ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือน กรกฎาคม 2551
กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกรกฎาคม 2551 โดยสรุป จากการสำรวจราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 88 รายการ ครอบคลุมหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกระเบื้อง วัสดุฉาบผิว สุขภัณฑ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปาและวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกรกฎาคม 2551
ในปี 2543 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเท่ากับ 100 และเดือนกรกฎาคม 2551 เท่ากับ 177.0สำหรับเดือนมิถุนายน 2551 คือ 175.3
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกรกฎาคม 2551 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนมิถุนายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 1.0
2.2 เดือนกรกฎาคม 2550 สูงขึ้นร้อยละ 31.1
2.3 เฉลี่ยเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2551 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 สูงขึ้น ร้อยละ 21.0
3. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกรกฎาคม 2551 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 1.0 (มิถุนายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 2.8) เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงต่อจากเดือนที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญ จากการเพิ่มขึ้นของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ( ลวดเหล็ก เหล็กแผ่นเรียบดำ ตะแกรงเหล็กและประตูเหล็กม้วน ) ร้อยละ 0.6 หมวดซีเมนต์ (ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์และปูนซีเมนต์ผสม) ร้อยละ 2.3 หมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ (ทราย หินคลุก อิฐและยางมะตอย) ร้อยละ 2.2 เป็นผลจากต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งสูงขึ้น
4. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนกรกฎาคม 2551 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2550 สูงขึ้นร้อยละ 31.1 (มิถุนายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 29.3) เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2549 ที่สำคัญ คือ ดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (เหล็กเส้น เหล็กตัวซี เหล็กฉาก ท่อเหล็ก เหล็กแผ่นเรียบดำและตะแกรงเหล็ก) ร้อยละ 75.7 หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (แผ่นไม้อัดและบานประตู หน้าต่าง) ร้อยละ 9.8 และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ (หิน ทราย อิฐ และยางมะตอย) ร้อยละ 9.4 เป็นผลจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
5. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเฉลี่ยเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2551 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 สูงขึ้นร้อยละ 21.0 (มกราคม - มิถุนายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 19.4) สาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (เหล็กเส้น เหล็กตัวซี เหล็กฉาก เหล็กแผ่นเรียบดำและตะแกรงเหล็ก) ร้อยละ 53.3 หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (แผ่นไม้อัด บานประตู หน้าต่าง และวงกบ) ร้อยละ 7.0 และหมวดซีเมนต์ (ปูนซีเมนต์และปูนฉาบ) ร้อยละ 5.3 เป็นผลจากราคาวัตถุดิบและน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์