ดัชนีราคาระหว่างประเทศของไทยเดือน กรกฎาคม 2551
กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศในรูป เงินเหรียญสหรัฐ เดือนกรกฎาคม 2551 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2550 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ สูงขึ้นร้อยละ 15.9 และดัชนีราคานำเข้าของประเทศ สูงขึ้นร้อยละ 19.1
ดัชนีราคาส่งออก
1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกรกฎาคม 2551 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 0.9 (เดือนมิถุนายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 1.3) เป็นการสูงขึ้นของดัชนีในหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ร้อยละ 3.8 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ร้อยละ 1.1 และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ร้อยละ 0.3 สำหรับหมวดสินค้าเกษตรกรรม ดัชนีราคาลดลง ร้อยละ 1.3
หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 3.8 (เดือนมิถุนายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 7.1) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซปิโตรเลียม ตามภาวะตลาดโลก
หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 1.1 (เดือนมิถุนายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 0.6) จากการ สูงขึ้นของสินค้าสำคัญ คือ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (ท่อเหล็กกลม ท่อเหล็กเหลี่ยม) เคมีภัณฑ์เนื่องจากต้นทุนการผลิตและความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น เครื่องอิเลคทรอนิคส์ (แผงวงจรไฟฟ้า) สินค้าอื่นๆ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางและผลิตภัณฑ์พลาสติก
หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 0.3 (เดือนมิถุนายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 0.4) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป ผลไม้และผักกระป๋องแปรรูป
หมวดสินค้าเกษตรกรรม ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 1.3 (เดือนมิถุนายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 3.1) จากการลดลงของสินค้าสำคัญ คือ สินค้ากสิกรรม ได้แก่ ข้าว เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับประเทศผู้ส่งออกสำคัญ เช่น เวียดนามและอินเดียส่งออกข้าวมากขึ้น นอกจากนี้ ยางพารา และพืชน้ำมันมีราคาลดลงด้วย
2. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกรกฎาคม 2551 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2550 ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้น ร้อยละ 15.9 เป็นการสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า โดยหมวดสินค้าที่เพิ่มในอัตราสูงขึ้นมาก คือ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้น
ร้อยละ 62.4 และหมวดสินค้าเกษตรกรรม ร้อยละ 56.0 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ร้อยละ 18.3 สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 8.0
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา กุ้งแช่แข็ง ไก่ปรุงสุก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทรายและกากน้ำตาล อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซปิโตรเลียมเหลว
3. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเฉลี่ยในระยะ 7 เดือน (มกราคม - กรกฎาคม 2551) เทียบกับช่วงเดียวกันของ
ปี 2550 สูงขึ้นร้อยละ 11.9 สาเหตุจากการสูงขึ้นของหมวดแร่และเชื้อเพลิง ร้อยละ 49.3 (ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป) หมวดสินค้าเกษตรกรรม ร้อยละ 37.3 (ข้าวและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง) หมวดสินค้าอุตสาหกรรม
การเกษตร ร้อยละ 18.0 (อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป) และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ร้อยละ 6.0 (อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์)
ดัชนีราคานำเข้า
1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนกรกฎาคม 2551 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2551 สูงขึ้น ร้อยละ 1.6 (เดือนมิถุนายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 2.2) เป็นผลจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 4.6 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.3 และหมวดสินค้าทุนร้อยละ 0.4 ขณะที่หมวดสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 0.7 และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.1
หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 4.6 (เดือนมิถุนายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 8.5) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้นมาก คือ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียมสูงขึ้นถึงร้อยละ 11.8 เนื่องจากความต้องการใช้เพิ่มขึ้นมาก นอกจากนี้ น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปราคาสูงขึ้นตามภาวะราคาตลาดโลก
หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 1.3 (เดือนมิถุนายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 1.3) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้นมาก คือ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นรวมทั้งความต้องการใช้เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป ( เหล็กแผ่น เหล็กลวด เหล็กชุบสังกะสี) สำหรับปุ๋ยเคมีราคายังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง
หมวดสินค้าทุน ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 0.4 ( เดือนมิถุนายน 2551 ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะทำด้วยเหล็ก เลนส์สำหรับใส่กล้องจุลทรรศน์ และแผ่นดิสก์
หมวดสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.7 (เดือนมิถุนายน 2551 ลดลงร้อยละ 0.2) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง คือ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.1 (เดือนมิถุนายน 2551 ลดลงร้อยละ 0.7) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้าและผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ
2. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนกรกฎาคม 2551 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2550 ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 19.1 เป็นผลจากการสูงขึ้นของดัชนีทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นมากร้อยละ 58.2 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ร้อยละ 13.9 หมวดสินค้าทุน ร้อยละ 6.1 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ร้อยละ 5.4 และหมวดสินค้า ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ร้อยละ 3.4
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซปิโตรเลียม ปุ๋ยเคมี ครื่องเพชรพลอยและอัญมณี เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและส่วนประกอบ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด
3. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเฉลี่ย ในระยะ 7 เดือน (มกราคม - กรกฎาคม 2551) เทียบกับช่วงเดียวกันของ ปี 2550 สูงขึ้นร้อยละ 17.1 สาเหตุสำคัญจากการสูงขึ้นของหมวดสินค้าเชื้อเพลิง ร้อยละ 51.8 (น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป) หมวดวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ร้อยละ 11.7 (ปุ๋ยเคมี เพชร ข้าวสาลีและแป้งสาลี)
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์