รายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ประจำเดือน ก.ย.2551

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 3, 2008 12:48 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน กันยายน 2551 และเฉลี่ยระยะ 9 เดือนของปี 2551
กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหว ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกันยายน 2551 โดยสรุป จากการสำรวจและประมวลราคาสินค้าที่เกษตรกรและผู้ประกอบการจำหน่ายทั่วประเทศ จำนวน 506 รายการ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และนำมาคำนวณเพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี ดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนกันยายน 2551
ปี 2543 ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เท่ากับ 100 สำหรับเดือนกันยายน 2551 เท่ากับ 164.4
2. การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกันยายน 2551 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนสิงหาคม 2551 ลดลงร้อยละ 1.1
2.2 เดือนกันยายน 2550 สูงขึ้นร้อยละ 19.0
2.3 เฉลี่ยเดือน มกราคม - กันยายน 2551 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 สูงขึ้นร้อยละ 15.8
3. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกันยายน 2551 โดยเฉลี่ยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือน ที่สอง ร้อยละ 1.1 (เดือนสิงหาคม 2551 ลดลง ร้อยละ 2.2) ทั้งนี้จากการลดลงของดัชนีราคา หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 2.8 และ 1.7 ตามลำดับ สำหรับหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้น ร้อยละ 1.6
3.1 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาเดือนกันยายน 2551 ลดลง ร้อยละ 2.8 (เดือนสิงหาคม 2551 ลดลงร้อยละ 4.9) ทั้งนี้จากการลดลงของราคาน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว (คอนเดนเสท) แร่ดีบุก และ แร่ตะกั่ว เป็นสำคัญ
3.2 หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาเดือนกันยายน 2551 ลดลง ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ร้อยละ 1.7 (เดือนสิงหาคม 2551 ลดลงร้อยละ 3.2) สินค้าส่วนใหญ่ปรับราคาลดลงตามการลดลงของราคาตลาดโลกจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว สินค้าสำคัญได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง เหล็กประเภทต่าง ๆ (เหล็กแท่ง เหล็กแผ่น เหล็กเส้น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ) เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยางพารา และทองรูปพรรณ
3.3 หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาเดือนกันยายน 2551 สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม ร้อยละ 1.6 (เดือนสิงหาคม 2551 สูงขึ้นร้อยละ 2.4) จากภาวะน้ำท่วมในแหล่งผลิตสำคัญต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อผลผลิตด้านการเกษตร โดยเฉพาะ พืชผัก (มะนาว แตงกวา กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกาดหอม ถั่วฝักยาว ผักชี) ทำให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อยราคาจึงปรับตัวสูงขึ้น ส่วนสินค้าสำคัญอื่น ๆ ที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ไข่ไก่ ปลาและสัตว์น้ำ (ปลาสำลี ปลาโอ กุ้งทะเล)
4. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกันยายน 2551 เทียบกับเดือนกันยายน 2550 สูงขึ้น ร้อยละ 19.0 โดยหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้น ร้อยละ 44.2 จากการสูงขึ้นของราคาผลผลิตการเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ถั่วเหลือง ถั่วลิสง มะพร้าวผลแก่ ยางพารา พืชผัก (หอมแดง มะนาว แตงกวา กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกาดหอม ถั่วฝักยาว ต้นหอม ผักชี) ผลไม้ (มะม่วง ส้มเขียวหวาน ทุเรียน ลำไย) สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ (สุกร ไก่ ไข่ไก่ ไข่เป็ด) หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้น ร้อยละ 15.1 จากการสูงขึ้นของราคา ผลิตภัณฑ์อาหาร (เนื้อสุกร ไก่สด น้ำมันพืช นม ข้าวสาร แป้งข้าวเจ้า อาหารสัตว์สำเร็จรูป) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก (ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง บรรจุภัณฑ์พลาสติก) ผลิตภัณฑ์เคมี (ปุ๋ยเคมี เม็ดพลาสติก) เหล็ก และทองรูปพรรณ หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาลดลง ร้อยละ 0.7 จากการลดลงของราคาน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว แร่ตะกั่ว และแร่สังกะสี เป็นสำคัญ
5. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศในระยะ 9 เดือนของปี 2551 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2550 สูงขึ้น ร้อยละ 15.8 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคา หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ร้อยละ 21.6 สินค้าที่ราคาสูงขึ้นได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด หัวมันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ผลปาล์มน้ำมัน ยางพารา สุกรมีชีวิต ไก่มีชีวิต และไข่ หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาสูงขึ้น ร้อยละ 2.2 จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติเหลว คอนเดนเสท) เป็นสำคัญ หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้น ร้อยละ 15.0 จาการสูงขึ้นของดัชนีราคาทุกกลุ่ม โดยกลุ่มสินค้าที่ดัชนีราคาสูงขึ้นมาก คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ร้อยละ 48.6 กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ ร้อยละ 21.0
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ