ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน เมษายน 2551
กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหว ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนเมษายน 2551 โดยสรุป จากการสำรวจและประมวลราคาสินค้าที่เกษตรกรและผู้ประกอบการจำหน่ายทั่วประเทศ จำนวน 506 รายการ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และนำมาคำนวณเพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี ดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนเมษายน 2551
ปี 2543 ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เท่ากับ 100 สำหรับเดือนเมษายน 2551 เท่ากับ 156.9
2. การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนเมษายน 2551 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนมีนาคม 2551 สูงขึ้นร้อยละ 3.4
2.2 เดือนเมษายน 2550 สูงขึ้นร้อยละ 12.7
2.3 เฉลี่ยช่วงระยะ 4 เดือนแรก (มกราคม - เมษายน) ปี 2550 สูงขึ้นร้อยละ 11.3
3. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนเมษายน 2551 โดยเฉลี่ยสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือน ที่สี่ ร้อยละ 3.4 ทั้งนี้จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาทุกหมวด โดยหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 9.4 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ร้อยละ 0.1 และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 2.3
3.1 หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาเดือนเมษายน 2551 สูงขึ้นจากเดือนมีนาคม 2551 มากถึงร้อยละ 9.4 (เดือนมีนาคม 2551 ดัชนีราคาลดลง ร้อยละ 2.9) จากการสูงขึ้นของราคาผลผลิตการเกษตร ที่สำคัญ คือ ข้าวเปลือกเจ้าและพืชผัก โดยเฉพาะ ข้าวเปลือกเจ้านาปีและนาปรัง จากความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ขณะที่ปริมาณผลผลิตของโลกลดลง รวมทั้งประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ เช่น อินเดียและเวียดนาม ระงับการส่งออกข้าวด้วย พืชผัก หลายชนิดมีราคาสูงขึ้น เช่น แตงกวา กะหล่ำปี ผักกาดหอม ต้นหอม ผักชี จากสภาพอากาศร้อนอบอ้าว มีผลต่อการเพาะปลูก โดยเฉพาะมะนาว เป็นช่วงนอกฤดูกาลผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ไก่มีชีวิตและไข่ จากสภาพอากาศร้อนทำให้ไก่เติบโตช้า และอัตราการให้ไข่ลดลง
3.2 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาเดือนเมษายน 2551 สูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า แต่ในอัตราที่ลดลง ร้อยละ 0.1 (เดือนมีนาคม 2551 สูงขึ้นร้อยละ 1.3) จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติเหลว เป็นสำคัญ
3.3 หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาเดือนเมษายน 2551 สูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนมีนาคม 2551 ร้อยละ 2.3 (เดือนมีนาคม 2551 สูงขึ้นร้อยละ 1.7) ส่วนใหญ่มีผลจากการสูงขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์อาหาร ที่สำคัญคือ ข้าวสารและผลิตภัณฑ์จากแป้ง (เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่) ตามการสูงขึ้นของราคาข้าวเปลือก ไก่สด จากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์อื่นที่มีราคาสูง สำหรับสินค้าอื่น ๆ ที่มีราคาสูงขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง เหล็ก และ ปูนซิเมนต์
4. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนเมษายน 2551 เทียบกับเดือนเมษายน 2550 ยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง ร้อยละ 12.7 โดยหมวดผลผลิตเกษตรกรรมดัชนีสูงขึ้น ร้อยละ 15.4 จากการสูงขึ้นของราคาผลผลิตการเกษตร สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์เป็นสำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด หัวมันสำปะหลัง ผลปาล์มสด สุกร ไก่และไข่ หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาสูงขึ้นในอัตราที่ลดลงร้อยละ 1.5 (เดือนมีนาคม 2550 สูงขึ้นร้อยละ 1.7) จากการสูงขึ้นของราคา น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติเหลว (คอนเดนเสท) หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นต่อเนื่อง ร้อยละ 12.6 ส่วนใหญ่จากการสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก รวมทั้งจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เช่น ข้าวสาร แป้งข้าวเจ้า แป้งมันสำปะหลัง น้ำมันพืช นม อาหารสัตว์สำเร็จรูป น้ำมันเชื้อเพลิง ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง เหล็ก เครื่องประดับ และทองรูปพรรณ
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์