Highlights
ดัชนีราคาส่งออก เดือนกันยายน 2567เท่ากับ 110.8เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวชะลอลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ที่ร้อยละ 1.0 (YoY)จากผลของฐานราคาเดือนกันยายน 2566 ที่อยู่ในระดับสูง สถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวช้า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่คลี่คลาย และความผันผวนของค่าเงินบาท ส่งผลให้ความต้องการสินค้าตลาดโลกขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกหลายกลุ่มยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 4.4 ได้แก่ ยางพารา ตามปริมาณยางที่ออกสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่ความต้องการยางจากจีนมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ตามปริมาณผลผลิตลดลงจากสภาพอากาศแปรปรวน และข้าว เนื่องจากตลาดต่างประเทศยังคงมีความต้องการข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.5 ได้แก่ ทองคำ ได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น สำหรับรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามความต้องการสินค้าเทคโนโลยีรุ่นใหม่ที่ประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 1.4 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตามความต้องการบริโภคจากตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น อาหารสัตว์เลี้ยง ตามความต้องการของตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงที่ขยายตัวต่อเนื่องในหลายภูมิภาคทั่วโลก และน้ำตาลทราย ตามอุปทานน้ำตาลโลกตึงตัว จากปัญหาภัยธรรมชาติของประเทศผู้ผลิตสำคัญ ขณะที่หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 16.1 โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูป จากผลของฐานสูงในเดือนกันยายน 2566ที่กลับมาเป็นบวก ประกอบกับราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวลดลง จากความกังวลต่ออุปสงค์โลกชะลอตัว โดยเฉพาะความต้องการใช้น้ำมันในจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่
ดัชนีราคานำเข้า เดือนกันยายน 2567เท่ากับ 112.3เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.1 (YoY)จากผลของราคาสินค้าเชื้อเพลิงหดตัวเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ความต้องการนำเข้าสินค้ายังขยายตัวได้ดีเกือบทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 6.2 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องประดับอัญมณี ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ ตามความต้องการสินค้าเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 4.3 ได้แก่ ทองคำ เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4ปี และส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง สำหรับอุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และสินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ตามความต้องการสินค้าเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเพิ่มขึ้น หมวดสินค้าทุนสูงขึ้นร้อยละ 2.8 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตามความก้าวหน้าด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI)และความต้องการสินค้าที่ประมวลผลขั้นสูง เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ตามความต้องการสินค้าเพื่อใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก และเครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ ตามแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลสุขภาพและหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง กลับมาขยายตัว ที่ร้อยละ 0.5 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ จากความต้องการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อใช้ในการผลิตและส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญ และรถจักรยานยนต์ ตามการขยายตัวของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 14.5 โดยเฉพาะน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากอุปสงค์น้ำมันโลกมีแนวโน้มชะลอตัว รวมถึงความต้องการใช้น้ำมันในภาคการขนส่งจากการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
แนวโน้มดัชนีราคาส่งออก และดัชนีราคานำเข้า ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1) ฐานราคาปี 2566 อยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2567 2) ราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับสูงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ซึ่งอาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิตในตลาด และ 3) สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ อาจส่งผลต่อราคาพลังงาน และสินค้าวัตถุดิบสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวัง ได้แก่ 1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าอาจช้ากว่าที่คาด 2) ความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและขยายตัว อาจส่งผลกระทบต่อการค้าโลก และการค้าระหว่างประเทศของไทย 3) ความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าของผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันต่อการส่งออกสินค้าไทย และ 4) ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันสินค้าของไทยลดลงอัตราการค้า (Term of Trade)เดือนกันยายน 2567
อัตราการค้าของไทย ในเดือนกันยายน 2567 เท่ากับ 98.7 (เดือนสิงหาคม 2567 เท่ากับ 98.1) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน แต่ยังคงต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่ 33 ติดต่อกัน สะท้อนถึงไทยยังมีความเสียเปรียบทางโครงสร้างราคาระหว่างประเทศ เนื่องจากระดับราคานำเข้ายังสูงกว่าราคาส่งออก เป็นผลจากราคานำเข้าน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน (ซึ่งมีสัดส่วนน้ำมันนำเข้าสูงกว่าส่งออก) สูงขึ้นในอัตราที่มากกว่าการสูงขึ้นของราคาส่งออกสำหรับแนวโน้มอัตราการค้า เดือนตุลาคม 2567 คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ต่อเนื่อง ตามทิศทางราคาน้ำมันนำเข้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง
1. เทียบกับเดือนสิงหาคม 2567 (MoM)สูงขึ้นร้อยละ 0.1โดยมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.1 ได้แก่ข้าวราคาสูงขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลให้ผลผลิตข้าวในหลายประเทศเสียหาย ทำให้ต้องเร่งนำเข้าเพื่อเติมสต็อกสำหรับความมั่นคงทางอาหาร ยางพารา เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง เนื่องจากไทยมีฝนตกชุก ทำให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่เพาะปลูกสำคัญ อาทิ กระบี่ และสตูล และกุ้ง ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากได้รับอานิสงส์จากการที่สหรัฐฯ ปลดกุ้งไทยออกจากบัญชีดำด้านการใช้แรงงานเด็ก หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะแผงวงจรไฟฟ้า ตามวัฏจักรยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ที่อยู่ในช่วงขาขึ้น เครื่องใช้ไฟฟ้า ตามความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะประหยัดพลังงานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และทองคำ ได้รับแรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งแรกนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ได้แก่อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมโรงแรม ร้านอาหาร และกาแฟ-ธุรกิจจัดเลี้ยง (HoReCa)เครื่องดื่ม ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากคู่ค้าในต่างประเทศ และน้ำตาลทราย เนื่องจากอุปทานน้ำตาลโลกตึงตัว จากการที่บราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลก เผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรง ส่งผลให้เกิดไฟไหม้พื้นที่การเกษตรที่สำคัญ โดยเฉพาะรัฐเซาเปาโล ซึ่งเป็นรัฐที่ผลิตน้ำตาลมากที่สุดของบราซิล ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง คือ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 4.5 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ตามความกังวลอุปสงค์น้ำมันโลกชะลอตัว หลังกลุ่มโอเปกปรับลดคาดการณ์การเติบโตของอุปสงค์น้ำมันประจำปี 2567 2.เทียบกับเดือนกันยายน 2566 (YoY)สูงขึ้นร้อยละ 1.0โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 4.4 ได้แก่ ยางพารา ราคาสูงขึ้นตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมยางภายใต้กฎหมายว่าด้วยสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR)ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันประเทศที่มีความพร้อมผลิตยาง EUDRมีเพียงไทย โกตดิวัวร์ และอินโดนีเซีย ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน และข้าว จากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ทำให้มีความต้องการข้าวและปลายข้าวเพื่อเป็นวัตถุดิบในอาหารคนและอาหารสัตว์ เพื่อทดแทนธัญพืชและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีอุปทานลดลง หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.5 ได้แก่ทองคำตามความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่มีความตึงเครียดมากขึ้น หลังจากอิสราเอลยกระดับการโจมตีทางอากาศในภาคใต้ของเลบานอน เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ได้รับอานิสงส์จากความต้องการการประมวลผลขั้นสูงที่เพิ่มขึ้น เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ตามการขยายตัวอย่างรวดเร็วของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งผลักดันความต้องการระบบปรับอากาศเชิงพาณิชย์ และรถยนต์ ตามยอดขายรถบรรทุกขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญ และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 1.4 ได้แก่อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตามความต้องการปลาทูน่ากระป๋องที่เพิ่มขึ้น อาหารสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะอาหารสุนัขและแมว ตามความต้องการของคู่ค้าหลักที่ทยอยฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ อาทิ สหรัฐฯ อิตาลี และญี่ปุ่น รวมถึงการส่งออกไปยังตลาดรองที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหราชอาณาจักร และนิวซีแลนด์ และน้ำตาลทราย ตามความกังวลการขาดแคลนน้ำตาลเพื่อส่งออกของอินเดีย รวมถึงนโยบายภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มสัดส่วนเอทานอลในน้ำมัน และรักษาระดับราคาน้ำตาลภายในประเทศ ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง คือ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 16.1 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ เนื่องจากตลาดยังไม่เชื่อมั่นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนทั้งนโยบายการเงินและการคลัง จะช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตที่ระดับเป้าหมายที่ร้อยละ 5ซึ่งอาจส่งผลให้ความต้องการลดลง
3. เฉลี่ย มกราคม -กันยายน ปี 2567 เทียบกับปี 2566 (AoA)สูงขึ้นร้อยละ 1.4โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นเกือบทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 6.1 ได้แก่ ยางพารา ราคาสูงขึ้นเนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมถุงมือยางเพิ่มขึ้น ข้าว ตามความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ขยายตัว เพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและสงคราม ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ตามความต้องการของคู่ค้าในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ตามผลผลิตที่มีแนวโน้มลดลงในไทย จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคใบด่าง และกุ้ง ตามอุปทานตึงตัว จากการที่ผู้เลี้ยงกุ้งในไทยลดการจับกุ้งขาวที่เลี้ยงมาจำหน่าย เนื่องจากราคากุ้งขาวตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 1.7 ได้แก่น้ำตาลทราย ตามความกังวลอุปทานตึงตัวเพิ่มขึ้น หลังจากองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ (ISO)คาดการณ์ว่าโลกจะขาดดุลน้ำตาลเพิ่มขึ้นในปี 2567/2568 อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตามความนิยมอาหารสะดวกซื้อและพร้อมรับประทานที่เพิ่มขึ้น และอาหารสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะอาหารสุนัขและแมว ตามการฟื้นตัวของตลาดในหลายภูมิภาคทั่วโลก และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.9 ได้แก่รถยนต์ตามยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นทองคำ ได้รับแรงหนุนจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในหลายประเทศ เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ตามอุณหภูมิโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ตามการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D)ที่เพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับประสิทธิภาพอุปกรณ์สำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ การทำเหมือง การเกษตร การจัดการวัสดุ และการจัดการขยะ ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง คือ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 0.9 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันในจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลกปรับลดลง4. ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 1.3โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นเกือบทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 4.4 ได้แก่ยางพารา ราคาสูงขึ้นตามที่ตลาดคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนจะช่วยหนุนอุปสงค์ โดยจีนเป็นผู้บริโภคยางรายใหญ่ที่สุดของโลก ข้าว เนื่องจากเป็นช่วงที่ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย จากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ตามอุปทานตึงตัวเนื่องจากผลผลิตในภาคใต้ของไทยลดลงจากสภาพอากาศแปรปรวน และกุ้ง ตามปัญหาการใช้แรงงานเด็กในไทยที่คลี่คลาย ส่งผลให้ความต้องการในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญเพิ่มขึ้น หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 1.6 ได้แก่ น้ำตาลทราย ตามการปรับลดประมาณการสัดส่วนของอ้อยที่นำไปผลิตน้ำตาลในภาคกลางและใต้ของบราซิล ประกอบกับอุปทานตึงตัวเนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกอ้อยของบริษัท Tereosซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ในบราซิล ที่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10ของประเทศ ได้รับผลกระทบจากไฟไหม้ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตามความนิยมอาหารราคาถูกและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ประกอบกับการบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมืองในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและอเมริกาใต้ และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นในต่างประเทศ และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.3 ได้แก่ ทองคำ ตามการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน 2567 รถยนต์ ตามอุปสงค์คงค้างในประเทศคู่ค้าที่รอการส่งมอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า ตามความต้องการระบบอัตโนมัติภายในที่พักอาศัยที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคอเมริกาเหนือ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ตามความต้องการสินค้ากลุ่มสมาร์ทโฟนที่ยังเติบโต ซึ่งหนุนให้อุปสงค์การใช้ชิปที่เกี่ยวข้อง อาทิ ชิปความจำ เพิ่มขึ้น และเม็ดพลาสติก ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเฉพาะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง คือ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 6.7 ได้แก่ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ตามทิศทางราคาตลาดโลกที่ลดลง5. ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) สูงขึ้นร้อยละ 0.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ทองคำราคาสูงขึ้นเนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ เครื่องใช้ไฟฟ้า ตามจำนวนชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ จีน และญี่ปุ่น ประกอบกับการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของธุรกิจอีคอมเมิร์ชและอุตสาหกรรมค้าปลีก เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ตามการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับปัญญาประดิษฐ์ (AI)ที่เพิ่มขึ้น และเม็ดพลาสติก ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ยา ยานยนต์ และการขนส่ง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตามความนิยมอาหารที่มีอายุการเก็บรักษายาวนาน และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดหลัก ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง คือ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 5.4 ได้แก่ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ตามทิศทางราคาตลาดโลกที่ลดลง โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรป สำหรับหมวดสินค้าเกษตรกรรม ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับกลุ่มสินค้าสำคัญ โดยสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ยางพารา ตามความกังวลอุปทานตึงตัว จากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย โดยพายุไต้ฝุ่นยางิส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตยางรายใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ ไทย เวียดนาม และมาเลเซีย และข้าว เนื่องจากอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ ตั้งเป้าสำรองข้าวปริมาณมากเพื่อรับมือกับความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งระดับภูมิภาคในเดือนพฤศจิกายน ประกอบกับผลผลิตภายในประเทศที่คาดว่าจะลดลงในช่วงปลายปี 2567 ถึงต้นปี 2568 ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เนื่องจากฝนตกในพื้นที่เพาะปลูกสำคัญหลายแห่งของไทย ทำให้หัวมันสำปะหลังมีคุณภาพต่ำจากสิ่งเจือปนสูงและเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ6. แนวโน้มดัชนีราคาส่งออกไตรมาสที่ 4ปี 2567 แนวโน้มดัชนีราคาส่งออก ไตรมาสที่ 4 ปี 2567คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในระดับสูง จากการไม่มีสัญญาณชัดเจนในการฟื้นข้อตกลงกรณีรัสเซียให้ยูเครนขนส่งธัญพืชผ่านทะเลดำ ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของโลก มาตรการจำกัดการส่งออกน้ำตาลของอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตอ้อยรายใหญ่ของโลก มีแนวโน้มยืดเยื้อ อาจทำให้อุปทานน้ำตาลโลกตึงตัว และกดดันให้ราคาน้ำตาลเพิ่มขึ้น ประกอบกับความกังวลด้านต้นทุนพลังงานจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย และอิสราเอล-ปาเลสไตน์-ฮิซบอลเลาะห์ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจาก (1) การฟื้นตัวที่ช้าของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า (2) ความกังวลสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลางทวีความรุนแรง หลังจากกองทัพอิสราเอลบุกภาคพื้นดินในเลบานอน ประกอบกับอิหร่านยิงขีปนาวุธโจมตีอิสราเอล ทำให้อิสราเอลเตรียมตอบโต้อิหร่าน อาจส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนโลก (3) ความผันผวนของค่าเงินบาท และ (4) อินเดีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1ของโลก ได้อนุมัติให้มีการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่พันธุ์บาสมาติอีกครั้ง ในช่วงปลายเดือนกันยายน เนื่องจากสินค้าคงคลังในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้มีอุปทานข้าวโลกส่วนเกิน และกดดันให้ราคาข้าวลดลง ทำให้ราคาส่งออกของสินค้าเกษตรไทยลดลงตาม เนื่องจากข้าวเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนมูลค่าส่งออกสูง ปัจจัยดังกล่าวอาจทำให้ดัชนีราคาส่งออกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์1. เทียบกับเดือนสิงหาคม 2567 (MoM) ลดลงร้อยละ 0.4โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวลดลง คือ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 4.4 ได้แก่ น้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ (โอเปก) ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันดิบลง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวลดลง สำหรับถ่านหิน ราคาลดลง เนื่องจากปริมาณสต๊อกถ่านหินยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับการผลิตถ่านหินในประเทศจีนปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากชดเชยการผลิตในช่วงก่อนหน้า ส่งผลให้ความต้องการใช้ปรับตัวลดลง ขณะที่ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ราคาปรับตัวสูงขึ้น ตามความต้องการใช้ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 0.9 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด และสบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง ตามความต้องการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจดูแลสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้ความต้องการใช้ยาเพื่อรักษาโรคเพิ่มขึ้น หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 0.8 โดยเฉพาะส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์ และรถจักรยาน ตามความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์เพิ่มขึ้น รวมถึงต้นทุนที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต และค่าแรงที่มีทิศทางสูงขึ้น หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 0.6 ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตามความต้องการสินค้าเพื่อการลงทุนในภาคการผลิตและก่อสร้าง และความต้องการอัปเกรดอุปกรณ์รุ่นใหม่ รวมถึงหน่วยประมวลผลขั้นสูง สำหรับอุปกรณ์ AIมีแนวโน้มสูงขึ้น และเครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ ราคาสูงขึ้น เนื่องจากการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลสุขภาพ อาทิ ธุรกิจความงาม ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุครบวงจรมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้เครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้นและหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.2 โดยเฉพาะทองคำเป็นผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ประกอบกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลให้ความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น สำหรับอลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ และทองแดงและผลิตภัณฑ์ ราคาสูงขึ้น เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EVส่งผลให้ความต้องการใช้ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ราคาลดลง เนื่องจากการชะลอตัวของการลงทุนในโครงการก่อสร้างของทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบกับราคาเหล็กในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง รวมถึงปริมาณการผลิตเหล็กที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาเหล็กปรับลดลง2. เทียบกับเดือนกันยายน 2566 (YoY)สูงขึ้นร้อยละ 0.1โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 6.2 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องประดับอัญมณี เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือน และผัก ผลไม้ และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ ตามความต้องการอุปโภคบริโภคที่มีอย่างต่อเนื่อง สำหรับผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรมโดยเฉพาะยารักษาโรค ราคาสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงอัตราการเจ็บป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ส่งผลให้ความต้องการใช้ยาในการรักษาเพิ่มขึ้น หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 4.3 โดยเฉพาะทองคำ ราคายังทรงตัวสูงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ประกอบกับแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น และอุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะแผงวงจรไฟฟ้า ตามการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค InternetofThings(IoT) ซึ่งเป็นที่นิยมของการพัฒนาโลกในปัจจุบัน รวมถึงการเติบโตของธุรกิจ DataCenterที่ส่งผลดีต่อความต้องการใช้ HDD และการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)ในประเทศ ส่งผลให้ความต้องการใช้ในภาคการผลิต และภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 2.8 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบและเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ ตามความต้องการคอมพิวเตอร์ GenAIที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากทั้งภาคธุรกิจ ภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม และผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น สำหรับเครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ เนื่องจากอัตราการเจ็บป่วย และจำนวนผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการอุปกรณ์การแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัย และการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 0.5 ได้แก่ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ตามความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เพิ่มขึ้น สำหรับรถจักรยานยนต์ตามความต้องการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวลดลง คือ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 14.5 ได้แก่ น้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป ตามความต้องการใช้ที่มีแนวโน้มปรับลดลงจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้าส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง3. เฉลี่ย มกราคม -กันยายน ปี 2567 เทียบกับปี 2566 (AoA)สูงขึ้นร้อยละ 0.9โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ได้แก่ เครื่องประดับอัญมณี ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือน กาแฟ ชา เครื่องเทศ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ตามความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 2.8 ได้แก่ ทองคำตามความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น และอุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะแผงวงจรไฟฟ้าตามความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมอื่น ๆประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี (DigitalTransformation)ส่งผลให้ความต้องการใช้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 0.6 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตามความต้องการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่ขับเคลื่อนด้วย AIมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต ภาคธุรกิจ และผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และเครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบเนื่องจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และความต้องการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการเติบโตของเทคโนโลยีทางการแพทย์และนวัตกรรมต่าง ๆ ส่งผลให้ความต้องการใช้เพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 3.6 โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และถ่านหินเป็นสำคัญ ราคาลดลงเนื่องจากปริมาณการสำรองก๊าซและถ่านหินในปัจจุบันยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้ความต้องการใช้ปรับตัวลดลง และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 1.1 โดยเฉพาะส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง และรถจักรยานยนต์ เป็นผลจากการชะลอตัวของตลาดยานยนต์ในประเทศ ประกอบกับความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน เนื่องจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อหมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 3.4 4. ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 1.5โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ5.1 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด และผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ ตามความต้องการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ตามความต้องการนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ในการป้องกันเชื้อโรคในช่วงฤดูฝน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 4.1 ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ โดยเฉพาะทองคำ ตามความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้นอุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ และเคมีภัณฑ์ตามความต้องการใช้ในภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการที่เพิ่มขึ้นและหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 2.0 ได้แก่เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตามความต้องการอุปกรณ์แบบพกพาและคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ ๆ ที่รองรับปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ตามความต้องการลงทุนภาคการผลิต ภาคการก่อสร้าง และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นสำหรับเครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ ตามความต้องการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 5.4 ได้แก่ น้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป ตามความต้องการใช้ที่ปรับตัวลดลง จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต และภาคบริการสำหรับก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ราคาปรับลดลง เนื่องจากปริมาณการสำรองก๊าซยังอยู่ในระดับสูง หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 0.4 ได้แก่ รถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัว ประกอบกับสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้กำลังซื้อชะลอลง5. ไตรมาสที่ 3 ปี 2567 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ลดลงร้อยละ 0.1โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวลดลง คือ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 3.8 ได้แก่ น้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป ตามความต้องการใช้ที่ปรับตัวลดลง จากภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 2.0 ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด และผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ ตามความต้องการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ตามความต้องการนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.8 ได้แก่เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ โดยเฉพาะทองคำ ตามความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ตามความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรมและภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้น สำหรับปุ๋ย ตามความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้เกษตรกรมีแนวโน้มขยายพื้นที่เพาะปลูก ส่งผลให้ความต้องการใช้ปุ๋ยเพิ่มขึ้นหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 0.5 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตามความต้องการอุปกรณ์แบบพกพา และคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ ๆ ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งาน เนื่องจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่เข้ามามีบทบาทในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ตามความต้องการลงทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งในภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ สำหรับเครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และการทดสอบ ตามความต้องการอุปกรณ์การแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยและการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้นและหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ได้แก่ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ตามความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ของตลาดในประเทศเพื่อใช้ในการผลิตเพิ่มขึ้น6. แนวโน้มดัชนีราคานำเข้า ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 แนวโน้มดัชนีราคานำเข้า ไตรมาสที่ 4 ปี 2567คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง ผลจากราคาวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศที่อาจปรับตัวสูงขึ้น จากการที่รัสเซียยุติข้อตกลงส่งออกธัญพืชยูเครนผ่านทะเลดำ รวมถึงความตึงเครียดในตะวันออกกลาง หลังจากอิหร่านยิงขีปนาวุธโจมตีอิสราเอล ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะนำไปสู่สงครามเต็มรูปแบบระหว่าง 2 ประเทศ และอาจทำให้สหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับอิสราเอลออกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน อีกทั้งอิสราเอลมีแผนโจมตีโครงสร้างด้านพลังงานของอิหร่าน นอกจากนี้ หากสถานการณ์บานปลายเป็นสงคราม อาจทำให้อิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันที่สำคัญของโลก นำมาสู่ปัญหาอุปทานน้ำมันโลกตึงตัว ส่งผลกระทบกับต้นทุนการขนส่งและการผลิตน้ำมัน ทำให้ต้นทุนการนำเข้าพลังงานและราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องปรับสูงขึ้น เนื่องจากอิหร่านเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก อย่างไรก็ตาม (1) ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน จากเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวช้า หลังจากขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 5 ไตรมาส โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ และอุปสงค์ภายในประเทศ (2) ความกังวลด้านข้อพิพาทระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าสำคัญของไทย อาจส่งผลกระทบต่อฐานการผลิตและห่วงโซ่อุปทานของสินค้านำเข้า และ (3) ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ รวมถึงสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ และพันธมิตรของอิหร่าน อาจนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้ดัชนีราคานำเข้าขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์
อัตราการค้าของไทย ในเดือนกันยายน 2567 เท่ากับ98.7 (เดือนสิงหาคม 2567 เท่ากับ 98.1) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน แต่ยังคงต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่ 33 ติดต่อกันสะท้อนถึง ไทยยังมีความเสียเปรียบทางโครงสร้างราคาระหว่างประเทศ เนื่องจากระดับราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก
อัตราการค้าของไทย เดือนกันยายน 2567เท่ากับ 98.7 (เดือนสิงหาคม 2567 เท่ากับ 98.1) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน แต่ยังคงต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่ 33 ติดต่อกันสะท้อนถึง ไทยยังมีความเสียเปรียบทางโครงสร้างราคาระหว่างประเทศ เนื่องจากระดับราคานำเข้ายังสูงกว่าราคาส่งออก สาเหตุหลักเป็นผลจากราคานำเข้าน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน (ซึ่งมีสัดส่วนน้ำมันนำเข้าสูงกว่าส่งออก) สูงขึ้นในอัตราที่มากกว่าการสูงขึ้นของราคาส่งออกสำหรับกลุ่มสินค้าที่ราคาส่งออกยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าราคานำเข้า (ได้เปรียบในอัตราการค้า) ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบขั้นกลางจากต่างประเทศในการผลิตเช่น เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ผลิตภัณฑ์พลาสติก เม็ดพลาสติก และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และกลุ่มสินค้าขั้นกลางที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศในการผลิตเช่น ผลไม้ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และของปรุงแต่งทำจากผลไม้ ผัก ผักกระป๋องและแปรรูป และของปรุงแต่งทำจากผัก เป็นต้น
ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก (เสียเปรียบในอัตราการค้า) ได้แก่ น้ำมันดิบ ทองคำ น้ำมันสำเร็จรูป ทองแดงและผลิตภัณฑ์ นมและผลิตภัณฑ์นม และผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวและแป้ง นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอื่น ๆ ที่ราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งทอและเสื้อผ้า แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เป็นต้น
แนวโน้มอัตราการค้า เดือนตุลาคม 2567 คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ต่อเนื่อง ตามทิศทางราคาน้ำมันนำเข้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์