รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ ประจำเดือน ธ.ค.2551

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 6, 2009 16:42 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนธันวาคม 2551 และปี 2551 โดยสรุป

จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 374 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่านและการศึกษา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนธันวาคม 2551

ในปี 2545 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนธันวาคม 2551 เท่ากับ 119.5 (เดือน พฤศจิกายน 2551 คือ 121.5)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนธันวาคม 2551 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนพฤศจิกายน 2551 ลดลงร้อยละ 1.6

2.2 เดือนธันวาคม 2550 สูงขึ้นร้อยละ 0.4

2.3 เฉลี่ยทั้งปี 2551 เทียบกับเฉลี่ยทั้งปี 2550 สูงขึ้นร้อยละ 5.5

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนธันวาคม 2551 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2551 ลดลงร้อยละ 1.6 เป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ในอัตรามากกว่าเดือนก่อนหน้า ( เดือนพฤศจิกายน 2551 ลดลงร้อยละ 1.2) สาเหตุสำคัญยังคงเป็นผลจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายภายในประเทศโดยเฉลี่ยปรับตัวลดลงตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากราคาอาหารสดที่มีราคาลดลงประเภท ผักและผลไม้ เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นลงทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร และเครื่องประกอบอาหาร ในขณะที่สินค้าประเภทไข่และผลิตภัณฑ์นม และปลาและสัตว์น้ำมีราคาสูงขึ้น

3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 1.5 (เดือนพฤศจิกายน 2551 สูงขึ้นร้อยละ 1.0 ) เป็นอัตราที่ลดลงค่อนข้างมาก ปัจจัยหลักมาจากการลดลงของราคาผักและผลไม้ ร้อยละ 6.3 ได้แก่ ผักชี ผักคะน้า ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว ต้นหอม ขึ้นฉ่าย ส้มเขียวหวาน มะละกอสุก แตงโมและสับปะรด เป็นผลจากสภาพอากาศที่เย็นลงเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้ผักสดและผลไม้บางชนิดออกสู่ตลาดมาก เครื่องประกอบอาหารร้อยละ 1.1 (โดยเฉพาะน้ำมันพืช เนื่องจากมาตรการของกรมการค้าภายในขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตปรับราคาลดลงตามต้นทุนวัตถุดิบที่แท้จริง ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2551 ) ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 0.5 (ข้าวสารเจ้าและข้าวสารเหนียว) และเนื้อสุกร ร้อยละ 0.6 สำหรับหมวดสินค้าที่มีราคาสูงขึ้นได้แก่ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 0.8 ( ไข่ไก่ นมสด นมเปรี้ยวและนมข้นหวาน) ปลาและสัตว์น้ำ ร้อยละ 0.6 และผลไม้บางชนิด เช่น เงาะ ทุเรียน และองุ่น เป็นต้น

3.2 ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงในอัตราชะลอตัว ร้อยละ 1.9 ( เดือนพฤศจิกายน 2551 ลดลงร้อยละ 2.9 ) ปัจจัยหลักยังคงเป็นผลจากการลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่จำหน่ายภายในประเทศโดยเฉลี่ย ลดลงร้อยละ 13.6 นอกจากนี้เป็นการลดลงของค่าโดยสารรถประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและค่าโดยสารรถประจำทางปรับอากาศชั้น 1 และ 2 ในต่างจังหวัด ที่ได้มีการปรับลดลง ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2551 ค่าโดยสารรถเมล์เล็ก และค่าโดยสารเครื่องบิน ส่งผลให้ดัชนีหมวดค่าโดยสาธารณะปรับ ลดลงร้อยละ 0.9 รวมทั้งการปรับลดลงของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ร้อยละ 0.5 เช่น ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน และราคาวัสดุก่อสร้าง คือปูนซีเมนต์ ร้อยละ 1.7 สำหรับหมวดสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ของใช้ส่วนบุคคล ร้อยละ 0.4 ประกอบด้วย สบู่ถูตัว ยาสีฟัน แชมพูสระผม ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว ครีมนวดผมและวารสารรายปักษ์ ร้อยละ 3.3

4. ถ้าพิจารณาเทียบกับเดือนธันวาคม 2550 ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.4 สาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น ร้อยละ 13.9 ซึ่งเป็นผลจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวด ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 23.6 ผักและผลไม้ร้อยละ 21.9 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 12.6 เครื่องประกอบอาหารร้อยละ11.5 อาหารสำเร็จรูป ร้อยละ 10.3 ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 9.6 และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 4.7 ในขณะที่ดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 8.0 โดยเป็นผลจากการลดลงของดัชนีหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 13.9 และหมวดเคหสถาน ร้อยละ 7.9 ขณะที่ดัชนีหมวดที่สูงขึ้น ได้แก่ การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 1.8 ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.3 และ การบันเทิงการอ่านและการศึกษา ร้อยละ 0.9

5. ถ้าพิจารณาดัชนีราคาเฉลี่ยทั้งปี 2551 เทียบกับปี 2550 สูงขึ้นร้อยละ 5.5 นับเป็นอัตราที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (ปี 2550 สูงขึ้นร้อยละ 2.3) ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศมีราคาสูงตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการปรับอัตราค่าโดยสารสาธารณะและต้นทุนของสินค้าและบริการต่าง ๆ สำหรับช่วงครึ่งปีหลังเนื่องจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของหลายประเทศลดลง ประกอบกับที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศมีราคาลดลง ประกอบกับรัฐบาลได้ใช้มาตรการ 6 มาตรการ 6 เดือน เพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 เป็นต้นมา ซึ่งส่งผลให้ดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว ร้อยละ 1.7

สำหรับสินค้าประเภทอาหารสดและเครื่องดื่ม ราคาอาหารสดมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกตามต้นทุนที่สูงขึ้น สำหรับช่วงครึ่งปีหลังราคามีแนวโน้มปรับตัวลดลง เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวเหนียว และเครื่องประกอบอาหาร ( น้ำมันพืช) ส่งผลให้ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ11.6

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 266 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 108 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนธันวาคม 2551 เท่ากับ 108.2 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนพฤศจิกายน 2551 ลดลงร้อยละ 0.1

6.2 เดือนธันวาคม 2550 สูงขึ้นร้อยละ 1.8

6.3 เฉลี่ยทั้งปี 2551 เทียบกับเฉลี่ยทั้งปี 2550 สูงขึ้นร้อยละ 2.4

โดยดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือนธันวาคม 2551 เมื่อเทียบกับเดือน พฤศจิกายน 2551 ลดลงร้อยละ 0.1 ปัจจัยสำคัญมาจากการลดลงของค่าโดยสารสาธารณะ เครื่องประกอบอาหาร และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับทำความสะอาด

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ