กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกรกฎาคม 2551 โดยสรุป จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 374 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่านและการศึกษา ฯลฯ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคา ผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกรกฎาคม 2551
ในปี 2545 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนกรกฎาคม 2551 เท่ากับ 128.1 สำหรับเดือนมิถุนายน 2551 คือ 127.7
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกรกฎาคม 2551 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนมิถุนายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 0.3
2.2 เดือนกรกฎาคม 2550 สูงขึ้นร้อยละ 9.2
2.3 เฉลี่ยช่วงระยะ 7 เดือนแรก (มกราคม - กรกฎาคม) ปี 2550 สูงขึ้นร้อยละ 6.6
3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกรกฎาคม 2551 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2551 สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงกว่าเดือนที่ผ่านมาค่อนข้างมาก คือร้อยละ 0.3 (มิถุนายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 1.2) สาเหตุสำคัญมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมาตรการของรัฐบาลในการลดภาษีสรรพสามิตแก๊สโซฮอล์ และ น้ำมันดีเซล ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2551 อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยยังคงมีอัตราสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา
3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.3 (เดือนมิถุนายน 2551 ลดลงร้อยละ 0.1) สาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดผลไม้สดร้อยละ 5.3 ได้แก่ เงาะ ชมพู่ ส้มเขียวหวาน และทุเรียน เป็นต้น เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูกาล นอกจากนี้ อาหารประเภทปลาและสัตว์น้ำสูงขึ้นร้อยละ 0.6 ตามต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบกับสินค้าประเภท เครื่องประกอบอาหารสูงขึ้นร้อยละ 0.9 ได้แก่ น้ำตาลทราย แยมผลไม้ ซีอิ๊ว เนยสด เป็นสำคัญ ขณะที่อาหารประเภทข้าว เนื้อสุกร ไข่ ผักสด มีแนวโน้มลดลง
3.2 ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (เดือนมิถุนายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 1.9) เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงกว่าเดือนที่ผ่านมาค่อนข้างมาก เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ในประเทศลดลงในช่วงกลางเดือนประกอบกับมาตรการของรัฐในการลดภาษีสรรพสามิตของ แก๊สโซฮอล์และน้ำมันดีเซล ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2551 ด้วย แต่โดยเฉลี่ยราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ในเดือนนี้ยังคงสูงอยู่เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาโดยดัชนีน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นร้อยละ 1.5 ส่งผลให้ค่าโดยสารสาธารณะสูงขึ้นร้อยละ 0.7
4. ถ้าพิจารณาเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2550 ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 9.2 เป็นการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญยังคงเป็นการสูงขึ้นของดัชนีน้ำมัน เชื้อเพลิงร้อยละ 46.9 ถึงแม้ในช่วงกลางเดือนนี้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะมีแนวโน้มลดลงตามราคาน้ำมันตลาดโลก และการลดภาษีสรรพสามิตแก๊สโซฮอล์และน้ำมันดีเซลก็ตาม ทำให้ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 7.6
สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 11.8 จากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งร้อยละ 33.5 เนื้อสัตว์ร้อยละ 19.2 เครื่องประกอบอาหารร้อยละ 16.3 เป็นสำคัญ
5. ถ้าพิจารณาเทียบดัชนีราคาเฉลี่ย 7 เดือนแรก (มกราคม - กรกฎาคม) 2550 สูงขึ้นร้อยละ 6.6 สาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 32.9 เป็นสำคัญโดยดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 9.3 และดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 5.1
6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 266 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 107 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกรกฎาคม 2551 เท่ากับ 109.5 เมื่อเทียบกับ
6.1 เดือนมิถุนายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 0.2
6.2 เดือนกรกฎาคม 2550 สูงขึ้นร้อยละ 3.7
6.3 เฉลี่ยช่วงระยะ 7 เดือนแรก (มกราคม - กรกฎาคม) 2550 สูงขึ้นร้อยละ 2.4
โดยมีปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าเครื่องประกอบอาหาร อาหารสำเร็จรูป วัสดุก่อสร้าง และค่าโดยสารสาธารณะ เป็นต้น
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์