ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกรกฎาคม 2566 เท่ากับ 107.82(ปีฐาน 2562 =100)
เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงร้อยละ1. เดือนกรกฎาคม2565 (YoY)สูงขึ้น0.38 2. เดือนมิถุนายน 2566 (MoM) ลดลง-0.01 3.เฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค. -ก.ค.) ปี 2566
สูงขึ้น2.19 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (AoA) Highlights ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนกรกฎาคม 2566เท่ากับ 107.82 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.38 (YoY)ปรับสูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนมิถุนายน 2566ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.23โดยมีปัจจัยหลักจากราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดที่ปรับสูงขึ้นร้อยละ 1.37 จากราคาไข่ไก่ ผักสด และผลไม้สดเป็นสำคัญ ส่งผลให้หมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.49 ในขณะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงในอัตราที่ชะลอตัว ส่งผลให้หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ -0.38 และอัตราเงินเฟ้อเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลงร้อยละ -0.01 (MoM)จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ อาทิ เนื้อสุกร กุ้งขาว และผักสด เนื่องจากปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น และน้ำมันพืช เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบลดลง และเมื่อเทียบเฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) 2566 สูงขึ้นร้อยละ 2.19 (AoA)
ทั้งนี้เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้วอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ0.86(YoY)เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าสูงขึ้นร้อยละ0.04(MoM)และเฉลี่ย7เดือน(ม.ค.-ก.ค.)2566สูงขึ้นร้อยละ1.73(AoA)1. เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2565 สูงขึ้นร้อยละ 0.38(YoY)โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้*หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.49 ตามการสูงขึ้นของกลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งร้อยละ 1.70 จากการสูงขึ้นของราคาขนมอบ ข้าวสารเหนียว และวุ้นเส้น กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นมร้อยละ 10.41จากการสูงขึ้นของราคาไข่ไก่ นมสด และนมถั่วเหลือง กลุ่มผักสดร้อยละ 6.43จากการสูงขึ้นของราคามะนาว ขิง และมะเขือ กลุ่มผลไม้สดร้อยละ 9.87จากการสูงขึ้นของราคาเงาะ แตงโม และส้มเขียวหวาน กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 4.26 จากการสูงขึ้นของราคากาแฟผงสำเร็จรูป น้ำหวาน และน้ำอัดลม กลุ่มอาหารบริโภคในบ้านร้อยละ 2.15 จากการสูงขึ้นของราคากับข้าวสำเร็จรูป อาหารว่าง และก๋วยเตี๋ยว และกลุ่มอาหารบริโภคนอกบ้านร้อยละ 1.52 จากการสูงขึ้นของราคาอาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) อาหารเช้า และอาหารเย็น (อาหารตามสั่ง) ในขณะที่มีสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำร้อยละ -4.67 จากการลดลงของราคาเนื้อสุกร และปลาทู และกลุ่มเครื่องประกอบอาหารร้อยละ -2.57จากการลดลงของราคาน้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) และมะขามเปียก*หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ -0.38 ตามการลดลงของหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารร้อยละ -3.25จากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ -7.92เป็นสำคัญ สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าร้อยละ 0.28 จากการสูงขึ้นของเครื่องแบบนักเรียนอนุบาล เครื่องแบบมัธยมชายและหญิง หมวดเคหสถานร้อยละ 1.91จากการสูงขึ้นของราคาค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม และค่าเช่าบ้าน หมวดการตรวจรักษา และบริการส่วนบุคคลร้อยละ 1.80 จากการสูงขึ้นของราคาค่าแต่งผมชาย แป้งทาผิวกาย และยาสีฟันหมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯร้อยละ 0.61 จากการสูงขึ้นของราคาเครื่องถวายพระและอาหารสัตว์เลี้ยง หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.56จากการสูงขึ้นของราคาเบียร์ สุรา และไวน์ และกลุ่มการสื่อสาร ร้อยละ 0.13จากการสูงขึ้นของค่าบริการใช้อินเทอร์เน็ต และค่าส่งพัสดุ
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนสิงหาคม 2566 มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อยในกรอบแคบ ๆ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากสินค้าอาหารบางประเภทที่ยังคงขยายตัว เนื่องจากสภาพอากาศปีนี้ค่อนข้างแล้งกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย รวมทั้งราคาอาหารสำเร็จรูปที่ยังอยู่ในระดับสูง และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มขยายตัว จากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศ OPEC และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย -ยูเครนที่มีความตึงเครียดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อในเดือนสิงหาคม 2565 อยู่ในระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำและเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ ทั้งนี้ ความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง สถานการณ์ภัยแล้ง เศรษฐกิจโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 อยู่ระหว่างร้อยละ 1.0-2.0(ค่ากลางร้อยละ 1.5) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์