ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ แบ่งตามกิจกรรมการผลิต (CPA : Classification of Products by Activity) เดือนพฤษภาคม 2566 (ปี 2558 = 100) เท่ากับ 109.3 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2565 ลดลงร้อยละ 5.0 (YoY) โดยมีปัจจัยหลักจากราคาสินค้าสำคัญปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตามตลาดโลก โดยเฉพาะน้ำมันและสินค้าเกี่ยวเนื่อง ประกอบกับฐานราคาในปีก่อนอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ ราคาสินค้าลดลงทั้ง 3 หมวดหลัก ประกอบด้วย หมวดผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 5.1 จากกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และโลหะขั้นมูลฐาน (เหล็ก) หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 13.5 จากกลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ ปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติ และสินแร่โลหะ และหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลงร้อยละ 0.7 เป็นผลจากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลปาล์มสด ยางพารา มะพร้าวผล สุกรมีชีวิต และผลิตภัณฑ์จากการประมง อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก พืชผัก หัวมันสำปะหลังสด ผลไม้ ไก่มีชีวิต และไข่ไก่
1. เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2565 (YoY) ลดลงร้อยละ 5.0 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 5.1 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 น้ำมันเตา น้ำมันเครื่องบิน และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เนื่องจากราคาเคลื่อนไหวตามราคาตลาดโลกซึ่งมีทิศทางปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2565 กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟ และกรดเกลือ เนื่องจากราคาปรับลดลงตามราคาอ้างอิงตลาดต่างประเทศ ประกอบกับความต้องการของตลาดชะลอตัว และปุ๋ยเคมีผสม เนื่องจากราคาวัตถุดิบลดลง กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง น้ำยางข้น ยางแผ่นรมควัน ถุงมือยาง แผ่นฟิล์มพลาสติก บรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ และท่อพลาสติก และกลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแท่ง เหล็กเส้น เหล็กลวด และท่อเหล็กกล้า เนื่องจากราคาวัตถุดิบลดลง กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล เนื่องจากเป็นสินค้าส่งออก ราคาจึงเคลื่อนไหวตามค่าเงินบาทที่แข็งค่า ประกอบกับสินค้าบางรุ่นปรับราคาลดลงก่อนการผลิตรุ่นใหม่ทดแทน หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 13.5 จากการลดลงของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติน้ำมันปิโตรเลียมดิบ และสินแร่โลหะ (สังกะสี ดีบุก เหล็ก วุลแฟรม) ราคาเคลื่อนไหวตามทิศทางราคาตลาดโลกที่ลดลง หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลงร้อยละ 0.7 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มไม้ยืนต้น ได้แก่ ผลปาล์มสด เนื่องจากปริมาณผลผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกมีการปรับตัวลดลงจากปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันของโลกที่สูงขึ้น ยางพารา เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องลดลง มะพร้าวผล และกลุ่มสัตว์ ได้แก่ สุกรมีชีวิต เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น และผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ กุ้งทะเล และกุ้งแวนนาไม เนื่องจากความต้องการบริโภคของตลาดชะลอตัว สำหรับสินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีขึ้น หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากยังมีความต้องการใช้อย่างต่อเนื่องทั้งในอุตสาหกรรมพลังงานและอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ อ้อย เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับมีความต้องการใช้เพื่อการบริโภคและในอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้น พืชผัก (มะนาว ต้นหอม ผักกวางตุ้ง ถั่วฝักยาว พริกแห้ง ผักคะน้า พริกสด มะเขือ หน่อไม้ฝรั่ง กะหล่ำปลี ผักชี) และผลไม้ (สับปะรดโรงงาน ลำไย กล้วยน้ำว้า มะละกอสุก ส้มเขียวหวาน กล้วยไข่) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ไก่เนื้อมีชีวิต เนื่องจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไข่ไก่ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้น และปลาน้ำจืด ได้แก่ ปลานิล ปลาดุก ปลาช่อน และปลาตะเพียน เนื่องจากความต้องการบริโภคปรับเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
2. เทียบกับเดือนเมษายน 2566 (MoM) ลดลงร้อยละ 0.7 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.9 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 น้ำมันเตา น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันก๊าด และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียชะลอตัว ประกอบกับความไม่แน่นอนเศรษฐกิจของจีนและสหรัฐฯ เป็นแรงกดดันให้ราคาน้ำมันปรับลดลง กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟ กรดกำมะถัน และปุ๋ยเคมีผสม เนื่องจากราคาวัตถุดิบลดลง ประกอบกับความต้องการของตลาดชะลอตัว กลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) ราคาปรับตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าในเดือนนี้ กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแท่ง ท่อเหล็กกล้า เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กลวด และเหล็กเส้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตลดลงจากราคาวัตถุดิบและพลังงาน กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ ทองคำ ราคาปรับลดลงตามตลาดโลก กลุ่มกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ได้แก่ เยื่อกระดาษ กล่องกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษแข็ง เนื่องจากราคาวัตถุดิบลดลง ประกอบกับมีการแข่งขันสูงด้านราคา และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแร่อโลหะ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ เนื่องจากมีการปรับลดราคาให้ลูกค้าตามปริมาณขายสินค้าที่เพิ่มขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากราคาสินค้าก๊าซธรรมชาติเหลว (คอนเดนเสท) และน้ำมันปิโตรเลียมดิบ ราคาตลอดเดือนนี้ค่อนข้างผันผวนตามปัจจัยบวกและลบ ส่งผลให้ราคาโดยเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 0.9 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประกอบด้วย กลุ่มพืชล้มลุก ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ผู้ประกอบการยังคงมีความต้องการสินค้าเพื่อส่งมอบและเก็บสต็อก พืชผัก (ผักกวางตุ้ง ต้นหอม ถั่วฝักยาว ผักคะน้า พริกแห้ง มะเขือ ผักชี มะนาว ผักกาดหอม กะหล่ำปลี ผักขึ้นฉ่าย พริกสด แตงกวา ผักกาดขาว ฟักทอง มะระจีน) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้ผลผลิตโตช้าและบางส่วนได้รับความเสียหาย ผลไม้ (ทุเรียน กล้วยน้ำว้า มะละกอสุก สับปะรดโรงงาน กล้วยไข่ กล้วยหอม องุ่น) เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง โดยเฉพาะทุเรียนเป็นช่วงปลายฤดูกาล กลุ่มสัตว์ปีก ได้แก่ ไก่เนื้อมีชีวิต และไข่ไก่ เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการ กลุ่มปลาน้ำจืด ได้แก่ ปลานิล ปลาดุก ปลาตะเพียน และปลาช่อน เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาปรับลดลง ได้แก่ หัวมันสำปะหลังสด เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังส่วนใหญ่มีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังและเชื้อแป้งมีคุณภาพลดลง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากผู้ประกอบการในพื้นที่มีข้าวโพดเพียงพอ ราคาจึงปรับลดลงเล็กน้อยแต่อยู่ในระดับสูง ผลปาล์มสด เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศและการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบยังชะลอตัว ยางพารา เนื่องจากความต้องการของตลาดชะลอตัว สุกรมีชีวิต เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ทั้งจากการนำเข้าสุกรและการกลับมาเลี้ยงรอบใหม่ของเกษตรกรบางส่วน และผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ กุ้งทะเล กุ้งแวนนาไม ปลาหมึกกล้วย และปลาทูสด เนื่องจากความต้องการของตลาดชะลอตัว
3. เฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค. ? พ.ค.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) ลดลงร้อยละ 1.3 โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 1.5 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ประกอบด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) น้ำมันก๊าด และน้ำมันหล่อลื่น กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เม็ดพลาสติก โซดาไฟ และกรดเกลือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแท่ง น้ำยางข้น ยางแผ่นรมควัน ถุงมือยาง แผ่นฟิล์มพลาสติก ท่อและข้อต่อพลาสติก และกลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กเส้น เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กลวด ท่อเหล็กกล้า และเหล็กแท่ง หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 1.4 จากการลดลงของราคาสินค้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติเหลว น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และสินแร่โลหะ (สังกะสี) หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว หัวมันสำปะหลังสด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย ผลไม้ (สับปะรดโรงงาน ลำไย) พืชผัก (ต้นหอม พริกแห้ง หน่อไม้ฝรั่ง พริกสด ถั่วฝักยาว มะนาว) น้ำนมดิบ ไก่มีชีวิต และไข่ไก่ และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากการประมง ได้แก่ ปลาหมึกกล้วย และปูม้า
4. แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนมิถุนายน 2566
ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิถุนายน 2566 ยังคงมีแนวโน้มลดลง จากราคาพลังงานและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องในหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นอกจากนี้ ฐานราคาปี 2565 ที่อยู่ในระดับสูง และอุปสงค์โลกที่ชะลอตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยเฉพาะในประเทศคู่ค้าสำคัญ มีส่วนทำให้ดัชนีราคาผู้ผลิตหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ราคาพลังงานที่ผันผวนในกรอบแคบๆ สภาพอากาศที่อาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรและประมง ต้นทุนการผลิตที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าจ้างแรงงาน และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมทั้งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อาจส่งผลต่ออุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการ ซึ่งจะกระทบต่อภาคการผลิตและดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไทยตามลำดับ ทั้งนี้ จะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ดัชนีราคาผู้ผลิต แบ่งตามขั้นตอนการผลิต (SOP : Stage of Processing) พบว่า ดัชนีหมวดสินค้าสำเร็จรูป หมวดสินค้ากึ่งสำเร็จรูป (แปรรูป) และหมวดสินค้าวัตถุดิบ ลดลงร้อยละ 0.2 12.8 และ 8.0 ตามลำดับ โดยมีสินค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานที่ราคาปรับลดลงตามวัตถุดิบ ได้แก่ ผลปาล์มสด -> น้ำมันปาล์มดิบ -> น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ และ น้ำยางสด/ยางแผ่นดิบ/เศษยาง -> ยางแผ่นรมควัน/ยางแท่ง -> ถุงมือยาง/ถุงยางอนามัย/ยางล้อรถ/ยางรัดของ ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์