จากการสูงขึ้นของท่อระบายน้ำเสียพีวีซี ท่อพีวีซี สายไฟฟ้า อุปกรณ์ข้อต่อ-ข้องอ-สามทางประปา ตามราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น (เม็ดพลาสติก) หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 0.4 จากฉนวนกันความร้อน เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงฤดูร้อน และหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หมวดซีเมนต์ และหมวดกระเบื้อง ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง

3. ไตรมาสที่ 1 ปี 2566 เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 2.2 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 7.1 จากการสูงขึ้นของไม้แบบ ไม้โครงคร่าว วงกบหน้าต่าง บานประตู ไม้พื้น ไม้ฝา และแผ่นไม้อัด เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่ง ที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 4.4 จากการสูงขึ้นของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และปูนฉาบสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ (หินปูนแร่ ยิปซั่ม) และราคาพลังงาน หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 2.3 จากการสูงขึ้นของเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป ท่อระบายน้ำคอนกรีต คานคอนกรีตสำเร็จรูป คอนกรีตผสมเสร็จ ชีทไพล์คอนกรีต ถังซีเมนต์สำเร็จรูป และเสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ (เหล็ก ซีเมนต์ หิน ทราย) และต้นทุนด้านพลังงานสูงขึ้น หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย ชีทไพล์เหล็ก ท่อเหล็กกลวงสี่เหลี่ยมจัตุรัส และตะแกรงเหล็กสำเร็จรูป เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ (เศษเหล็ก) ในประเทศสูงขึ้น รวมทั้งได้รับผลกระทบจากค่าไฟฟ้า หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.8 จากการสูงขึ้นของกระเบื้องแกรนิต กระเบื้องเคลือบปูพื้น กระเบื้องยางพีวีซีปูพื้น กระเบื้องลอนคู่ และกระเบื้องคอนกรีตมุงหลังคา ตามต้นทุนการผลิตทั้งราคาวัตถุดิบและราคาพลังงานปรับสูงขึ้น รวมทั้งความต้องการใช้ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 2.1 จากการสูงขึ้นของสีทาถนนชนิดสะท้อนแสง สีรองพื้นโลหะ น้ำยากันซึม สีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นปูน และน้ำยาเคลือบแข็ง เนื่องจากราคาวัตถุดิบเคมีภัณฑ์สูงขึ้นตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 1.0 จากการสูงขึ้นของราวจับสแตนเลส อ่างล้างหน้าเซรามิก ที่ใส่กระดาษชำระ เนื่องจากความต้องการใช้ในการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 1.4 จากการสูงขึ้นของท่อพีอี ถังดักไขมัน ถังบำบัดน้ำเสียระบบไม่อัดอากาศ ประตูน้ำ สายไฟฟ้า VCT สายส่งกำลังไฟฟ้า และท่อพีวีซี ตามการสูงขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ (ทองแดง เม็ดพลาสติก) และราคาพลังงาน หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 3.1 จากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มอะลูมิเนียม ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามวัตถุดิบ ยางมะตอย สูงขึ้นตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และหิน ดิน ทราย ต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งสูงขึ้นตามราคาพลังงาน

4. ไตรมาสที่ 1 ปี 2566 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) สูงขึ้นร้อยละ 0.6 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า ดังนี้ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 2.8 จากการสูงขึ้นของไม้คาน ไม้โครงคร่าว บานประตู ไม้แบบ ไม้ฝา ไม้พื้น แผ่นไม้อัด และเสาเข็มไม้ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 0.6 จากความต้องการใช้ในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้นทุนวัตถุดิบยังอยู่ในระดับสูง หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 0.2 จากการสูงขึ้นของผนังคอนกรีตสำเร็จรูป ชีทไพล์คอนกรีต ท่อระบายน้ำคอนกรีต เสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็ก และคอนกรีตผสมเสร็จ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ (ซีเมนต์ หิน ทราย) สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีที่ผ่านมา หมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.2 จากการสูงขึ้นของบัวเชิงผนังพีวีซี กระเบื้องยางพีวีซีปูพื้น กระเบื้องแกรนิต กระเบื้องเคลือบบุผนัง และกระเบื้องหินขัดปูพื้น เนื่องจากต้นทุนการผลิต (หิน ดินขาว เม็ดพลาสติก) สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.6 จากการสูงขึ้นของสีรองพื้นโลหะ สีรองพื้นปูน สีทาถนนชนิดสะท้อนแสง และน้ำมันเคลือบแข็ง เนื่องจากราคาวัตถุดิบเคมีภัณฑ์ (กาวอะคริลิค ตัวทำละลาย ผงสี) สูงขึ้น หมวดสุขภัณฑ์ สูงขึ้นร้อยละ 0.5 จากการสูงขึ้นของที่ใส่กระดาษชำระ สายน้ำดี ที่ใส่สบู่ ราวจับสแตนเลส กระจกเงา และผนังห้องน้ำสำเร็จรูป เนื่องจากการสูงขึ้นของราคาวัตถุดิบ (เม็ดพลาสติก สแตนเลส) และพลังงาน หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.8 จากการสูงขึ้นของประตูน้ำ ท่อพีอี ก๊อกน้ำ ถังเก็บน้ำสแตนเลส ข้อต่อ-ข้องอ-สามทางประปา เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้นตามราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม สแตนเลส หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ สูงขึ้นร้อยละ 1.0 จากการสูงขึ้นของกลุ่มอะลูมิเนียม และหิน ดิน ทราย เนื่องจากราคาต้นทุนและค่าขนส่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง

5. แนวโน้มดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในไตรมาส 2 ปี 2566 มีแนวโน้มหดตัว เป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ทำให้ราคาสินค้าหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และการปรับลดค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของภาคธุรกิจเป็น 4.77 บาทต่อหน่วย จากเดิม 5.33 บาทต่อหน่วย จะช่วยชะลอการสูงขึ้นของต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น อาจจะส่งผลให้อุปสงค์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนของเอกชนในภาคการก่อสร้างของประเทศชะลอตัว ประกอบกับฐานราคาปี 2565 ที่อยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยทำให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างมีโอกาสหดตัว
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนที่เริ่มฟื้นตัวอาจจะส่งผลให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้น และการขาดแคลนแรงงานในภาคการก่อสร้าง รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และการลงทุนโครงการก่อสร้างของภาครัฐที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีส่วนทำให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างอาจหดตัวน้อยกว่าคาดการณ์หรือขยายตัวเล็กน้อย ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ