ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือน เมษายน 2551
กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนเมษายน 2551 โดยสรุป จากการสำรวจราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 88 รายการ ครอบคลุมหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกระเบื้อง วัสดุฉาบผิว สุขภัณฑ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปาและวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนเมษายน 2551
ในปี 2543 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเท่ากับ 100 และเดือนเมษายน 2551 เท่ากับ 159.0 สำหรับเดือนมีนาคม 2551 คือ 154.5
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนเมษายน 2551 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนมีนาคม 2551 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9
2.2 เดือนเมษายน 2550 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.1
2.3 เฉลี่ยเดือนมกราคม - เมษายน 2551 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.9
3. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนเมษายน 2551 เทียบกับเดือนมีนาคม 2551 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 (มีนาคม 2551 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8) สาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีเกือบทุกหมวด ยกเว้น หมวดวัสดุฉาบผิวที่ทรงตัว สาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (เหล็กเส้น เหล็กตัวซี เหล็กฉาก ลวดเหล็ก ท่อเหล็ก เหล็กแผ่นและตะแกรงเหล็ก) ร้อยละ 4.1 เป็นผลจากต้นทุนการผลิต คือราคาวัตถุดิบนำเข้า และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับปริมาณการผลิตเหล็กลดลง ทำให้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต (เสาเข็ม พื้นคอนกรีตสำเร็จรูป ท่อระบายน้ำคอนกรีตและถังซีเมนต์) ร้อยละ 3.2 และหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (บานประตู - หน้าต่าง และ วงกบประตู) ร้อยละ 9.0
4. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนเมษายน 2551 เทียบกับเดือนเมษายน 2550 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.1 (มีนาคม 2551 เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0) ที่สำคัญ คือ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ร้อยละ 44.4 หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (แผ่นไม้อัด บานประตู - หน้าต่าง และวงกบประตู) ร้อยละ 11.6 และหมวดซีเมนต์ (ปูนซีเมนต์ และปูนฉาบ) ร้อยละ 5.9 เป็นผลจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
5. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเฉลี่ยเดือนมกราคม - เมษายน 2551 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9 (มกราคม - มีนาคม 2551 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9) สาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (เหล็กเส้น เหล็กฉาก เหล็กแผ่นเรียบดำและตะแกรงเหล็ก) ร้อยละ 38.9 หมวดสุขภัณฑ์ (โถส้วม อ่างล้างหน้าและที่ปัสสาวะ) ร้อยละ 4.9 และหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ร้อยละ 4.8 เป็นผลจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์