รายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ประจำเดือน มิ.ย.2551 และระยะ 6 เดือนแรกของปี 2551

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 7, 2008 16:00 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

          กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหว ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมิถุนายน 2551 โดยสรุป จากการสำรวจและประมวลราคาสินค้าที่เกษตรกรและผู้ประกอบการจำหน่ายทั่วประเทศ จำนวน 506 รายการ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และนำมาคำนวณเพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี ดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิถุนายน 2551
ปี 2543 ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เท่ากับ 100 สำหรับเดือนมิถุนายน 2551 เท่ากับ 168.0
2. การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมิถุนายน 2551 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนพฤษภาคม 2551 สูงขึ้นร้อยละ 2.4
2.2 เดือนมิถุนายน 2550 สูงขึ้นร้อยละ 18.6
2.3 เฉลี่ยเดือน มกราคม - มิถุนายน 2551 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 สูงขึ้นร้อยละ 13.3
3. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมิถุนายน 2551 โดยเฉลี่ยยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ลดลง คือ ร้อยละ 2.4 (เดือนพฤษภาคม สูงขึ้น ร้อยละ 4.5)ทั้งนี้จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 2.3 และ3.3 ตามลำดับ ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 1.0
3.1 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาเดือนมิถุนายน 2551 สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่ ร้อยละ 2.3 (เดือนพฤษภาคม 2551 สูงขึ้นร้อยละ 2.1) จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ เป็นสำคัญ
3.2 หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาเดือนมิถุนายน 2551 สูงขึ้นต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ลดลง คือ ร้อยละ 3.3 (เดือนพฤษภาคม 2551 สูงขึ้นร้อยละ 3.9) ส่วนใหญ่มีผลจากการสูงขึ้นของราคาตลาดโลก ที่สำคัญได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง เม็ดพลาสติก ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง เหล็กประเภทต่างๆ (เหล็กเส้น เหล็กแท่ง เหล็กฉาก และเหล็กรูปตัวซี) เครื่องประดับ และทองรูปพรรณ
3.3 หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาเดือนมิถุนายน 2551 ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2551 ร้อยละ 1.0 (เดือนพฤษภาคม 2551 สูงขึ้นร้อยละ 7.5) จากการลดลงของราคาผลผลิตการเกษตร ซึ่งมีผลจากภาวะการค้าที่ชะลอตัว ที่สำคัญ คือ ข้าวเปลือกเจ้า เนื่องจากมีฝนตกในแหล่งผลิต ข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวมีความชื้นเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศชะลอลง เพื่อรอดูสถานการณ์การผลิตฤดูใหม่ โดยคาดว่าผลผลิตในประเทศเวียดนามจะเพิ่มขึ้น สัตว์มีชีวิต ได้แก่ สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิต ส่วนหนึ่งมีผลจากภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ผู้บริโภคจึงหันไปบริโภคโปรตีนอื่นที่มีราคาต่ำกว่า ไข่ไก่ จากการที่ผู้ผลิตบางรายได้ทยอยสต๊อกออกสู่ตลาด สินค้าอื่น ได้แก่ ปลานิล ปลาสีกุน และกุ้งกุลาดำ
4. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมิถุนายน 2551 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2550 สูงขึ้น ร้อยละ 18.6 โดยหมวดผลผลิตเกษตรกรรมดัชนีสูงขึ้น ร้อยละ 12.7 จากการสูงขึ้นของราคาผลผลิตการเกษตร สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์เป็นสำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด หัวมันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ผลปาล์มสด และยางพารา สัตว์มีชีวิต ได้แก่ สุกร ไก่ ส่วนสินค้าอื่น ๆ ได้แก่ ไข่ไก่ ไข่เป็ด หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 5.3 จากการสูงขึ้นของราคา น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ เป็นสำคัญ หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้น ร้อยละ 20.3 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้า เนื้อสุกร ไก่สด น้ำมันพืช นม ข้าวสาร แป้งข้าวเจ้า อาหารสัตว์สำเร็จรูป น้ำตาล เส้นก๋วยเตี๋ยว น้ำมันเชื้อเพลิง ปุ๋ยเคมี เม็ดพลาสติก ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง กระสอบพลาสติก เหล็ก เครื่องประดับ และทองรูปพรรณ
5. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศในระยะ 6 เดือนแรกของปี 2551 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2550 สูงขึ้นร้อยละ 13.3 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคา หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ร้อยละ 15.1 จากการสูงขึ้นของราคา ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพด หัวมันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ผลปาล์มน้ำมัน ยางพารา สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิต และ ไข่ หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 2.0 จากการสูงขึ้นของราคา น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติเหลว (คอนเดนเสท) เป็นสำคัญ หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้น ร้อยละ 13.3 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาเกือบทุกกลุ่ม โดยกลุ่มสินค้าที่ดัชนีราคาสูงขึ้นมาก คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ร้อยละ 45.4 กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ ร้อยละ 20.4 กลุ่มสินค้าที่ดัชนีราคาลดลง คือ กลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ สำหรับกลุ่มยานพาหนะและอุปกรณ์ ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ