ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน กุมภาพันธ์ 2551
กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหว ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2551 โดยสรุป จากการสำรวจและประมวลราคาสินค้าที่เกษตรกรและผู้ประกอบการจำหน่ายทั่วประเทศ จำนวน 506 รายการ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และนำมาคำนวณเพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี ดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนกุมภาพันธ์ 2551
ปี 2543 ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เท่ากับ 100 สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2551 เท่ากับ 150.4
2. การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2551 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนมกราคม 2551 สูงขึ้นร้อยละ 2.4
2.2 เดือนกุมภาพันธ์ 2550 สูงขึ้นร้อยละ 11.2
2.3 เฉลี่ยเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2551 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 สูงขึ้นร้อยละ 10.6
3. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2551 โดยเฉลี่ยสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ร้อยละ 2.4 ทั้งนี้จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาทุกหมวด โดยหมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 6.6 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง สูงขึ้นร้อยละ 1.2 และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.6
3.1 หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาเดือนกุมภาพันธ์ 2551 สูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนมกราคม 2551 ร้อยละ 6.6 (เดือนมกราคม 2551 สูงขึ้นร้อยละ 5.7) จากการสูงขึ้นของราคาผลผลิตการเกษตรที่สำคัญ คือ ข้าวเปลือกเจ้า ตลาดมีความต้องการอย่างต่อเนื่องทั้งการบริโภคภายในและการส่งออก ขณะที่ผลผลิตมีปริมาณไม่เพียงพอ ยางพารา เนื่องจากเข้าสู่ฤดูต้นยางผลัดใบทำให้ผลผลิตลดลง พืชผัก เช่น ผักกาดหอม ต้นหอม ผักชี โดยเฉพาะมะนาว เป็นช่วงนอกฤดูการผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย สัตว์มีชีวิต (สุกร ไก่) ปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ไข่ไก่ ราคาสูงขึ้นจากมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำ อันเนื่องมาจากผลผลิตมีปริมาณมาก โดยการเชื่อมโยงให้เกษตรกรนำไข่ไก่มาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรง
3.2 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาเดือนกุมภาพันธ์ 2551 สูงขึ้นร้อยละ 1.2 จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ เป็นสำคัญ
3.3 หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาเดือนกุมภาพันธ์ 2551 สูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนมกราคม 2551 ร้อยละ 1.6 (เดือนมกราคม 2551 สูงขึ้นร้อยละ 0.8) ส่วนใหญ่มีผลจากการสูงขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์อาหารที่สำคัญ คือ เนื้อสุกร ปริมาณออกสู่ตลาดน้อย ประกอบกับราคาสุกรมีชีวิตสูงขึ้นจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ไก่สด ความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนเนื้อสุกรที่ปรับราคาสูงขึ้น สินค้าที่มีผลจากการสูงขึ้นตามราคาตลาดโลกที่สำคัญ คือ น้ำมันเชื้อเพลิง ยางแผ่นรมควัน ส่วนสินค้าอื่น ๆ ได้แก่ น้ำมันพืช ข้าวสาร เหล็ก เครื่องประดับ และทองรูปพรรณ
4. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2551 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2550 สูงขึ้น ร้อยละ 11.2 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ร้อยละ 20.3 โดยผลผลิตการเกษตรหลายรายการมีราคาสูงขึ้น ที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า พืชไร่ (ข้าวโพด หัวมันสำปะหลังสด) พืชน้ำมัน (ผลปาล์มสด ถั่วเหลือง) ยางพารา พืชผัก (แตงกวา ผักคะน้า ผักกาดหอม ถั่วฝักยาว ต้นหอม ผักชี) สัตว์มีชีวิต (สุกร ไก่) หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.9 จากการสูงขึ้นของราคา น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติเหลว หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 9.9 จากการสูงขึ้นของราคา ผลิตภัณฑ์อาหาร (เนื้อสุกร ไก่สด น้ำมันพืช ผลิตภัณฑ์นม ข้าวสาร มันเส้น มันอัดเม็ด อาหารสัตว์สำเร็จรูป) น้ำมันเชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์ยาง (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง) เหล็กชนิดต่างๆ เครื่องประดับและทองรูปพรรณ
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์