ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 51.6 ยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 แม้จะปรับตัวลดลงจากระดับ 53.2 ในเดือนก่อนหน้าเป็นผลจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับลดมาอยู่ที่ระดับ 56.7 จากระดับ 58.5 โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้บริโภคยังมีความเชื่อมั่น คาดว่ามาจาก (1) ภาครัฐมีการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะการส่งเสริมการบริโภคภาคประชาชนและสนับสนุนภาคธุรกิจ (2) การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ ช่วยสนับสนุนธุรกิจบริการและเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ และ (3) การส่งออกเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยี และความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลกที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43.9 จากระดับ 45.1 โดยสาเหตุคาดว่ามาจาก ภาระหนี้สินของครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงปัจจัยฤดูกาลที่ทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี ความกังวลต่อสถานการณ์การจ้างงาน ผลกระทบจากอุทกภัย การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อ ทั้งนี้ มาตรการของภาครัฐด้านการลดค่าครองชีพ การแก้ไขปัญหาหนี้สิน รวมถึงการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ อาจช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในระยะต่อไปปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค
เมื่อพิจารณาปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค พบว่า เศรษฐกิจไทยส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 49.54 รองลงมา คือ มาตรการของภาครัฐ คิดเป็นร้อยละ 13.62 สังคม/ความมั่นคง คิดเป็นร้อยละ 8.03 เศรษฐกิจโลก ร้อยละ 7.55 ราคาสินค้าเกษตร คิดเป็นร้อยละ 7.34 การเมือง คิดเป็นร้อยละ 5.61 ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง คิดเป็นร้อยละ 4.28 ภัยพิบัติ/โรคระบาด คิดเป็นร้อยละ 3.01 และอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 1.02 ตามลำดับ
เมื่อพิจารณารายภูมิภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในช่วงเชื่อมั่น 3 ภาค คือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของภาคกลาง และภาคใต้ อยู่ต่ำกว่าระดับความเชื่อมั่นเล็กน้อย
กรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 54.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ56.0 ในเดือนก่อนหน้า โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น
3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย สังคม/ความมั่นคง และมาตรการของภาครัฐ
ภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 50.5 และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 55.3ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย สังคม/ความมั่นคง และเศรษฐกิจโลก
ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 48.7ปรับตัวลดลงจากระดับ 51.6 ในเดือนก่อนหน้า โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือเศรษฐกิจไทย สังคม/ความมั่นคง และมาตรการของภาครัฐ
ภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 49.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 50.6 ในเดือนก่อนหน้า โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย สังคม/ความมั่นคง และราคาสินค้าเกษตรดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จำแนกรายอาชีพ
เมื่อพิจารณาจำแนกรายอาชีพ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในช่วงเชื่อมั่นในกลุ่มอาชีพเกษตรกร พนักงานเอกชน ผู้ประกอบการ พนักงานของรัฐ และนักศึกษา ยกเว้น กลุ่มอาชีพรับจ้างอิสระ และไม่ได้ทำงาน/บำนาญ
เกษตรกร อยู่ที่ระดับ 51.0ปรับตัวลดลงจากระดับ 52.8 ในเดือนก่อนหน้า โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย ราคาสินค้าเกษตร และมาตรการของภาครัฐ
พนักงานเอกชน อยู่ที่ระดับ 50.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 52.7 ในเดือนก่อนหน้า โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย มาตรการของภาครัฐ และสังคม/ความมั่นคง
ผู้ประกอบการอยู่ที่ระดับ 53.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 54.6 ในเดือนก่อนหน้า โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย มาตรการของภาครัฐ และเศรษฐกิจโลก
พนักงานของรัฐ อยู่ที่ระดับ 55.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 57.4 ในเดือนก่อนหน้า โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย มาตรการของภาครัฐ และการเมือง
นักศึกษาอยู่ที่ระดับ 52.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 54.6 ในเดือนก่อนหน้า โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย สังคม/ความมั่นคงและเศรษฐกิจโลก
รับจ้างอิสระ อยู่ที่ระดับ 49.5 และไม่ได้ทำงาน/บำนาญ อยู่ที่ระดับ 45.6โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น 3 อันดับแรก คือ เศรษฐกิจไทย มาตรการของภาครัฐ และสังคม/ความมั่นคง
เมื่อพิจารณาจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ต่ำกว่าช่วงเชื่อมั่นโดยอยู่ที่ระดับ 42.3
ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์