ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนเมษายน 2566 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 110.1 เทียบกับเดือนเมษายน 2565 ลดลงร้อยละ 3.4 (YoY) โดยราคาสินค้าผู้ผลิตมีทิศทางเป็นลบต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 2 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการลดลงของราคาสินค้าทั้ง 3 หมวดหลัก ประกอบด้วย หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 3.2 จากกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และโลหะขั้นมูลฐาน (เหล็ก) หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 10.5 จากกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ ปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติ และสินแร่โลหะ และหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลงร้อยละ 2.5 เป็นผลจากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลปาล์มสด มะพร้าวผล ยางพารา และผลไม้ อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชผัก ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ ไข่เป็ด และผลิตภัณฑ์จากการประมง
1. เทียบกับเดือนเมษายน 2565 (YoY) ลดลงร้อยละ 3.4 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 3.2 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เนื่องจาก ราคาเคลื่อนไหวตามราคาตลาดโลก ซึ่งมีทิศทางปรับลดลงตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟ และกรดเกลือ เนื่องจากราคาปรับลดลงตามราคาอ้างอิงตลาดต่างประเทศ ประกอบกับความต้องการของตลาดชะลอตัว และปุ๋ยเคมีผสม เนื่องจากราคาวัตถุดิบลดลง กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง น้ำยางข้น ยางแผ่นรมควัน ถุงมือยาง แผ่นฟิล์มพลาสติก ท่อ/ข้อต่อพลาสติก และบรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ และกลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กเส้น เหล็กลวด เหล็กแผ่นรีดร้อน ท่อเหล็กกล้า เหล็กรูปตัวซี เหล็กแท่ง และลวดเหล็ก เนื่องจากราคาวัตถุดิบปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญที่ราคาปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ น้ำตาลทราย ราคาเคลื่อนไหวตามราคาตลาดโลก ข้าวสารเจ้า มันเส้น เนื้อสุกร ข้าวนึ่ง ไก่สด ปลาทูน่ากระป๋อง นมพร้อมดื่ม นมข้นหวาน ปลาหมึกแช่แข็ง และข้าวสารเหนียว เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบมีน้อย ขณะที่ความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยังมีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนการผลิตทยอยปรับเพิ่มขึ้น กลุ่มเครื่องดื่ม ได้แก่ สุรากลั่น เบียร์ น้ำอัดลม น้ำดื่ม และนมถั่วเหลือง ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต ทั้งราคาวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ และพลังงาน และกลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ เนื่องจากราคาปรับตามตลาดโลก หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 10.5 จากการลดลงของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติน้ำมันปิโตรเลียมดิบ และสินแร่โลหะ (สังกะสี ดีบุก เหล็ก วุลแฟรม) ราคาเคลื่อนไหวตามทิศทางราคาตลาดโลกที่ลดลง หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลงร้อยละ 2.5 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากภาวะการค้าน้ำมันปาล์มดิบชะลอตัว จากปริมาณสต็อกในประเทศอยู่ในระดับสูงเพียงพอต่อความต้องการใช้ ประกอบกับราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดต่างประเทศปรับตัวลดลง มะพร้าวผล เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพียงพอกับความต้องการของโรงงาน ยางพารา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องลดลง และผลไม้ (ทุเรียน กล้วยหอม) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน สำหรับสินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้น กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า เนื่องจากความต้องการข้าวทั้งในและต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากโรงสีบางรายมีความต้องการข้าวเพื่อเก็บในสต็อกและส่งมอบให้กับลูกค้า จึงรับซื้อในราคาที่สูงขึ้น หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลัก อ้อย เนื่องจากความต้องการบริโภคและใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง พืชผัก (ถั่วฝักยาว พริกสด กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง ต้นหอม หอมแดง แตงกวา พริกชี้ฟ้าสด มะเขือ ข้าวโพดฝักอ่อน กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักบุ้ง) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน กลุ่มสัตว์ ได้แก่ ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาหมึกกล้วย ปูม้า ปลาลัง ปลาทูสด หอยนางรม กุ้งทะเล ปลาทรายแดง ปลาอินทรี หอยแมลงภู่ ปลาจะละเม็ด หอยลาย ปลานิล ปลาดุก และปลาช่อน เนื่องจากความต้องการบริโภค ที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
2. เทียบกับเดือนมีนาคม 2566 (MoM) ดัชนีโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีความเคลื่อนไหวของ ราคาสินค้าสำคัญ โดยสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ ราคาปรับสูงขึ้นตามตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ ไก่สด น้ำมันปาล์ม นมพร้อมดื่ม ข้าวสารเจ้า น้ำสับปะรด นมข้นหวาน มันเส้น ข้าวนึ่ง น้ำแข็ง ปลายข้าว และแป้งสาลี เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรซึ่งมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ประกอบกับต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้น และน้ำตาลทราย ราคาเคลื่อนไหวตามตลาดโลก กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก สีน้ำพลาสติก สีน้ำมัน และสีรองพื้น และกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ ได้แก่ ตะปู/สกรู/น๊อต เนื่องจากราคาปรับตามต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และน้ำมันเครื่องบิน ซึ่งเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่ปรับลดลง กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสไดรฟ์) กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ เส้นใยสังเคราะห์ ผ้าฝ้าย และผ้าดิบ เนื่องจากราคาวัตถุดิบลดลงและสินค้าส่งออกปรับตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าในเดือนนี้ กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กลวด เหล็กเส้น และเหล็กแผ่นรีดเย็น ราคาปรับลดลงตามราคาเหล็กในตลาดโลก และกลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ เนื่องจากคำสั่งซื้อและยอดจำหน่ายลดลง จึงปรับราคาลงเพื่อกระตุ้นการขาย หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 0.1 จากการลดลงของราคาสินแร่โลหะ (สังกะสี ดีบุก เหล็ก วุลแฟรม) ราคาปรับลดลงตามทิศทางราคาตลาดโลก หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลงร้อยละ 0.7 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการรับซื้อในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ผลไม้ (ทุเรียน ฝรั่ง มะละกอสุก มะม่วง กล้วยไข่ ชมพู่ ลำไย) เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลของผลไม้หลายชนิด โดยเฉพาะทุเรียนมีผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น กลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องสอดรับกับความต้องการบริโภค ราคาจึงปรับลดลงเล็กน้อย ผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ กุ้งแวนนาไม ปลาหมึกกล้วย ปลาทูสด กุ้งทะเล ปลากะพง ปลาอินทรี และปลาตะเพียน เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกุ้งแวนนาไม สำหรับสินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศมีอย่างต่อเนื่อง หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ผู้ประกอบการมีความต้องการสินค้าป้อนโรงงานและส่งมอบให้กับคู่ค้า ส่งผลให้ราคารับซื้อปรับสูงขึ้น อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากใกล้สิ้นสุดฤดูกาลผลิต ปริมาณผลผลิตจึงออกสู่ตลาดน้อย สับปะรดโรงงาน เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ผลปาล์มสด เนื่องจากความต้องการใช้ยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคพลังงานและการบริโภค ประกอบกับการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบยังคงมีคำสั่งซื้อจากคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง และพืชผัก (มะนาว ต้นหอม ผักชี ผักคะน้า กระเทียม ผักขึ้นฉ่าย ถั่วฝักยาว หอมหัวใหญ่ ผักกาดหอม มะเขือเทศ ขิง กะหล่ำดอก) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้ผลผลิตโตช้าและบางส่วนได้รับความเสียหาย
3. เฉลี่ย 4 เดือน (ม.ค. ? เม.ย.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) ลดลงร้อยละ 0.4 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.6 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ประกอบด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91, 95 ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) น้ำมันก๊าด และน้ำมันหล่อลื่น กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟ และกรดเกลือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง น้ำยางข้น ยางแผ่นรมควัน แผ่นฟิล์มพลาสติก ท่อและข้อต่อพลาสติก กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กเส้น เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กลวด ท่อเหล็กกล้า เหล็กรูปตัวซี และลวดเหล็ก และกลุ่มผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม ได้แก่ ยาทางเดินอาหาร หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 0.6 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว หัวมันสำปะหลังสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย พืชผัก (ต้นหอม พริกแห้ง หน่อไม้ฝรั่ง พริกสด ถั่วฝักยาว กระเทียม มะนาว แตงกวา มะเขือ หอมแดง ผักกาดขาว ผักบุ้ง พริกชี้ฟ้าสด ข้าวโพดฝักอ่อน แตงร้าน กะหล่ำปลี ผักคะน้า บวบ ผักชี) สุกร/ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ และไข่เป็ด และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาหมึกกล้วย ปูม้า ปลานิล ปลาลัง ปลาดุก ปลาทูสด หอยนางรม กุ้งทะเล ปลาทรายแดง ปลาช่อน หอยแมลงภู่ ปลาอินทรี และปลาจะละเม็ด หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 2.1 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ได้จากการทำเหมืองแร่ ได้แก่ หินก่อสร้าง และทราย
4. แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนพฤษภาคม 2566
ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพฤษภาคม 2566 มีแนวโน้มลดลง ตามราคาพลังงานที่ต่ำกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก ซึ่งส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องในหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดอุตสาหกรรมชะลอตัวลง นอกจากนี้ อุปสงค์โลกที่ลดลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยเฉพาะในประเทศคู่ค้าสำคัญ ประกอบกับฐานราคาปี 2565 อยู่ในระดับสูง มีส่วนทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิตหดตัว
อย่างไรก็ตาม ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่อาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรและประมง ต้นทุนการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าแรง และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นมาแล้ว อุปสงค์ภายในประเทศที่ได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว และผลการเลือกตั้ง อาจส่งผลต่ออุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการ ซึ่งจะกระทบต่อภาคการผลิตและดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทยตามลำดับ ทั้งนี้ จะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่า ดัชนีราคาหมวดสินค้าสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.3 จากการสูงขึ้นของราคาในกลุ่มสินค้าบริโภค และกลุ่มสินค้าทุน ขณะที่หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) ลดลงร้อยละ 9.5 จากการลดลงของราคาในกลุ่มสินค้ากึ่งสำเร็จรูปสำหรับอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าวัตถุดิบ ลดลงร้อยละ 4.9 จากการลดลงของราคาในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบที่ไม่ใช่อาหาร