รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ ประจำเดือน พ.ค.51

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 5, 2008 15:51 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

          กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤษภาคม 2551 โดยสรุป จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 373 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่านและการศึกษา ฯลฯ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคา ผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤษภาคม 2551
ในปี 2545 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนพฤษภาคม 2551 เท่ากับ 126.2 สำหรับเดือนเมษายน 2551 คือ 123.6
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤษภาคม 2551 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนเมษายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 2.1
2.2 เดือนพฤษภาคม 2550 สูงขึ้นร้อยละ 7.6
2.3 เฉลี่ยช่วงระยะ 5 เดือน (มกราคม - พฤษภาคม) ปี 2550 สูงขึ้นร้อยละ 5.8
3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนพฤษภาคม 2551 เทียบกับเดือนเมษายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 2.1 เป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง สาเหตุสำคัญยังคงเป็นการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้า ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายของสินค้าต่าง ๆ สูงขึ้น นอกจากนี้ ความต้องการบริโภคที่สูงขึ้นทั่วโลกส่งผลให้ข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักมีราคาสูงขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตามสินค้าประเภทเนื้อสัตว์และไข่ มีราคาลดลง
3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 2.7 ปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนอาหารประเภทต่าง ๆ สูงขึ้น เช่น ข้าวสารเจ้า ทำให้เส้นก๋วยเตี๋ยวสด ราคาสูงขึ้นมากด้วย สำหรับผักสดสูงขึ้นมากโดยเฉพาะผักใบที่ได้รับความเสียหายจากฝนตกชุก ประกอบกับค่าขนส่งสูงขึ้น นอกจากนี้ นมประเภทต่าง ๆ เครื่องประกอบอาหาร และอาหารสำเร็จรูปสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีอาหารที่มีราคาลดลง ได้แก่ เนื้อสุกร ไข่ และผลไม้
3.2 ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.7 เป็นอัตราสูงขึ้นค่อนข้างมาก สาเหตุหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตามภาวะราคาตลาดโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับสูงขึ้น บริษัทต่าง ๆ ปรับราคาขายปลีกในประเทศหลายครั้ง ทั้งน้ำมันเบนซิน และดีเซล ส่งผลให้น้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นถึงร้อยละ 9.0 นอกจากนี้เนื่องจากเป็นช่วงเปิดการศึกษาใหม่ ทำให้ดัชนีหมวดการศึกษาสูงขึ้นร้อยละ 1.1 และการอนุมัติปรับค่าโดยสารสาธารณะเฉพาะ บขส. กิโลเมตรละ 3 สตางค์ ส่งผลให้ดัชนีสูงขึ้นด้วย ส่วนสินค้าอื่น ๆ นอกจากนี้มีการปรับราคาขึ้นเล็กน้อย
4. ถ้าพิจารณาเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2550 ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 7.6 โดยสาเหตุหลักยังคงมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงส่งผลให้ทั้งหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 11.8 ได้แก่ ข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง เนื้อสัตว์ ไก่สด ไข่และผลิตภัณฑ์นม และเครื่องประกอบอาหาร เป็นต้น
หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 5.1 ปัจจัยหลักยังคงเป็นการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 31.2 เป็นสำคัญ
5. ถ้าพิจารณาเทียบดัชนีราคาเฉลี่ย 5 เดือน (มกราคม - พฤษภาคม) 2550 ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 5.8 โดยดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 8.4 สำหรับหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 4.1 สาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นเช่นกัน
6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 266 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 107 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนพฤษภาคม 2551 เท่ากับ 109.5 เมื่อเทียบกับ
6.1 เดือนเมษายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 0.7
6.2 เดือนพฤษภาคม 2550 สูงขึ้นร้อยละ 2.8
6.3 เฉลี่ยช่วงระยะ 5 เดือนแรก (มกราคม - พฤษภาคม) 2550 สูงขึ้นร้อยละ 1.9
โดยมีปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าเครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป วัสดุก่อสร้าง ค่าโดยสารสาธารณะ และค่าธรรมเนียมการศึกษา เป็นต้น
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ