กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมิถุนายน 2551 โดยสรุป จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 373 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่านและการศึกษา ฯลฯ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคา ผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมิถุนายน 2551
ในปี 2545 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนมิถุนายน 2551 เท่ากับ 127.7 สำหรับเดือนพฤษภาคม 2551 คือ 126.2
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมิถุนายน 2551 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนพฤษภาคม 2551 สูงขึ้นร้อยละ 1.2
2.2 เดือนมิถุนายน 2550 สูงขึ้นร้อยละ 8.9
2.3 เฉลี่ยช่วงระยะ 6 เดือนแรก (มกราคม - มิถุนายน) ปี 2550 สูงขึ้นร้อยละ 6.3
3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมิถุนายน 2551 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2551 สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงกว่าเดือนก่อนค่อนข้างมาก คือร้อยละ 1.2 (พฤษภาคม 2551 สูงขึ้นร้อยละ 2.1) สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาอาหารสด ได้แก่อาหารประเภทเนื้อสุกร ไก่สด ไข่ และผักสด เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาล ขณะที่สินค้าหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นตามความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับสูง ส่งผลให้ค่าโดยสารสาธารณะหลายประเภทมีราคาสูงขึ้น ถึงแม้ค่ากระแสไฟฟ้าจะปรับตัวลดลงตามค่า Ft ก็ตาม
3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.1 สาเหตุหลักมาจากการลดลงของราคาอาหารสดประเภทเนื้อสุกร ร้อยละ 1.3 ไก่สดร้อยละ 0.5 ไข่ร้อยละ 1.0 โดยเฉพาะผักสดลดลงค่อนข้างมากร้อยละ 16.1 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลผลิตของผักหลายชนิด เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักชี ผักคะน้า และมะนาว เป็นต้น สำหรับข้าวสารเจ้ามีราคาสูงขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 4.4 และเครื่องประกอบอาหาร (น้ำตาลทรายและผลิตภัณฑ์น้ำตาล) สูงขึ้นร้อยละ 2.5 อาหารสำเร็จรูปสูงขึ้นร้อยละ 2.5
3.2 ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.9 สาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก มีความผันผวนค่อนข้างมากทำให้ราคาขายปลีกในประเทศปรับราคาสูงขึ้น และลดลงหลายครั้ง แต่โดยรวมสูงขึ้นร้อยละ 10.3 ส่งผลให้ค่าโดยสารสาธารณะสูงขึ้นร้อยละ 1.1 ถึงแม้มีการปรับลดค่าธรรมเนียมรถไฟ ค่าโดยสารเครื่องบินต้นทุนต่ำ และค่ากระแสไฟฟ้า ซึ่งลดลง 6.01 สตางค์ตามค่า Ft ก็ตาม
4. ถ้าพิจารณาเทียบกับเดือนมิถุนายน 2550 ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 8.9 เป็นอัตราที่สูงขึ้นมาก ปัจจัยสำคัญจากการสูงขึ้นของดัชนีน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 44.7 ส่งผลให้ราคาสินค้าต่าง ๆ สูงขึ้น โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 11.4 ตามการสูงขึ้นของดัชนีหมวดข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งร้อยละ 35.8 เป็นสำคัญ เนื้อสุกรสูงขึ้นร้อยละ 31.6 ไข่และผลิตภัณฑ์นมสูงขึ้นร้อยละ 11.1 และเครื่องประกอบอาหาร (น้ำตาลทรายและขนมหวาน)ร้อยละ 16.1
สำหรับหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 7.2 ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ดัชนีสูงขึ้นมาก โดยมีปัจจัยหลักมาจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงค่อนข้างมากคือร้อยละ 44.7 ส่งผลให้ดัชนีหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารสูงขึ้นร้อยละ 16.8
5. ถ้าพิจารณาเทียบดัชนีราคาเฉลี่ย 6 เดือนแรก (มกราคม - มิถุนายน) 2550 สูงขึ้นร้อยละ 6.3 เป็นอัตราที่สูงกว่าระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาค่อนข้างมาก (เดือนมิถุนายน 2550 สูงขึ้นร้อยละ 2.2) โดยมีสาเหตุมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 30.4 เป็นสำคัญ
6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 266 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 107 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนมิถุนายน 2551 เท่ากับ 109.3 เมื่อเทียบกับ
6.1 เดือนพฤษภาคม 2551 สูงขึ้นร้อยละ 0.9
6.2 เดือนมิถุนายน 2550 สูงขึ้นร้อยละ 3.6
6.3 เฉลี่ยช่วงระยะ 6 เดือนแรก (มกราคม - มิถุนายน) 2550 สูงขึ้นร้อยละ 2.2
โดยมีปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าเครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป วัสดุก่อสร้าง และค่าโดยสารสาธารณะ เป็นต้น
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์