ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายน2566
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมิถุนายน 2566 ปรับลดเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 56.1 จากระดับ 56.6 ในเดือนก่อนหน้า และยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 (นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565) สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับลดมาอยู่ที่ระดับ 46.2 จากระดับ 46.5 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับลดมาอยู่ที่ระดับ 62.6 จากระดับ 63.3 ปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ประชาชนอยู่ในระดับเชื่อมั่นมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศเป็นสำคัญ สะท้อนจากภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ปรับตัวดีขึ้นหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า รวมถึงมาตรการจากภาครัฐช่วยลดภาระค่าครองชีพที่ยังดำเนินการต่อเนื่องหลายโครงการอาทิ การปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft)และการปรับลดภาษีน้ำมันดีเซล เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซลที่เป็นต้นทุนของ ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมและการขนส่ง เป็นต้นอย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับการอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองส่งผลให้เกิดสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการตัดสินใจลงทุนและประกอบธุรกิจของภาคเอกชน รวมทั้งภาระหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น จึงทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมปรับลดลงเล็กน้อย
เมื่อพิจารณาปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค พบว่า ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจไทยส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 44.83รองลงมา คือ การเมือง คิดเป็นร้อยละ 14.50 มาตรการของภาครัฐ คิดเป็นร้อยละ 12.36.เศรษฐกิจโลก คิดเป็นร้อยละ7.50 สังคม/ความมั่นคง คิดเป็นร้อยละ 7.00 ราคาสินค้าเกษตร คิดเป็น ร้อยละ 5.46..ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง คิดเป็นร้อยละ 5.70 ภัยพิบัติ/โรคระบาด คิดเป็นร้อยละ 1.83และอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 0.82ตามลำดับ
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจำแนกรายภาค
ภาคกลาง ภาคเหนือ
เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล จากระดับ 59.4 มาอยู่ที่ระดับ 56.6 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรกคือ เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลกและมาตรการของภาครัฐ
ภาคกลาง จากระดับ 57.1 มาอยู่ที่ระดับ 56.6 และภาคเหนือจากระดับ 55.9มาอยู่ที่ระดับ 54.3โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย การเมือง และมาตรการของภาครัฐ
ภาคใต้จากระดับ 54.7มาอยู่ที่ระดับ 53.2โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย การเมือง และเศรษฐกิจโลก
ขณะที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 56.5มาอยู่ที่ระดับ 57.7 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย การเมือง และมาตรการของภาครัฐ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายอาชีพ
เมื่อพิจารณาจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ พนักงานเอกชน จากระดับ 55.5 มาอยู่ที่ระดับ 54.4 รับจ้างอิสระ จากระดับ 56.6 มาอยู่ที่ระดับ 54.5 และพนักงานของรัฐ จากระดับ 60.2 มาอยู่ที่ระดับ 59.6 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทยการเมือง และมาตรการของภาครัฐ
ผู้ประกอบการ จากระดับ 59.3 มาอยู่ที่ระดับ 57.3 และไม่ได้ทำงาน จากระดับ 57.5 มาอยู่ที่ระดับ 55.0 โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย มาตรการของภาครัฐ และการเมือง
นักศึกษา จากระดับ 58.0 มาอยู่ที่ระดับ 56.8โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย สังคม/ความมั่นคง และการเมือง
ขณะที่ เกษตรกร ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 53.7 มาอยู่ที่ระดับ 56.5โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ราคาสินค้าเกษตร และการเมือง
เมื่อพิจารณาจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลง จากระดับ 56.0 มาอยู่ที่ระดับ 54.7
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์