รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ ประจำเดือน ก.พ.2552

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 3, 2009 16:55 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2552 โดยสรุปจากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 417 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่านและการศึกษา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้

1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2552

ในปี 2550 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เท่ากับ 103.1 (เดือน มกราคม 2552 คือ 102.1)

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เมื่อเทียบกับ

2.1 เดือนมกราคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 1.0

2.2 เดือนกุมภาพันธ์ 2551 ลดลงร้อยละ 0.1

2.3 เฉลี่ยช่วงระยะเดียวกัน ( มกราคม - กุมภาพันธ์ ) ปี 2551

ลดลงร้อยละ 0.3

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เทียบกับเดือนมกราคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 1.0 ( มกราคม 2552 ดัชนีโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง)) สาเหตุสำคัญมาจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศโดยเฉลี่ยมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 รัฐฯ ได้มีการปรับมาตรการ 6 มาตรการ 6 เดือน สำหรับค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปาใหม่ลดการอุดหนุนลง ส่งผลให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากมาตรการเดิม รวมทั้งราคาอาหารสดประเภท เนื้อสัตว์ ปลาและสัตว์น้ำ ผลไม้สด และเครื่องปรุงอาหารมีราคาสูงขึ้น ในขณะที่สินค้าประเภทอาหารบางรายการมีราคาลดลง คือ ผักสด ข้าวสารเจ้า และไข่ เป็นต้น

3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.3 เป็นอัตราที่ลดลงเท่ากับเดือนก่อนหน้า ( เดือนมกราคม 2552 ลดลงร้อยละ 0.3 ) ปัจจัยสำคัญมาจากการลดลงของราคาผักสด ร้อยละ 13.9 ได้แก่ ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักบุ้ง ผักชี กะหล่ำปลี แตงกวา มะนาวและพริกสด เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ยังคงมีสภาพสมบูรณ์ ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ข้าวสารเจ้า ร้อยละ 0.1 และไข่ไก่ ร้อยละ 2.5 สำหรับสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น คือ เนื้อสุกร ร้อยละ 2.2 ปลาและสัตว์น้ำ ร้อยละ 0.4 ผลไม้ ร้อยละ 2.5 ( กล้วยน้ำว้า ส้มเขียวหวาน ส้มโอ องุ่นและแตงโม ) เครื่องปรุงอาหาร ร้อยละ 0.3 ( น้ำมันพืช และซอสหอยนางรม )

3.2 ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.8 เป็นอัตราที่สูงมากกว่าเดือนก่อนหน้า ( เดือนมกราคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.1 ) ปัจจัยสำคัญจากการสูงขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยภายในประเทศ ร้อยละ 12.0 รวมทั้งรัฐฯ ได้มีการปรับมาตรการ 6 มาตรการ 6 เดือน สำหรับค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปาใหม่ ทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากมาตรการเดิม ส่งผลให้ดัชนีราคาค่ากระไฟฟ้า สูงขึ้นร้อยละ12.9 และค่าน้ำประปา ร้อยละ 66.8 ตามลำดับ ในขณะที่สินค้าบางชนิดปรับราคาลดลง ได้แก่ ผงซักฟอก น้ำยารีดผ้า สบู่ถูตัว แชมพูสระผม แปรงสีฟัน เป็นต้น

4. ถ้าพิจารณาดัชนีเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ลดลงร้อยละ 0.1 เป็นผลจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 12.3 ( น้ำมันเชื้อเพลิงและค่าโดยสารสาธารณะ) และหมวดเคหสถาน ร้อยละ 5.1 ( ค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ) สำหรับ ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น ร้อยละ 9.1 ( ข้าว เนื้อสัตว์ ปลาและสัตว์น้ำ ไข่ ผักและผลไม้ เครื่องประกอบอาหาร ) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ร้อยละ 1.5 ( ค่ายาและเวชภัณฑ์และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ) หมวดบันเทิง การอ่านและการศึกษา ร้อยละ 0.8 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.6

5. ถ้าพิจารณาดัชนีเฉลี่ยเทียบกับช่วงระยะเดียวกัน (มกราคม - กุมภาพันธ์ ) ปี 2551 ลดลงร้อยละ 0.3 สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 28.2 ค่ากระไฟฟ้า ร้อยละ 28.5 และค่าน้ำประปา ร้อยละ 48.2 เป็นสำคัญ โดยดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 10.4 และดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 7.1

6. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 300 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 117 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เท่ากับ 102.8 เมื่อเทียบกับ

6.1 เดือนมกราคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.4

6.2 เดือนกุมภาพันธ์ 2551 สูงขึ้นร้อยละ 1.8

6.3 เฉลี่ยช่วงระยะเดียวกัน ( มกราคม- กุมภาพันธ์ ) ปี 2551

สูงขึ้นร้อยละ 1.7

โดยดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือนกุมภาพันธ์ 2552 เมื่อเทียบกับเดือน มกราคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ปัจจัยสำคัญมาจากการสูงขึ้นของค่าน้ำประปา เครื่องประกอบอาหารและอาหารสำเร็จรูป

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ